• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตามัว (ตอนที่ 2)



1. มีความผิดปกติที่ตรวจเห็นได้ชัด
สาเหตุแห่งตามัวอันนี้อาจแบ่งย่อยออกเป็น 2 ลักษณะที่มาได้อีก คือ
ก. เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด (Congenital)
ข. เป็นขึ้นภายหลัง (acquired)

ก. เป็นความผิดปกติแต่กำเนิด
มีได้หลายอย่างดังจะยกตัวอย่างได้ทราบ เพราะบางคนอาจจะมีความผิดปกติตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือ
พร้อมกันทั้ง 2 ข้าง ตั้งแต่แรกเกิด จนกระทั่งโตเป็นหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ จนถึงคนแก่ สิ่งเหล่านั้นก็ติดตัวเองมาตลอด ได้แก่

- สาเหตุจากกระจกตาดำ (corned) ตาดำเป็นผ้าขาวมีแผลเป็น กระจกตาดำมีความหนาไม่สม่ำเสมอ
ตาดำโค้งผิดปกติอาจเป็นรูปกรวยแหลม มองดูเผิน ๆ ดูไม่ออกต้องตรวจด้วยวิธีพิเศษหรือเครื่องมือพิเศษจึงจะเห็นความผิดปกติอันนี้ ยิ่งโตขึ้น เข้าวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ อาการจะแสดงออกชัดมากคือตามัว วัดแว่นตาไม่สามารถประกอบแว่นได้ดี หรือกระจกตาดำเล็กผิดปกติ หรือโตเกินไปได้แก่พวกต้อหินแต่กำเนิด

- สาเหตุจากม่านตาและหรือรูม่านตา (Iris and Pupil) รูม่านตาอาจตีบแคบเหมือนรูเข็มมีการติดรั้งเป็นเส้นเป็นใยบริเวณรูม่านตาเหมือนมีม่านมาขวางทางแสงที่ผ่านเข้ารูม่านตา หรืออีกประเภทตรงข้ามไปเลยคือ ไม่มีม่านตา พวกเหล่านี้เมื่อโตขึ้นมา สายตาจะผิดปกติ การเห็นไม่ชัดเจนตามมาตรฐาน

- สาเหตุจากเลนส์ตา (Lens) ได้แก่ การมีต้อกระจกชนิดแต่กำเนิด จะมีสาเหตุมาจากอะไรก็ตามที เมื่อคลอดออกมาพบว่าเลนส์ตาไม่ใสเริ่มมีต้อกระจกเห็นเป็นจุดขาว ๆ เล็ก ๆ หรือขาวทั้งเลนส์ตาก็ได้ ถ้าเป็นต้อกระจกชนิดหัดเยอรมันจะขาวโพลนออกมาพร้อมการคลอดเลย ถ้าชนิดอื่นอาจเริ่มเป็นจุดเล็ก ๆ ค่อย ๆ เจริญขยายวงกว้างออกไปเมื่อโตขึ้น ภาวะเลนส์ตาขาวขุ่นจะทวีมากเมื่อวันเวลาผ่านไป ในบางรายตรวจพบเอาเมื่อเด็กโตเป็นหนุ่มสาว หรือเป็นผู้ใหญ่วัยเริ่มต้น (อายุ 20 ถึง 40 ปี)
 
-สาเหตุจากน้ำวุ้นลูกตา (Vitreous) น้ำวุ้นลูกตาซึ่งเป็นส่วนของลูกตาที่มีลักษณะเป็นวุ้นใสบรรจุภายในลูกตาเกือบเต็มนับจากด้านหลังเลนส์ตาไปมีลักษณะใสแจ๋ว บางคนมีความผิดปกติมาแต่กำเนิด อาจพบว่าขาวขุ่นได้ ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นต้อกระจกแรกเกิด
ภาวะผิดปกติของวุ้นลูกตาขุ่นนี้ แก้ไขค่อนข้างยาก มักจะตาเสีย กล่าวง่าย ๆ ก็หมายถึงว่าโตขึ้นมาตาก็บอดนั่นแหละ มิทันได้มัวหรือพร่าข้ามขั้นไปบอดเลย

- สาเหตุมาจากประสาทตา (Optic Nerve) ประสาทตาอาจจะพิการ คือฝ่อขาวซีดมาแต่แรกเกิด พวกนี้อาจต้องค้นหาสาเหตุว่ามีความผิดปกติของสมองด้วยหรือไม่ เด็กสมประกอบหรือเปล่า?

- สาเหตุจากจอรับภาพในลูกตา (Retina) มีได้มากมายหลายอย่าง ที่พบเสมอขอกล่าวไว้ให้ทราบคือโรคเซลล์ประสาทตาชนิดมีสี (Pigmented cell) มีสภาพเสื่อม คนพวกนี้เมื่อยังเล็กอยู่จะไม่แสดงอาการตามัว ครั้นอายุเข้าวัยหนุ่มสาว หรือเริ่มเป็นผู้ใหญ่บรรลุนิติภาวะตาจะมัว ที่น่าสังเกตคือเมื่อมีแสงสลัวหรือค่อนข้างมืด ตาจะมัวพร่ามากขึ้นมองวัตถุแทบไม่เห็น มีชื่อว่าโรคเรติไนติสปิกเมนต์โตซ่า (Retinitis Pigmentosa) ตาจะมัวลงทีละน้อยตามวันเวลาที่ผ่านไป ถ้าไม่ตรวจด้วยวิธีพิเศษจะไม่ทราบว่าเป็นโรคนี้

คนไข้ที่เป็นโรคนี้เมื่อมีอาการจะไปร้านแว่นตาก่อน คิดว่าตนเองมีความผิดปกติทางสายตา ขอประกอบแว่น การวัดแว่นหรือพยายามใส่แว่นจะไม่ได้ผล เพราะความผิดปกติไม่อยู่ที่ภาวะสายตาสั้นหรือยาวหรือเอียง แต่เป็นที่ตัวเซลล์ประสาทตาเสื่อม การรักษาค่อนข้างยาก มักจะมืดลง ๆ จนมองแทบไม่เห็น
นอกจากโรคที่จอประสาทตาดังกล่าว อาจพบภาวะอื่น ๆ ได้อีกหลายอย่างไม่ขอนำมากล่าว เพราะกล่าวไปก็คงไร้ประโยชน์ต่อท่านผู้อ่าน เนื่องจากศัพท์แสงภาษาของหมอตามากมายจนอ่านไม่รู้เรื่อง


ทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วเป็นภาวะที่นำมาซึ่งตามัวได้ตั้งแต่แรกเกิด หรือแต่กำเนิด ทั้งนี้อาจจะไม่เห็นมาตั้งแต่อุแว้ เรื่อยไปจากมัวทีละน้อย ๆ จนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ การที่จะทราบว่าตนเองตาพร่ามัวหรือเปล่า ควรไปตรวจวัดสายตาดูก่อน แล้วจึงจะตรวจขั้นต่อไปได้ว่าต้นเหตุอยู่ตรงจุดไหน เป็นตั้งแต่เมื่อไร ควรจะดำเนินการแก้รักษาอย่างไรต่อไปได้ ขึ้นชื่อว่าผิดปกติแต่กำเนิดแล้ว การแก้ขอเรียนให้ทราบตามตรงว่า...ค่อนข้างยาก
 

ข้อมูลสื่อ

109-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์