• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาคลายกล้ามเนื้อ อาการ และวิธีการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

 

อาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เป็นอาการที่พบบ่อยในชีวิตประจำวัน สาเหตุส่วนใหญ่ได้แก่
- ออกกำลังกายหักโหมเกินไป

- อยู่ในท่าที่เสียสมดุลของกล้ามเนื้อ เช่น ชาวนาที่ก้มหลังเกี่ยวข้าวติดต่อกันนาน ๆ แม่บ้านที่นั่งยอง ๆ ซักผ้า ฯลฯ

- ออกแรงยก, ลาก, เข็น, ดันของหนักด้วยท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ก้มหลังยกหีบแทนที่จะย่อเข่าลง

- ทำงานด้วยความเครียดเกินไป เช่น คนที่หัดถีบจักรยาน หัดขับรถ มักเกร็งกล้ามเนื้อมากเกินไป ภายใต้ภาวะเครียด ฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (มีฤทธิ์คลายเครียด แก้ปวด) ลดน้อยลง ทำให้เกิดการเจ็บปวดให้ง่ายขึ้น

อาการปวดเมื่อยมักหายได้เอง เมื่อกล้ามเนื้อได้ผ่อนคลาย พักงานนานพอ สิ่งที่ช่วยส่งเสริมให้กล้ามเนื้อคลายตัวได้ดีขึ้นคือ การนวดเฟ้น, การประคบร้อน, การอาบน้ำอุ่น, การทำสมาธิ และยาคลายกล้ามเนื้อ ปัจจัย 4 อย่างแรกที่ช่วยคลายกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่ขจัดการได้โดยไม่ต้องซื้อหา และทุกครอบครัวสามารถดำเนินการได้เอง
ส่วนยาคลายกล้ามเนื้อ เป็นสิ่งที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ต้องการคำแนะนำการใช้จากแพทย์ หรือเภสัชกร และหาไม่ได้ง่ายเหมือน 4 อย่างแรก

ยาคลายกล้ามเนื้อที่แพทย์นิยมใช้กัน ได้แก่ เมโทคาร์บามอล (METHOCARRAMOL) และไดอะซีแพม (DLAZEPAM)

1. เมโทคาร์บามอล
ชื่อการค้า เช่น โรแบกซิน (ROBAXIN), มัยโอเมทอล (MYOMETHOU, รีแลกซอน (REZLAXON) เป็นต้น

สรรพคุณ : ลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ

ผลข้างเคียง : ที่พบบ่อยที่สุด คือ อาการตาพร่ามัว, เห็นภาพซ้อน, มึนงง, ง่วงนอน, รู้สึกคล้ายศีรษะลอยและปวดหัว
อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ ลดลง เมื่อร่างกายปรับตัวได้
ผลข้างเคียงที่พบน้อยคือ ทำให้มีไข้, คลื่นไส้
ผลข้างเคียงที่รุนแรงคือ ผื่นที่ผิวหนังและเยื่อบุจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ ดังนั้น ถ้ามีอาการคัน, ผื่นขึ้น, คัดจมูก หรือจุดเลือดออกในตาระหว่างที่กินยานี้ ให้หยุดยาทันที และรีบไปพบแพทย์

ข้อควรระวัง : ถ้าเป็นโรคไตหรือโรคลมชักอยู่ ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบล่วงหน้า เพราะการฉีดยาเมโทคาร์บามอล ทำให้โรคไตและโรคลมชักทรุดลง ถ้ากำลังกินยากันชัก, ยาแก้ปวด, ยานอนหลับ, ยาแก้ซึมเศร้า, ยาคลายกังวล (ยากล่อมประสาท) ต้องบอกให้แพทย์ทราบล่วงหน้า
อย่าดื่มสุรา, เบียร์ หรือสิ่งมึนเมาทุกชนิดในระหว่างกินยาชนิดนี้ ถ้ากำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมลูก ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ไม่ควรใช้ยานี้

ขนาดยาสำหรับผู้ใหญ่ :
ครั้งละ 1.5-2 กรัม (3-4 เม็ด) วันละ 4 ครั้งใน 3 วันแรก แล้วลดลงเหลือครั้งละ 1 กรัม (2 เม็ด) วันละ 4 ครั้ง ราคา ขนาดเม็ด 500 มิลลิกรัม ราคาเม็ดละประมาณ 1-4 บาท


2. ไดอะซีแพม
เป็นยาคลายกังวลที่นิยมใช้กันมาก และมีฤทธิ์คลายกล้ามเนื้อด้วย จึงมีผู้นำมาใช้เพื่อแก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ รายละเอียดเกี่ยวกับยานี้ ได้กล่าวไว้แล้วใน หมอชาวบ้าน ฉบับที่ 109 หน้า 38-40
ในทางปฏิบัติ อาการเกร็งกล้ามเนื้อ มักทำให้เกิดอาการปวดร่วมด้วยเสมอ จึงจำเป็นต้องให้ยาแก้ปวดร่วมด้วย ยาแก้ปวดที่ใช้ร่วมกับยาคลายกล้ามเนื้อ อาจเป็นพาราเซตามอล หรือแอสไพรินก็ได้

วิธีบีบนวด, ประคบร้อน, ทำสมาธิ และอาบน้ำอุ่น ล้วนช่วยเสริมฤทธิ์การรักษาของยา สามารถใช้แทนยาได้ และช่วยให้สามารถลดขนาดยาให้น้อยลง ที่สำคัญคือ วิธีการเหล่านี้ ผู้ป่วยและญาติมิตรสามารถช่วยเหลือกันเองได้ ทำให้ไม่ต้องพึ่งยา พึ่งหมอมากเกินจำเป็น

 

ข้อมูลสื่อ

111-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
108 ปัญหายา