• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

 

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ” ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ 

พอได้ยินหมอพูดว่าผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก บางท่านอาจคิดว่าผู้ป่วยในคงเป็นผู้ป่วยประเภทเด็กเส้น หรือผู้ป่วยที่เป็นญาติพ่อแม่พี่น้องของคนในโรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยนอกคงเป็นผู้ป่วยไม่มีเส้นสาย (รอไปเถอะ) หรือผู้ป่วยเป็นชาวต่างประเทศ
ไม่ใช่ทั้งนั้นแหละครับ ...เรามาดูกันให้ชัด ๆ ว่าผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอกหมายถึงอะไร

ผู้ป่วยใน (คนไข้ในก็เรียก) หมายถึงผู้ป่วยที่รับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล จะพักอยู่ตามหัองผู้ป่วย (วอร์ด) ต่าง ๆ ภาษาอังกฤษเรียกว่า In-patient (In แปลว่า ใน patient แปลว่า ผู้ป่วย)

ผู้ป่วยนอก (คนไข้นอกก็เรียก) ภาษาอังกฤษเรียกว่า Out-patient (out แปลว่า นอก patient แปลว่า ผู้ป่วย) หมายถึงผู้ป่วยที่มารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาล หมอตรวจรักษาเสร็จก็ให้ยากลับไปกินที่บ้าน ไม่ได้รับตัวไว้รักษาในห้องผู้ป่วย (วอร์ด) เรียกให้เข้าง่ายก็คือ “ผู้ป่วยที่ไปกลับ” หรือจะเรียก “ผู้ป่วยเช้าไป เย็นกลับ”ก็ได้เพราะผู้ป่วยจำนวนมากที่มาตรวจที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆจะต้องตื่นแต่เช้ามืดมารอคิวบัตรตั้งแต่ตี 4 ตี 5 เสร็จแล้วรอหมอตรวจ 2-3 ชั่วโมง (ได้เจอหมอเพียง 5-10 นาที) แล้วรอซื้อยาอีก 2 – 3 ชั่วโมง กลับถึงบ้างก็เย็นพอดี หรือจะเรียก “ผู้ป่วยเทียวไล้เทียวขื่อ” (ไปๆมาๆ )ก็ได้ เพราะผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ต้องรักษากันนาน ๆ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หมอจะนัดตรวจทุก 2-3 เดือน บางครั้งก่อนถึงวันนัดตรวจต้องมาเจาะเลือด อีกวันหนึ่งก่อน (ในการนัดตรวจ 1 ครั้ง ต้องเกินทางมาโรงพยาบาล 2 เที่ยว)

ถ้าจะให้สะดวกและประหยัดจริง ๆ ในการเจ็บป่วยไม่มาก ไปเป็นผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลเล็ก ๆ ใกล้บ้าน (โรงพยาบาลอำเภอ หรือศูนย์สาธารณสุข) จะได้รับความสะดวกและความเป็นกันเองจากหมอ มากกว่ามาที่โรงพยาบาลใหญ่ ๆ
 

 

 

ข้อมูลสื่อ

65-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 65
กันยายน 2527
พูดจาภาษาหมอ