• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผึ้ง (ตอนที่3)

 อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน ซึ่งทางจีนได้มีการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ หากท่านผู้อ่านท่านใดได้ เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ส่วนรวมต่อไป

 

                              

กล่าวถึงคุณภาพของนมผึ้งแล้ว ฉบับนี้จะกล่าวถึงการเก็บนมผึ้ง

การเก็บนมผึ้งที่ดีและถูกต้อง เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง การเก็บจะต้องระวังเกี่ยวกับอากาศ ความร้อนภาชนะ (ไม่ควรใช้โลหะ) แสง ความสะอาด กรดและด่าง ขวดที่ใส่ควรใส่ให้เต็ม (ให้มีช่องว่างของอากาศน้อยที่สุด) แล้วปิดฝาให้สนิท จะต้องเก็บไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ
โดยทั่วไปการเก็บนมผึ้งจะอยู่ระหว่าง -5 ถึง -7 องศาเซลเซียส จะเหมาะที่สุด จากประสบการณ์พบว่า นมผึ้งถ้าเก็บที่อุณหภูมิ -2 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นาน 1 ปี ที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียสจะเก็บได้นานหลายปี

การใช้นมผึ้งในการรักษาโรคนั้น มีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน มีบันทึกไว้ในหนังสือต่าง ๆ มากมาย จนกระทั่งปี ค.ศ. 1921 (พ.ศ. 2464) ความลับของนมผึ้งได้ถูกเปิดเผยโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมันชื่อ ดี.เจ. เลนจ์ (D.J.Lange) เขาพบว่านมผึ้งจะถูกหลั่งออกมาจากต่อมบริเวณหัวของผึ้งงานที่มีอายุ 5-15 วัน สำหรับการวิจัยทางชีววิทยาเคมี เภสัชวิทยา และผลการทดลองทางคลินิกนั้น เพิ่งจะมีการศึกษา วิจัยเมื่อไม่นานนี้เอง
 

สารที่พบในนมผึ้ง
น้ำ 65%
โปรตีน 12%
ไขมัน 6%
คาร์โบไฮเดรต 13%
เถ้า 1%
สารอื่น ๆ 3%
 

โปรตีนและกรดอะมิโน
โปรตีนและกรดอะมิโนเป็นสาระสำคัญในนมผึ้ง ในโปรตีนมีอัลบูมิน (Albumin) 2 ส่วน 3 โกลบูลิน (Globulin) 1 ใน 3 ซึ่งเหมือนกับอัตราส่วนของอัลบูมินและโกลบูลินในร่างกายมนุษย์
โปรตีนเป็นแหล่งกำเนิดของชีวิต และกรดอะมิโนก็เป็นสารพื้นฐานของโปรตีน ดังนั้นถ้าขาดกรดอะมิโน ก็จะไม่มีชีวิต และทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ กรดอะมิโนในนมผึ้งล้วนเป็นกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย บางชนิดร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นได้ จะต้องพึ่งพาอาศัยจากภายนอก
 

วิตามิน
ในนมผึ้งมีวิตามิน บีหนึ่ง, บีสอง และบีหกเป็นจำนวนมาก แต่จะเป็นวิตามินบีหนึ่งมากที่สุด
 

ฟอสเฟต
ในนมผึ้ง 1 กรัมมีฟอสเฟต 2-7 มิลลิกรัม เป็นอะดีโนซีน ไตรฟอสเฟส (adenosine troposphere) 302 ไมโครกรัม ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดพลังงานในร่างกาย การที่นักยกน้ำหนักสามารถยกน้ำหนักได้มาก ๆ ก็เป็นเพราะสารตัวนี้นี่เอง
 

กรดอินทรีย์
ในนมผึ้งมีกรดไขมันที่ไม่อิ่มตัวชนิดหนึ่ง เรียกว่า กรดดีไซลีน (Decylene acid) ซึ่งมีประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากกรดชนิดนี้มีในธรรมชาติ โดยเฉพาะในนมผึ้ง จึงเรียกว่ากรดนมผึ้ง กรดชนิดนี้นอกจากมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรคได้ดีแล้ว จากผลการวิจัยในจีนพบว่าสามารถยับยั้งมะเร็งได้ระดับหนึ่ง
กรดชนิดนี้จะมีอยู่ในนมผึ้งในปริมาณและสภาพที่แน่นอน ถ้านมผึ้งมีคุณภาพเปลี่ยนไปหรือเป็นนมผึ้งปลอม กรดนี้ก็จะลดน้อยลงด้วย ดังนั้นจึงถือเป็นมาตรฐานอย่างหนึ่งในการกำหนดคุณภาพของนมผึ้ง ในทางสากลกำหนดไว้ว่า ควรมากกว่า 1.4%
 

ธาตุอื่น ๆ
ธาตุอื่น ๆ ในนมผึ้ง แม้จะมีจำนวนน้อย แต่ก็เป็นธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ธาตุที่พบในนมผึ้งได้แก่ เหล็ก แมงกานีส ทองแดง สังกะสี โคบอลต์ เป็นต้น
 

ฮอร์โมน
ที่สำคัญ ได้แก่ นอร์อะดรีนาลิน, ไฮไดรคอร์ติโซน เป็นต้น เนื่องจากนมผึ้งเป็นผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ ดังนั้นปริมาณของฮอร์โมนเหล่านี้จึงมีจำนวนน้อย ไม่มากพอที่จะเกิดผลข้างเคียงกับร่างกาย แต่จะมีผลที่สำคัญต่อร่างกาย
 

ข้อมูลสื่อ

110-016
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล