• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตามัว (ตอนที่ 4)


2. แปรตามความเสื่อมของร่างกาย
ตามัวชนิดนี้พบได้ในผู้ที่มีอายุเลยวัยหนุ่มสาวไปแล้ว ตามัวที่พบได้ คือ
1. สายตายาว (Presbbyopia) ผู้ที่มีอายุใกล้ 40 ปี หรือ 40 ปีขึ้นไป การอ่านหนังสือหรือทำงานระยะใกล้ ๆ ประมาณ 1-2 ฟุตไม่ค่อยถนัด ไม่ชัด ทำนาน ๆ รู้สึกปวดกระบอกตา เมื่อยล้านัยน์ตา แสบตา น้ำตาไหลมาก ๆ อยากอาเจียน พาลหงุดหงิด ใกล้ถึง ป.ส.ด. ในบางราย

2. โรคนัยน์ตาบางชนิด
เช่น
(ก) ต้อหินชนิดมุมเปิด หรือเรียกอีกชื่อว่า ต้อหินเรื้อรัง

(ข) โรคต้อกระจกชนิดวัยชรา หรือก่อนชรา มีอาการตาพร่ามัว มองเห็นเป็นสีรุ้งรอบดวงไฟในบางครั้ง อาจมีปวดกระบอกตา มึนศีรษะเป็นครั้งคราว ผสมผสานกับตาพร่า กลุ่มคนไข้พวกนี้ค่อนข้างอันตราย ถ้าปล่อยปละละเลยคิดว่าอาการดังกล่าวเป็นสิ่งไม่สำคัญ มองข้ามไปนาน ๆ อาการจะเพิ่มมากขึ้น จนอาจเข้าระยะสายเกินแก้

(ค) จอประสาทตาเสื่อมตามวัย พบได้ค่อนข้างบ่อย คนไข้พวกนี้มีอาการตามัวข้างใดข้างหนึ่ง หรืออาจสองข้าง ส่วนมากพบเพียงข้างเดียวนำมาก่อน จากการดูเผิน ๆ ภายนอกบอกไม่ได้เลย คนไข้จะไปพึ่งร้านแว่นตามาแล้วแทบทั้งนั้น พยายามคิดว่าตนเองสายตาผิดปกติต้องเปลี่ยนแว่นใหม่ ช่างแว่นบางร้านที่ไม่ใช่พ่อค้าคิดหากำไรเกินไปจากการขายแว่น จะรู้สึกเอะใจว่าวัดแผ่นอย่างไร ๆ ก็ไม่เห็นดีไปกว่าเดิม มักแนะนำไปหาจักษุแพทย์เพื่อตรวจละเอียดถึงสาเหตุที่แน่นอนเสียก่อน แล้วจึงจะพบว่าอาการดังกล่าวมาจากโรคนี้ได้

ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสาเหตุที่พอจะบอกได้ว่าตามัว ตาพร่า มาจากอะไร ที่ตรวจพบได้เสมอ ๆ ทางคลินิกจักษุแพทย์อาจมีที่พิสดารไปกว่านี้คงไม่พบบ่อยนัก มีกับผู้ใดก็ถือว่าเป็นโชคของท่านไปก็แล้วกัน จะหมายถึงโชคที่ว่ามีโรคที่เขาไม่เป็นกัน แต่เราเป็น หรืออีกนัยหนึ่งคือ เป็นวิทยาทานที่แพทย์จะได้อาศัยโรคประหลาดของท่านใช้เขียนรายงานเพื่อตีพิมพ์เป็นบทความรายงานโรค (ประหลาด หรือพบได้น้อย) เป็นผลงานเชิงวิชาการประกาศความมีชื่อเสียงของแพทย์ผู้ตรวจพบท่านนั้นไปก็ได้ จึงไม่ประหลาดใจเลยว่า การจะตรวจค้นหาว่าท่านที่มาบ่นกับจักษุแพทย์เพียงพยางค์เดียวว่า “ตามัว” แพทย์ต้องตรวจเพื่อความหาสาเหตุกันขนาดไหน บางรายตรวจจนแพทย์ตาลายยังหาคำตอบไม่ได้เลยว่า อะไรคือสาเหตุ เพื่อความไม่ประมาท ผู้เขียนมักจะแนะนำให้ผู้ที่รู้จักมักคุ้น หรือแม้แต่นักศึกษาที่สอนอยู่ว่า คราใดก็ตามที่ท่านมีเวลาว่าง หรือจิตใจสบาย ๆ ลองเอามือบังตาข้างซ้ายแล้ว เอาตาขวามองดูวัตถุที่อยู่ห่างท่านประ-มาณ 6 เมตร หรือ 20 ฟุตซิว่า เห็นชัดแจ่มแจ้งดีหรือไม่ หรือสามารถอ่านตัวอักษรหรือตัวเลขที่มีขนาดสูงประมาณ 1-2 เซนติเมตร ได้หรือเปล่า จากนั้นเปลี่ยนเอามือบังตาขวาแล้วลองมองด้วยตาซ้ายดูบ้าง เปรียบเทียบว่าตาทั้ง 2 ข้างชัดเท่าเทียมกันไหม?

กรุณาทำทุกครั้งที่ท่านนึกถึงเรื่องนี้ได้ เป็นการตรวจสายตาหรือสมรรถภาพตาตัวเองไปในตัว ไม่ต้องเสียเวลา ไม่ต้องลงทุนและไม่ต้องพึ่งใคร จนกว่าจะสะดุดใจหรือสงสัยขึ้นมาทันทีที่ปิดตาสลับกันดังกล่าวแล้ว ถ้าตา 2 ข้างเห็นไม่เหมือนกัน กรุณารีบไปปรึกษาจักษุแพทย์ที่ใกล้ที่สุดเถอะครับ เพราะเรื่องที่ท่านบ่นเพียง “ตาพร่า” หรือ ”ตามัว” เท่านั้น แพทย์จะไม่ดูดายอาการของท่านแน่ ๆ

อ่านบทความนี้จบแล้ว อย่าลืมทำการทดสอบสายตาตามที่ผมแนะนำแบบง่าย ๆ นี้ด้วยนะครับ ผมเองยังทำอยู่เสมอ ๆ เพราะตัวเองก็กลัว ๆ อยู่เหมือนกัน

 

ข้อมูลสื่อ

111-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์