• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยารักษาโรคย้ำคิดย้ำทำ


ผลของการใช้ยาอะนาฟรานิลในคนไข้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ 20 ราย ภายใต้เงื่อนไขที่มีการควบคุมอย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้ ปรากฏว่า ยานี้ไม่ได้แก้อาการย้ำคิดย้ำทำให้หายขาดได้ แต่จะช่วยบรรเทาอาการได้ร้อยละ 60-70


อันที่จริงนิสัยเจ้าระเบียบ รักษาความสะอาด ละเอียดรอบอบกับการตรวจตราความปลอดภัย เก็บงำข้าวของ ไม่ทิ้งง่าย ๆ นับว่าเป็นนิสัยที่ดีหากจะมีพอสมเหตุสมผล แต่บางคนมีนิสัยและพฤติกรรมดังกล่าวมากเกินกว่าปกติ เช่น จะต้องปัดกวาด เช็ดถู จัดระเบียบข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัวทุกวัน บางคนเสียเวลามากมายไปกับการเวียนตรวจว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าถูกปลดปลั๊กออกหรือยังอย่างไม่รู้จักพอแล้ว บ้างก็เสียเวลาเป็นชั่วโมง ๆ กับการเฝ้าตรวจสอบความปลอดภัยภายในบ้านก่อน จะออกจากบ้านไปไหน หรือบางคน มีนิสัย ‘บ้าหอบฟาง’ ไม่ยอมทิ้งสมบัติ ส่วนตัวแม้สักอย่างทั้ง ๆ ที่เก็บไว้ก็รังแต่จะรกบ้าน คนที่มีนิสัยเฝ้าแต่คิด หรือทำอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างผิดปกติเช่นนี้ เรียกว่ามีอาการของโรคประสาทย้ำคิดย้ำทำ (obsessive-compulsives) แน่นอนว่าคนรอบข้างย่อมจะเห็นว่าคนเช่นนี้น่ารำคาญและเป็นปัญหา แต่ขอให้ทำความเข้าใจสักนิดเถิดว่า ผู้มีอาการย้ำคิดย้ำทำนี้น่าเห็นใจ เพราะเขาเองก็ไม่อยากคิดไม่อยากมีพฤติกรรมเช่นนั้น แต่เขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และกำลังต้องการความช่วยเหลือจากผู้อื่นอยู่

วงการแพทย์ก็มีความพยายามที่จะช่วยผู้เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำอยู่เหมือนกัน อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้มีข่าวจาก
อเมริกาที่เรียกได้ว่าค่อนข้างดี สำหรับผู้เป็นโรคนี้ นักวิจัยได้ค้นพบว่า ยาต้านอาการซึมเศร้าชื่อ โคลมิพรามีน (clomipramine) หรือชื่อการค้าว่าอะนาฟรานิล (anafranil) อาจจะช่วยผู้มีอาการย้ำคิดย้ำทำได้ในบางรายแต่พร้อม ๆ กับข่าวค่อนข้างดีนี้ ก็คือข่าวร้ายที่ว่า ยาชนิดนี้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกายังไม่อนุมัติให้มีการจำหน่าย เว้นแต่จะใช้ในการศึกษาที่มีแพทย์เป็นผู้ควบคุมเท่านั้น

โรเบอร์โต โดมิงเกซ จิตแพทย์แห่งโรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยไมอามี่กับเพื่อนร่วมงาน ได้ทำการทดลองเพื่อศึกษาผลของการใช้ยาอะนาฟรานิลในคนไข้ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ โดมิงเกซได้ทดลองให้ยาชนิดนี้แก่คนไข้ 20 คน ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขที่มีการควบคุมอย่างรอบคอบและคำนึงถึงความปลอดภัยของคนไข้มากที่สุด ผลของการศึกษาปรากฏว่ายาชนิดนี้ใช้ได้ผล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากใช้ร่วมกับการให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเพื่อการปรับพฤติกรรม  แต่จะว่าไปแล้ว ไม่มียาอะไรที่เป็นยาวิเศษ โดมิงรายงานว่า ยาอะนาฟรานิลนี้ไม่ได้แก้อาการย้ำคิดย้ำทำให้หายขาดได้ แต่จะช่วย “บรรเทาอาการได้ร้อยละ 60-70 นั่นคือ หากว่าแต่ก่อนนี้คนไข้ต้องเสียเวลาตรวจตราความปลอดภัยภายในบ้านนาน 2 ชั่วโมงครึ่งก่อนจะออกจากบ้านทุกครั้ง หลังจากกินยานี้แล้วเวลาดังกล่าวลดเหลือ 25 นาที คนไข้ส่วนใหญ่ในจำนวน 20 คนนี้มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นในระดับที่เห็นได้ชัด แพทย์และนักจิตวิทยาสามารถใช้วิธีการบำบัดพฤติกรรมเพื่อจัดการกับปัญหาส่วนที่เหลือให้หมดไปได้”

อาการย้ำคิดย้ำทำนี้อาจจะเป็นอาการของโรคทางจิตชนิดอื่นได้ เช่น โรคซึมเศร้า (depression) หรือโรคจิตเภท (schizophrenia มีลักษณะสำคัญ คือ ความคิดผิดปกติ ไม่รับรู้ความจริง มีอาการหลงผิด ประสาทหลอน อารมณ์ไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์รอบตัว และมีพฤติกรรมผิดปกติ)แพทย์ยังไม่สามารถชี้วัดได้ว่า สาเหตุของโรคย้ำคิดย้ำทำเกิดจากอะไร แต่เท่าที่รู้กันนั้นพบว่า คนไข้โรคนี้มักจะมีประวัติชอบทำพฤติกรรมบางอย่างซ้ำ ๆ ซาก ๆ มานานมาก่อนที่ปัญหาจะชัดเจนจนต้องไปพบแพทย์

การเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่สะสมผลร้ายตามเวลาที่ผ่านไป เพื่อสุขภาวะที่สมบูรณ์จะต้องมีการดูแลสุขภาพจิตควบคู่ไปกับสุขภาพกายทั้งในผู้ใหญ่และเด็ก ความรู้เรื่องสุขภาพจิตและการดูแลรักษาจิตใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ

 

(จาก USA Today เดือนเมษายน 1988 หน้า 12)
พีระพล เวชพงศา

 

ข้อมูลสื่อ

112-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
พีระพล เวชพงศา