• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

งูเห่ากัดกับกล้ามเนื้อช่วยหายใจเหนื่อยล้า


พิษของงูไปทำลายตรงปลายประสาทที่ติดกับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเหนื่อยล้า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อช่วยหายใจ มีอาการเหนื่อยล้าได้มาก ซึ่งต้องช่วยโดยการให้เซรุ่มแก้พิษงู

งูเป็นสัตว์ที่น่าสงสาร ปกติมักจะกลัวคน และจะหนีเสมอนอกจากจวนตัว เช่น ไปเตะ หรือเหยียบ งูจึงจะกัด หรือบางรายที่มันหวงไข่ คนหรือสัตว์ไปอยู่ในอาณาจักรของมัน ก็อาจจะโดนฉก หรือกัดเอาได้ งูเห่าเป็นงูพิษที่อันตรายมากชนิดหนึ่งของเมืองไทย ใครโดนงูเห่ากัด ถ้าช่วยไม่ทันมีโอกาสตาย...ได้สูงมาก พิษของงูไปทำลายตรงปลายประสาทที่ติดกับกล้ามเนื้อ ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้อเหนื่อยล้า โดยเฉพาะกล้ามเนื้อช่วยหายใจ มีอาการเหนื่อยล้าได้มาก ซึ่งต้องช่วยโดยให้เซรุ่ม แก้พิษงู ยาสเตียรอยด์ และเครื่องช่วยหายใจ

คุณหมอศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล คุณหมอชาญ โพชนุกุล อาจารย์ชัญโญ เพ็ญชาติ และ คุณหมอเกษตร มีมะโน จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ศึกษาเกี่ยวกับงูเห่ากัด และการเหนื่อยล้าของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ (8 ปีมาแล้ว) พบว่าสมรรถภาพปอด (บอกการทำงานของกล้ามเนื้ช่วยหายใจทั้งหมด) ในผู้ใหญ่ 78 ราย จากงูเห่ากัด 31 ครั้ง มีถึง 28 รายคือร้อยละ 90 ที่มีอาการกล้ามเนื้อเหนื่อยล้า มีทั้งกลุ่มที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ (22 ราย) อีก 7 รายไม่ใช้เครื่องช่วยหายใจ 3 รายในกลุ่มแรก และ 1 ราย ในกลุ่มที่สอง ไม่ได้ให้เซรุ่มแก้พิษงู และยาสเตียรอยด์เลย พอจะได้ข้อสรุปว่าเวลาที่เริ่มให้ และปริมาณเซรุ่ม แก้พิษงู และ สเตียรอยด์ ไม่สามารถบอกได้ว่าอาการของผู้ป่วยรายใด จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขนาดของเซรุ่มแก้พิษงู ควรจะได้มีการศึกษาใหม่ เพราะผู้ป่วยอาจจะฟื้นเอง ในรายที่ช่วยหายใจ แต่ไม่ได้ใช้เซรุ่มพิษงู และสเตียรอยด์

ตามรายงานมีว่าอย่างนั้น ทางที่ดี เมื่อถูกงูเห่ากัด นอกจากช่วยปฐมพยาบาล ต้องรีบส่งโรงพยาบาลที่มีเครื่องช่วยหายใจเร็วที่สุด ก่อนที่กล้ามเนื้อช่วยหายใจจะเหนื่อยล้าเสียหมด
 

(จาก ศักดิ์ชัย ลิ้มทองกุล, ชาญ โพชนุกูล, ชัญโญ เพ็ญชาติ, เกสร มีมะโน : กล้ามเนื้อเหนื่อยล้าในผู้ป่วยถูกงูเห่ากัด, จดหมายเหตุทางการแพทย์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย 2530; 70 : 626-630)

น.พ. อำนาจ บาลี

 

ข้อมูลสื่อ

112-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
นพ.อำนาจ บาลี