• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แม่จ๋า…อย่าเขย่าหนูแรงนะจ๊ะ



พ่อและแม่ส่วนใหญ่มักไม่รู้หรอกว่า การเขย่าตัวลูกเล็ก ๆ นั้นเป็นอันตรายได้ จากสถิติทารกที่ได้รับการรักษาจากกลุ่มที่ป่วยจากการถูกเขย่า ประมาณ 1 ใน 3 ต้องเสียชีวิตไป 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และร้อยละ 30-40 ของที่เหลือรักษาให้หายเป็นปกติไม่ได้ เป็นเหตุให้กลายเป็นเด็กพิการโดยถาวร

แพทย์เตือนการจับลูกเล็ก ๆ เขย่าด้วยอารมณ์โมโห อาจทำให้สมองกระทบกระเทือนโดยถาวรได้ แพทย์หญิงลูซินดา ไดคส์ กุมารแพทย์แห่งโรงพยาบาลและคลินิกของมหาวิทยาลัยวิสคอนซินได้ค้นพบว่า การที่แม่หรือพ่อเขย่าตัวลูกในวัยทารกเพื่อหวังจะให้ลูกหยุดร้องไห้ โยเยนั้น อาจจะทำให้สมองของลูกได้รับอันตรายโดยไม่ตั้งใจได้ โดยได้พบว่ากลุ่มอาการบาดเจ็บในเด็กที่ถูกแม่เขย่านั้น มีความเกี่ยวข้องกับการกระทบกระเทือนของสมองโดยถาวร และในกรณีที่ร้ายแรงจริง ๆ อาจทำให้เด็กเสียชีวิตได้ อาการบาดเจ็บในลักษณะนี้ส่วนใหญ่จะเกิดกับเด็กในวัยต่ำกว่า 2 ขวบลงไป
คุณหมอไดคส์ กล่าวว่า “แม่และพ่อส่วนใหญ่มักไม่รู้หรอกค่ะว่าการเขย่าตัวลูกเล็ก ๆ นั้นเป็นอันตรายได้” คุณหมอมีสถิติมายืนยันว่าทารกที่ได้รับการรักษาจากกลุ่มอาการที่ป่วยจากการถูกเขย่าจำนวนประมาณ 1 ใน 3 ทีเดียวที่ต้องเสียไป อีก 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ และร้อยละ 30-40 ของที่เหลือรักษาให้หายเป็นไม่ได้ เป็นเหตุให้กลายเป็นเด็กพิการโดยถาวร อย่างเช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมองใหญ่ เป็นต้น

แม่หรือพ่อควรจะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า การเขย่าตัวลูกเล็ก ๆ เวลาแกร้องไห้โดยหวังจะให้แกกลัวนั้น เป็นการทำให้ลูกบาดเจ็บ การบาดเจ็บจากการเขย่านี้อาจจะรุนแรงไม่น้อยไปกว่าการทุบตี ข้อแตกต่างอยู่ที่ว่า การทุบตีทำให้เกิดการบาดเจ็บเป็นรอยฟกซ้ำดำเขียวที่มองไม่เห็นได้ แต่การเขย่าจะทำให้อวัยวะภายในได้รับบาดเจ็บ ซึ่งมองไม่เห็น หากแม่หรือพ่อสังเกตพบว่าลูกมีอาการง่วงเหงา ชอบนอน หงุดหงิด อาเจียน และไม่อยากอาหาร ก็ขอให้สันนิษฐานว่า อาจจะเป็นอาการที่สมองได้รับความกระทบกระเทือน ซึ่งเป็นเบาะแสให้รู้ว่าคงจะมีอะไรผิดปกติเกิดขึ้นกับลูกแล้ว จึงสมควรที่จะพาลูกไปพบหมอโดยเร็ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ลูกต้องกลายเป็นเด็กพิการ หรือประสบอันตรายใด ๆ ที่จะร้ายแรงยิ่งขึ้น

คุณหมอไดคส์อธิบายว่า การบาดเจ็บทางสมองของเด็กเกิดขึ้น เนื่องจากเมื่อเด็กถูกจับแขน หรือจับหัวไหล่แล้วเขย่านั้น หัวของเด็กย่อมสั่นไปข้างหลังและมาข้างหน้าอยู่ตลอดเวลา สำหรับเด็กเล็ก ๆ วัยต่ำกว่า 2 ขวบนั้น กล้ามเนื้อที่คอของเด็กยังอ่อนอยู่ ไม่สามารถค้ำจุนส่วนของหัวให้ตั้งอย่างมั่นคงได้ นอกจากนี้เด็กในวัยนี้จะมีกะโหลกศีรษะที่มีขนาดใหญ่ เป็นเหตุให้ส่วนของสมองภายในกะโหลกศีรษะมีเนื้อที่สำหรับการถูกเขย่าไปมาได้มาก และส่วนที่จะป้องกันอันตรายจากการบาดเจ็บทางสมองมีน้อยลง

คุณหมอไดคส์อธิบายสภาพที่สมองถูกเขย่าว่า “ขณะที่สมองถูกเขย่าให้เคลื่อนไปมาอยู่ภายในกะโหลกศีรษะนั้น เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงระหว่างสมองกับกะโหลกศีรษะจะยืดตัวออก และเกิดการฉีกขาดทำให้มีเลือดไหลภายใน เลือดนี้จะไปกดสมอง ขณะเดียวกันสมองอาจจะเกิดการฉีกขาดจากแรงเขย่าในทันทีทันใดนั้นอีกด้วย”  ฟังที่คุณหมอไดคส์เล่าแล้ว คุณแม่คุณพ่อทั้งหลายเห็นทีจะต้องเป็นฝ่ายที่ต้องระงับอารมณ์ตนเองเวลาลูกร้องโยเยเสียแล้วนะครับ พึงหลีกเลี่ยงการกระทำทางกายที่รุนแรงใด ๆ ต่อลูกเล็ก ๆ หันไปใช้การปลอบประโลมด้วยคำพูด และการสัมผัสที่นุ่มนวลจะดีกว่านะครับ แล้วก็อย่าลืมกวดขันให้พี่เลี้ยง หรือคนในครอบครัวเป็นฝ่ายที่ต้องระงับอารมณ์ตนเอง ไม่ว่าจะอยู่ต่อหน้าคุณหรือลับหลังคุณอีกด้วยนะครับ
 

ขอร้องเถอะครับ อย่าได้เขย่าลูกน้อยเลย อันตรายมากครับ !
(จาก USA Today ฉบับกุมภาพันธ์ 2531 หน้า 10-11)

ข้อมูลสื่อ

110-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531