• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ซีด จากการขาดอาหาร

 

โภชนาการ หมายถึง อาหารที่เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ แล้วร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นประโยชน์ในด้านการเจริญเติบโต การค้ำจุน และการซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ดังนั้น การได้อาหารที่เพียงพอและถูกสัดส่วน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดสำหรับมนุษย์เพื่อให้มีสุขภาพที่แข็งแรง
คอลัมน์ “กินถูก...ถูก...” ได้หายหน้าหายตาจากผู้อ่านไปนาน ต่อไปนี้จะกลับมาพบกับท่านเป็นประจำ โดยได้รับความร่วมมือจากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลฉบับนี้เสนอเรื่อง “ซีดจากการขาดสารอาหาร” โดย จุรีพร จิตจำรูญโชคไชย

สิ่งสำคัญและจำเป็นต่อร่างกายมนุษย์และสัตว์อย่างหนึ่งที่สามารถทำให้มนุษย์และสัตว์มีชีวิตอยู่ได้ คือ เลือด เพราะมีหน้าที่สำคัญในการนำอากาศ ที่มีส่วนประกอบของออกซิเจนจากปอดไปสู่เซลล์ต่าง ๆ ทั่วร่างกาย และนำก๊าซต่าง ๆ ที่ร่างกายไม่ต้องการถ่ายทิ้งอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีหน้าที่นำอาหารและน้ำที่ดูดซึมจากลำไส้ ไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย
ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า เลือดเป็นสื่อกลางที่ใช้เป็นทางติดต่อระหว่างเซลล์ในร่างกาย เมื่อใดก็ตาม ถ้าเกิดมีการเปลี่ยนแปลงของเลือดขึ้นภายในร่างกาย ก็ทำให้เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกายเปลี่ยนแปลงไปด้วย
เม็ดเลือดแดงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญที่อยู่ในเลือด ความเปลี่ยนแปลงของเม็ดเลือดแดงเป็นชนวนให้เกิดการแปรปรวนขึ้นในร่างกาย ภาวะผิดปกติเกี่ยวกับเม็ดเลือดแดงที่พบได้บ่อยมากก็คือ เลือดจาง หรือ ที่เรียกว่า ซีด นั่นเอง

เลือดจาง(โลหิตจาง) หมายถึง ภาวะที่มีสีในเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าปกติ องค์การอนามัยโลกได้กำหนดค่าของสีในเม็ดเลือดแดงไว้ว่า ถ้าเป็นเด็กทารกต้องมีความเข้มข้นของสีไม่ต่ำกว่า 11 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เด็กโตที่มีอายุ 6-14 ปี ต้องไม่ต่ำกว่า 12 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ส่วนใหญ่ผู้ชายจะมีค่าความเข้มข้นของสีมากกว่าหรือเทียบเท่ากับ 13 ในหญิงมากกว่า หรือ เท่ากับ 12 และในหญิงตั้งครรภ์ต้องมากกว่า 11 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร ภาวะเลือดจางนับได้ว่าเป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศ เนื่องจากพบว่า เด็กวัยก่อนเรียน ร้อยละ 20.5 และเด็กวัยเรียนร้อยละ 34-48 เลือดจาง ส่วนหญิงวัยเจริญพันธ์ในกรุงเทพฯนั้นพบได้ร้อยละ 21-93 ถ้าประชากรส่วนใหญ่ยังคงภาวะเลือดจาง จะส่งผลให้การพัฒนาประเทศในอนาคตไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าในแง่ เศรษฐกิจ อุตสาหกรรม หรือสาธารณสุขเพราะจะทำให้ผู้ที่เป็นมีสุขภาพไม่ดี เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย มีความต้านทานต่อเชื้อโรคต่ำ และความสามารถในการทำงานก็ด้อยลง และอาจมีแปลก ๆ เช่น อยากกินดิน ดังนั้นการรู้สึกถึงสาเหตุของอาการซีดจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักถึง และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

 

ซีดเกิดขึ้นได้อย่างไร
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการซีดนั้นมีหลายอย่าง อาจจะเนื่องมาจากการเป็นโรคที่ทำให้มีการเสียเลือดติดต่อกันจนเป็นเวลานาน ๆ เช่น โรคไต หรือโรคพยาธิ (โดยเฉพาะพยาธิปากขอ) โรคทางกรรมพันธุ์ (เช่น โรคเลือดธาลัสซีเมีย) หรืออาจจะเนื่องมาจากการเสียเลือดอย่างเฉียบพลัน (เช่น ถูกยิง ถูกแทง)
แต่สาเหตุเหล่านี้ ยังพบได้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับอาการซีดที่เกิดจากการขาดสารอาหาร เพราะมีสารอาหารหลายชนิดที่จำเป็นต่อการสร้างเม็ดเลือดแดง สารอาหารเหล่านี้ ได้แก่
1. เหล็ก
2. โปรตีน
3. วิตามีน บี 12
4. วิตามินโฟเลต
5. วิตามิน ซี
6. ทองแดงและสังกะสี
7. สารอาหารอาหารอื่น ๆ เช่น วิตามิน บี 6, วิตามิน อี


อาการซีดเนื่องจากขาดสารอาหารจะพบลักษณะเม็ดเลือดแดงได้ 2 แบบ คือ
1. อาการซีดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีขนาดเล็ก และเมื่อนำมาย้อมสี จะติดสีจาง ๆ ถ้าพบเช่นนี้ จะมีสาเหตุมาจากการขาดสารอาหารพวกเหล็ก โปรตีน
2. อาการซีดเนื่องจากเม็ดเลือดแดงมีขนาดใหญ่กว่าปกติ และเมื่อนำมาย้อมสีจะติดสีจาง ๆ เช่นกัน จะมีสาเหตุมาจากการขาดอาหารที่มีพวกวิตามิน บี 12 และโฟเลต
 


ทำไมจึงเกิดอาการซีดได้ ถ้าขาดสารอาหาร

เหล็ก
ปกติแล้วเหล็กในอาหารที่เรากินอยู่ทุกวันนี้มี 2 ประเภท คือ เหล็กที่เราได้จากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อวัว เนื้อไก่ ปลา หรือเลือด เป็นต้น เหล็กเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ได้ดีกว่าเหล็กที่มาจากธัญพืชหรือผัก ผลไม้ต่าง ๆ ประเทศเราโดยเฉพาะในชนบท แหล่งของเหล็กที่ได้ คือ ข้าว โดยเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 70-80 ของจำนวนแคลอรีได้มาจากข้าว ถึงแม้จำนวนเหล็กในข้าวจะมีพอสมควร คือ 0.43-1.3  มิลลิกรัมต่อข้าว 100 กรัม แต่เหล็กในข้าวนั้นถูกร่างกายนำไปใช้ได้น้อยมาก นอกจากนี้ข้าว หรือผักต่าง ๆ ยังมีสารขัดขวางการดูดซึมของร่างกายด้วย เช่น ไฟเตท ออกซาเลต อย่างไรก็ดีเราสามารถแก้ไขได้ถ้าเรากินอาหารให้ครบหมู่ คือมีเนื้อสัตว์ ผักสด ผลไม้ร่วมไปด้วย เพราะในผักสดหรือผลไม้จะมีวิตามินซีสูงซึ่งจะช่วยการดูดซึมเอาเหล็กไปใช้ได้มากขึ้น
เหล็กมีความสำคัญอย่างมากในการสร้างเม็ดเลือด ถ้าขาดเหล็ก เม็ดเลือดก็จะไม่เจริญเติบโตและไม่ถูกส่งออกมาจากไขกระดูกเข้าสู่กระแสเลือดของคนเรา หรือเม็ดเลือดที่สร้างออกมาได้ก็จะมีความผิดปกติมีขนาดเล็ก สีของเม็ดเลือดก็จาง
 

โปรตีน
ร่างกายของคนประกอบด้วยเนื้อเยื่อต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเนื้อเยื่อเหล่านี้ล้วนสร้างมาจากอาหารที่เรากินเข้าไปทุกวันนั่นเอง โดยเฉพาะโปรตีน ซึ่งได้จากกลุ่มอาหารพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม ถั่วต่าง ๆ การขาดโปรตีนในบ้านเรานับว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะประเทศทางตะวันออกเฉียงใต้อย่างเราส่วนใหญ่ได้โปรตีนจากพืชไม่เหมือนประเทศทางตะวันตก ซึ่งได้โปรตีนจากเนื้อสัตว์ มีคุณภาพดีกว่าโปรตีนจากพืชแล้วถ้าขาดโปรตีนจะเกิดอาการซีดได้อย่างไร
การจะสร้างเม็ดเลือดแดงขึ้นมาได้ ต้องอาศัยโปรตีนเกือบตลอด ระยะการสร้าง เช่น โปรตีนที่เป็นองค์ประกอบของเม็ดเลือดชื่อ “โกลบิน” (globin) จะไปจับกับเซลล์ที่มีเหล็กอยู่พร้อมแล้วที่จะสร้างเม็ดเลือดชื่อ ‘ฮีม’ (heme) ได้เป็นฮีโมโกลบิน (hemoglobin) ที่จะเป็นสีภายในเม็ดเลือดแดงดังนั้นถ้าเราขาดโปรตีนมาก ๆ หรือกินโปรตีนที่คุณภาพไม่ดี จะไม่มีตัวโกลบินไปจับกับฮีม เม็ดเลือดแดงที่ได้จะมีความผิดปกติและสีของเม็ดเลือดก็จาง


วิตามิน บี 12 และ โฟเลต
วิตามิน บี 12 และโฟเลตนี้ ทำงานเกี่ยวข้องกันตลอดเวลา ถ้าขาดตัวใดตัวหนึ่งก็จะทำงานได้ไม่สมบูรณ์ เมื่อเม็ดเลือดแดงอายุครบประมาณ 120 วัน มันจะตายแล้วถูกทำงายภายในร่างกายของคนเรา โดยม้ามเป็นตัวทำลาย ขณะเดียวกันเม็ดเลือดตัวใหม่ ก็จะเกิดขึ้นมา
การออกคำสั่งให้มีการสร้างเม็ดเลือดแดงตัวใหม่จะต้องมีวิตามินโฟเลตเป็นตัวช่วยในการออกคำสั่ง และการที่โฟเลตจะทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นให้มีการออกคำสั่งสร้างเม็ดเลือดแดงนั้น จะมีวิตามิน บี 12 เป็นผู้ช่วยอีกต่อหนึ่ง

ในคนที่บริโภคอาหารครบทุกหมู่ คือ แป้ง ข้าว เนื้อสัตว์ ไข่ นม ผัก ผลไม้ จะไม่เกิดการขาดวิตามิน 2 ตัวนี้แน่นอน นอกจากในคนที่กินเจ หรือเป็นนักมังสวิรัติอย่างเคร่งครัด คือ กินแต่ผักและผลไม้ เพราะวิตามิน บี 12 จะพบเฉพาะในเนื้อสัตว์ ไข่ นม และจากอาหารหมักเท่านั้น ถึงแม้ว่าในลำไส้ของเราจะมีแบคทีเรียชนิดหนึ่งสร้างวิตามิน บี 12 ขึ้นมาได้ แต่ก็ไปสร้างอยู่ในส่วนที่ร่างกายเราดูดซึมเอามาใช้ได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย กลับถูกขับออกมาทางอุจจาระเป็นจำนวนมากดังนั้นในคนกลุ่มนี้จึงควรหาแหล่งวิตามิน บี 12 นี้ได้จากการหมักพืช เช่น เต้าเจี้ยว น้ำซีอิ๊วขาว เป็นต้น

 

วิตามิน ซี
เราคุ้นเคยกับวิตามินตัวนี้กันอยู่มาก เหมือนที่ชาวบ้านเรียกว่า วิตามินป้องกันโรคหวัด แต่วิตามินตัวนี้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่นี้ ในแง่ของเลือดแล้ว วิตามินตัวนี้นับว่ามีความสำคัญมากเช่นกัน เพราะเป็นตัวช่วยให้ร่างกายดูดซึมเอาเหล็กจากอาหารพวกผักและผลไม้ได้ดีขึ้น และช่วยเปลี่ยนรูปของเหล็กที่มาจากสัตว์ให้ดูดซึมไปใช้ได้
ดังนั้นเมื่อไม่มีวิตามิน ซี เหล็ก จะถูกนำไปใช้ในการสร้างเม็ดเลือดไม่ได้ ผลที่ตามมาคือ เกิดอาการซีด โดยปกติแหล่งที่ดีของวิตามิน ซี คือ ผักสด และผลไม้

 

ทองแดงและสังกะสี
ทองแดงและสังกะสีเป็นธาตุอาหารที่ร่างกายคนเราต้องการในจำนวนน้อยมาก แต่ขาดไม่ได้ เราจะพบได้ในอาหารทะเล เช่น หอย ปู ปลา เนื้อสัตว์ ถั่ว ฯลฯ
ถ้าขาดทองแดงแล้ว เหล็กที่เราสะสมไว้ที่ไขกระดูกจะไม่ถูกนำเข้าสู่กระแสเลือด และเหล็กที่ได้จากอาหาร ก็จะไม่ถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย เหล็กที่จะใช้สร้างเม็ดเลือดจะขาดไป อาการซีดจะปรากฏให้เห็นได้ ส่วนสังกะสีเป็นส่วนประกอบของน้ำย่อยหลายชนิด แต่ที่สำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดง คือน้ำย่อยที่เรียกว่า คาร์บอนิก แอนไฮเดรส (Carbonic anhydrase) ถ้าขาดน้ำย่อยตัวนี้จะทำให้อายุเม็ดเลือดแดงสั้นลงน้อยกว่า 120 วัน เราได้ทองแดงและสังกะสีจากอาหารพวกไหนบ้าง แหล่งที่ดีก็คือ เนื้อสัตว์, ตับ, ไข่, ถั่วเมล็ดแห้ง, อาหารทะเลโดยเฉพาะหอยนางรม

 

สารอาหารตัวอื่น ๆ
ยังมีสารอาหารชนิดอื่น ๆ อีก ที่จะมีผลต่ออาการซีด แต่ยังไม่ค่อยมีความหมายมากนัก เนื่องจากเราได้รับอยู่ทุกวันแล้ว เช่น
วิตามิน บี 6 เรามักไม่ค่อยเคยชินกับวิตามิน บี 6 นี้มากนัก เพราะโดยตัวของมันแล้วไม่ค่อยขาด เนื่องจากเราได้รับอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในเนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ อาการซีดจากวิตามินตัวนี้จึงพบได้น้อย นอกจากเป็นโรคกรรมพันธุ์บางชนิดที่ไม่สามารถนำเอาวิตามิน บี 6 ไปทำงานในร่างกายได้ วิตามิน บี 6 จะไปกระตุ้นกรดชนิดหนึ่งในร่างกายที่เรียกว่า “เอแอลดี” (ALD=deamino-levulinic acid) ให้ช่วยสร้างส่วนประกอบต่าง ๆ ที่จะก่อสร้างขึ้นมาเป็นเม็ดเลือดแดง และสีในเม็ดเลือดแดง
วิตามิน อี เป็นสารอาหารที่เราพบได้ในน้ำมันพืช เช่น น้ำมันดอกคำฝ้าย น้ำมันถั่วเหลือง วิตามินตัวนี้จะเป็นตัวช่วยไม่ให้เม็ดเลือดแดงถูกทำลายได้ง่ายจากสารพิษที่เกิดขึ้นภายในร่างกาย
จากที่กล่าวมาแล้วนั้น สารอาหารต่าง ๆ ล้วนมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือด น้ำเลือด ไม่โดยตรงก็ในทางอ้อม ซึ่งทุกตัวไม่ควรขาด โดยเฉพาะเหล็กและโปรตีน เพราะสารอาหารทั้ง 2 ตัวนี้เป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างเม็ดเลือดส่วนตัวอื่น ๆ จะช่วยในด้านการส่งเสริมให้มีการทำงานเป็นไปอย่างปกติ

การเลือกบริโภคอาหารจึงเป็นสิ่งสำคัญ ต้องรู้จักเลือกบริโภคให้ถูกทั้งปริมาณและคุณภาพ เช่น เมื่อเรากินข้าวเป็นอาหารหลัก กับข้าวที่เรากินร่วมด้วยก็ต้องมีทั้งเนื้อสัตว์ หรือไข่ร่วมอยู่ด้วย มีผักต่าง ๆ แล้วตบท้ายด้วยผลไม้สด เช่น ส้ม มะละกอ ฝรั่ง เป็นต้น
 

ข้อมูลสื่อ

111-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
กินถูก...ถูก