• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ผึ้ง (นมผึ้ง-รอยัลเยลลี่) (ตอนที่ 4)

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน ซึ่งทางจีนได้มีการค้นคว้าอย่างเป็นระบบ หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน” เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ส่วนร่วมต่อไป

                                      

 

ในฉบับก่อน ๆ ได้กล่าวถึงคุณภาพของนมผึ้ง การเก็บนมผึ้งและสารที่พบในนมผึ้งแล้ว ในฉบับนี้จะกล่าวถึงผลทางเภสัชวิทยา

ผลทางเภสัชวิทยา
1. เพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกาย
การทดลองโดยแบ่งหนูตะเภาออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกให้นมผึ้งเป็นอาหาร กลุ่มที่สองให้อาหาร
ธรรมดา หลังจากนั้นก็จับหนูทั้งสอง (ทำเครื่องหมายแบ่งกลุ่มให้ชัดเจน) ใส่ลงในอ่างน้ำ หนูทั้งหมดต่างก็ว่ายน้ำ จนกระทั่งเวลาผ่านไประยะหนึ่ง จะสังเกตได้ชัดว่า หนูที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมดา จะเริ่มเหนื่อย แล้วค่อย ๆ จมลงในน้ำ แล้วลอยขึ้นมาใหม่จนกระทั่งหมดแรงและจมลงไปในน้ำ ส่วนหนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมผึ้งจ่ายได้นานกว่าหลายสิบนาทีจึงค่อยหมดแรงแล้วจมลงไปในน้ำ

เป็นที่ทราบกันแล้วว่า สิ่งมีชีวิตถ้าขาดออกซิเจนก็จะตาย แต่นมผึ้งสามารถทำให้มีชีวิตยาวนานขึ้นในภาวะที่ขาดออกซิเจนชั่วคราว จากการทดลองโดยนำเอาขวดมาใบหนึ่ง จับหนูทั้ง 2 กลุ่มที่แบ่งเหมือนข้างต้น ทำเครื่องหมายแบ่งกลุ่มให้เห็นได้ชัดจนใส่ลงในขวด ใส่สารดูดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงไป หลังจากนั้นก็สูบอากาศในขวดออก ปรากฏว่าหนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยอาหารธรรมดา จะค่อย ๆ ตายไปทีละตัวสองตัว หลังจากนั้นหนูกลุ่มที่เลี้ยงด้วยนมผึ้งจึงค่อย ๆ ตายตาม

นมผึ้งทำให้สัตว์ทดลองเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างไร?
นักวิทยาศาสตร์ได้นำหนูทดลองที่ตายแล้วทั้งสองกลุ่มมาผ่าดู พบว่านมผึ้งสามารถทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดหนึ่งที่มีชื่อว่า แมกโครเฟก (macrophage) กลืนและทำลายแบคทีเรีย หรือสารปลอมแปลงอื่น ๆ ได้เพิ่มขึ้น ประมาณเท่าตัว การทดดลองแสดงให้เห็นว่า นมผึ้งสามารถเพิ่มภูมิต้านทานให้กับร่างกายได้ เคยมีการทดลองโดยฉายรังสีหนูถีบจักร โดยใช้รังสีโคบอลต์ (Cobalt60) ในปริมาณ 60.4 เรินแกนเป็นเวลาติดต่อกัน 12 วัน และหลังจากฉายรังสีไปแล้ว 12 วัน ปรากฏว่าหนูกลุ่มที่กินนมผึ้งสามารถมีชีวิตอยู่ต่อไปได้อีก 19 วัน ในขณะที่หนูอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งให้อาหารธรรมดาจะตายไป หลังจากฉายรังสีได้เพียง 11 วัน การทดลองแสดงให้เห็นว่า นมผึ้งสามารถทำให้หนูมีความคงทนต่อรังสีได้สูงกว่าปกติ
 

2. กระตุ้นเนื้อเยื่อให้เจริญเติบโต
ในชีวิตประจำวัน ปรากฏการณ์ที่เรามักพบบ่อย ๆ คือ บาดแผลอย่างเดียวกันในสภาพเหมือนกัน
บาดแผลของคนหนุ่มมักหายได้เร็วกว่าของคนแก่ ที่กล่าวมานี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพลังชีวิต ความแข็งแรงของพลังชีวิตมีผลต่อการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเป็นอย่างมาก
การทดลองพบว่า นมผึ้งสามารถทำให้เซลล์ที่หมดสภาพถูกแทนที่โดยเซลล์ใหม่ เซลล์เม็ดเลือดแดงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เคยมีผู้นำเอาหมูและไก่ไปทดลองโดยให้กินนมผึ้ง ผลปรากฏหลังจากให้กินนมผึ้ง น้ำหนักจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 30 การทดลองแสดงให้เห็นว่า นมผึ้งมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนักอย่างเห็นได้ชัด การทดลองโดยใช้วิธีตัดหรือทำให้เส้นประสาทขา (sciatic nerve) บอบช้ำ ผลการทดลองพบว่า นมผึ้งสามารถทำให้เส้นประสาทนี้งอกและฟื้นตัวได้เร็วขึ้น (ขาหลังของเส้นประสาทที่ถูกตัดหรือบอบช้ำมีการสะท้อนกลับได้เร็วขึ้น)เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มหนึ่ง มีการทดลองตัดไตข้างหนึ่งของหนูตะเภา ที่เหลืออีกข้างหนึ่งตัดเฉพาะบางส่วน การทดลองพบว่า หนูที่กินนมผึ้งจะมีเนื้อเยื่องอกใหม่ บริเวณไตที่ถูกตัด เคยมีนักวิทยาศาสตร์นำนมผึ้งที่มีความเข้มข้น 500 มิลลิกรัมต่อลิตร ไปรดเห็ดหอม หลังจากนั้น 10 วันจะได้เห็ดหอมหนัก 1,800 มิลลิกรัม ส่วนเห็ดหอมที่ให้อาหารธรรมดาจะมีน้ำหนักเพียง 1,400 มิลลิกรัม ต่างกัน 400 มิลลิกรัม การทดลองพบว่า นมผึ้งไม่เพียงแต่สามารถเร่งการเจริญเติบโตของสัตว์ได้ แต่ยังสามารถเร่งการเจริญเติบโตของพืชได้อีกด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

111-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล