• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องนั่งกรรมฐาน (ตอนที่6)

 เมื่อข้าพเจ้าใช้ห้องพักในโรงพยาบาลเป็นห้องนั่งกรรมฐาน” เป็นธรรมบรรยายของอาจารย์จำเนียร ช่วงโชติ สหายในทางธรรม ท่านส่งมาให้ผมช่วยตรวจแก้ อ่านแล้วสนุก ประทับใจทั้งในเนื้อธรรมปฏิบัติและเกร็ดขำ ๆ ในโรงพยาบาล รู้สึกเหมือนได้ดื่มธรรมโอสถขนานวิเศษแก้โรคได้จริง ๆ จึงขออนุญาตท่านนำมาลงพิมพ์ในหน้าธรรมโอสถ เพื่อประโยชน์แด่ท่านผู้ใคร่ธรรมที่รักทุกท่าน 


กลับถึงห้องพัก คิดคำนึงถึงเหตุการณ์ในห้องฝังแร่ เป็นการทดสอบการปฏิบัติของเราได้เยี่ยมมาก น่าขอบคุณ “โรคมะเร็งที่รักจ๋า” ที่ช่วยให้ตัวเองรู้ความจริงที่เคยกำหนดรู้ได้ละเอียด ดังที่ได้เล่าให้ท่านทั้งหลายฟังนั้น ยังไม่เพียงพอ ยังต้องปฏิบัติต่ออีกมาก จนเกิดปัญญารู้แจ้งแทงตลอด สิ้นสงสัย ประมาทอีกมิได้แล้ว รีบเร่งขวนขวายทำเข้าไว้ ทำเข้าไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต สำคัญเทียบเท่าการกินอาหารนั่นแล ดิฉันพักต่ออีก 5 วัน เพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น และก็อำลาจากห้องกรรมฐานกลับบ้าน ขณะนี้ร่างกายแข็งแรงคืนสู่สภาพสภาพปกติ น้ำหนักเพิ่มขึ้น 3 กิโล ทำงานเป็นปกติแล้ว

ก่อนจบ ดิฉันขอฝากข้อคิดจากการปฏิบัติธรรมของตนเอง คุณแม่สิริเพียรพยายามอบรมให้ลูกโยคีประคับประคองจิตให้เกิด ศีล สมาธิ ปัญญา ไปพร้อมกันด้วยการสอนเดินจงกรมให้มีสติรูอยู่กับการเคลื่อนไหวของเท้า นั่งสมาธิให้มีสติรู้การเคลื่อนที่ของท้อง พอง-ยุบ และให้มีสติกำหนดรู้อิริยาบถต่าง ๆ ให้มากละเอียดและเป็นปัจจุบัน ซึ่งท่านมักย้ำว่า ประการหลังคือ การกำหนดรู้อิริยาบถนั้น สำคัญที่สุดจงทำให้มาก การเดินจงกรม สำคัญรองลงมา ก็ทำให้มาก ส่วนสมาธิพึงทำแต่อย่ามาก
ในช่วงแรก ๆ ของการปฏิบัติ การกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกายและจิตตามแนวเจริญสติปัฏฐาน 4 นั้น ดิฉันเอาแต่นั่งสมาธิมาก เบื่อเดินจงกรมเอามาก ๆ เรื่องกำหนดอิริยาบถก็ฟังเข้าหูซ้ายออกหูขวา ใจไม่รับรู้ความสำคัญ มองเหมือนทำง่ายแต่ก็ทำยาก กำหนดรู้ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ผ่านไปไม่กำหนดเสียก็มาก เป็นเหตุให้การปฏิบัติขาดตอนไม่ต่อเนื่อง

ภายหลังยิ่งฟังคุณแม่พูด ยิ่งปฏิบัติมากขึ้น ฝึกฝน ทดลองด้วยการปิดประตู เพ่งสติกำหนดรู้อิริยาบถต่าง ๆ ทำอย่างช้า ๆ พูดให้ทันกับการกระทำ และความรู้สึกนึกคิด ทำอย่างจริงจังครั้งละประมาณ 10-15 นาที เห็นผลทันใจ จิตสงบ-ว่าง-เบา-ใส เพราะอยู่กับปัจจุบันกิเลส คือโลภะและโมหะเข้าไม่ได้ ปัญญาก็เกิด ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มใส่ใจต่อการเพ่งสติกำหนดรู้การเคลื่อนไหวของกาย และจิตและสภาวธรรมทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาทางทวารทั้งหก คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เก็บเล็กเก็บน้อยเรื่อยมา อะไรกำหนดไม่ทันหรือลืม ก็จะกำหนดตามและต่อด้วย เผลอหนอ-ไม่ทันหนอ เพื่อเดือนจิตตนเองให้พยายามเพียรกำหนดให้ได้
คงจะเป็นบุญกุศลของดิฉันด้วย ก่อนหน้าจะเข้าโรงพยาบาล เมื่อตระหนักดีว่า “สติย่อมเป็นปรารถนาในทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ” จึงได้พยายามรวบรวมวิธีการของคุณแม่ อ่านและฟังจากคนอื่นบ้างแล้วเอามาผสมผสาน ทำให้ง่ายขึ้น แล้วทดลองฝึกปฏิบัติ “การเจริญสติ” ให้กับนิสิตที่เรียนวิชาจิตวิทยาเป็นรุ่นแรกจำนวน 15 คน โดยใช้เวลาในการฝึก 5 วัน ๆ ละ 3-4 ชั่วโมงติดต่อกัน ในขณะที่สอนเขาเหล่านั้น ดิฉันก็ได้ฝึกฝนตนเองไปด้วย จึงทำให้มีความชำนาญ สามารถนำเรื่องการเจริญสติมาใช้ในยามที่เจ็บป่วยได้ดีมาก

ขอความสุข สวัสดี และความสำเร็จของการปฏิบัติธรรม จงเกิดแด่ท่านทั้งหลายด้วยเทอญ
 

ข้อมูลสื่อ

111-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 111
กรกฎาคม 2531
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน