• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สายตาคนมีอายุ


⇒ สายตาคนมีอายุหมายความว่าอย่างไร
คำว่าสายตาคนมีอายุ (Presbyopia) หมายถึง คนที่มีอายุเข้าวัยกลางคน คืออายุใกล้ตัวเลข 40 หรือ 40 กว่าเล็กน้อย จำเป็นต้องสวมแว่นตาแล้ว แว่นตาที่ว่านี้หมายถึง แว่นตาสำหรับใส่อ่านหนังสือหรือทำงานบนโต๊ะ หรือทำงานระยะใกล้ประมาณ 1-2 ฟุตห่างจากตา ทั้งนี้ เพราะอ่านหนังสือพิมพ์หรือทำงานระยะ 1-2 ฟุตไม่ถนัด สังเกตได้ง่าย คือ เวลาอ่านหนังสือต้องเหยียดหนังสือหรือตัวเลขที่จะอ่านให้ห่างออกไป

สมัยก่อนเคยนั่งไขว่ห้างถือหนังสืองอแขน งอข้อศอกอ่านได้อย่างสบาย จะก้มจะจ้องเพ่งตัวเลขเล็ก ๆ ตัวหนังสือเล็ก ๆ ได้หมด ครั้นพอเข้าระยะเวลาใกล้เลข 4 นำหน้า หรือเลข 4 เล็กน้อยจะทำเช่นนั้นไม่ไหวแล้ว ตามันพร่า มองไม่ชัด ครั้นพอเหยียดหนังสือห่างออกไป จะเห็นชัดสบายตามากขึ้น
ยิ่งอายุมากขึ้นตามตัวเลขที่แปรผันไปยิ่งต้องเหยียดห่างออกไปเรื่อย ๆ เหมือนกับจะบอกว่า อายุยิ่งห่างตัวเลข 40 ออกไปเป็น 41 หรือ 42 ถอยออกไป

 

⇒ เพราะเหตุใดจึงต้องเป็นเช่นนั้น
การที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะความชรา ทำให้ภาวะเลนส์ตาแข็งตัว ไม่ยืดหยุ่นเหมือนเมื่อตอนเด็ก ๆ หรือหนุ่มสาว มีผลทำให้การปรับภาพที่เรามองมีกำลังลดน้อยลง (Accommodation is lessened) เลนส์ตาที่ค่อนข้างแข็ง หรือเริ่มจะแข็งตอนอายุใกล้เลข 4 นี่แหล่ะ เป็นตัวกลไกสำคัญ ยิ่งนานวันผ่านไป อายุมากขึ้นก็ยิ่งแข็งมากขึ้น การปรับภาพยิ่งน้อยลงตามลำดับ (ตารางที่ 1)


ใครที่ว่าอายุเป็นเพียงตัวเลขนั้นก็มีส่วนถูกอยู่ สำคัญบางคนที่เข้าวัยกลางคน หรือคืบคลานไปใกล้ความแก่ (คือ อายุ 60) ที่แลดูอ่อนกว่าวัยเหลือหลาย แต่สิ่งที่จะปกปิดไม่ได้ก็คือ “สายตา” นี่แหล่ะ มันฟ้องตัวมันเองอยู่แล้วตามเวลา เหมือนมีคำกล่าวว่า ความแก่ (ความจริงไม่อยากใช้คำนี้เลยพับผ่าซิเอ้า) จะมีสิ่งบอกเหตุอยู่สองอย่างที่ปิดไม่ได้คือ “ไขข้อ” และ “สายตา”
“ไขข้อ” ก็คือพอเข้าวัยต้องสวมแว่นอ่านหนังสือดังกล่าว ไขข้อต่าง ๆ ตามร่างกายมันก็พลอยจะขัดเคล็ด ปวดและตึงอยู่เสมอ ไม่ข้อมือก็ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ข้อศอก จนกระทั่ง กระดูกสันหลังโน่น มีอันเป็นต้องโผล่แสดงอาการฟ้องเจ้าตัวอยู่เป็นระยะ ๆ ว่า... “มีอายุแล้วนะ” “สายตา” ก็คือเรื่องที่กล่าวมาตั้งแต่ต้น



⇒ สายตาคนมีอายุต่างกับคนสายตายาว สายตาสั้น หรือสายตาเอียงหรือไม่
สายตาคนมีอายุ (presbyopia) หมายถึง สายตาคนที่อายุเพิ่มมากขึ้นเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ หรือเข้าวัยนักบริหารนักปกครอง (ว่าเข้านั่น) แว่นตาที่ใช้จะเป็นแว่นแบบเลนส์นูน หรือเลนส์ที่ช่วยขยายให้ภาพโตขึ้นนั่นเอง บางคนพูดล้อเลียนว่า ขอแว่นขยายหน่อย คือแว่นอันเดียวกันนั่นแหล่ะ

    

สายตายาว (hyperopia) หมายถึงคนที่จำเป็นต้องสวมแว่นชนิดเลนส์นูนเหมือนกัน แต่จะเป็นความผิดปกติของกระบอกตา คือ กระบอกตาสั้นเกินไป แสงที่หักเหผ่านเลนส์จึงตกเลยจอรับภาพ (retina) คือภาพตกเลยจอรับภาพ จำเป็นต้องสวมแว่นชนิดเลนส์นูน (contex lens) เพื่อดึงภาพที่ตกเลยจอรับภาพไป ให้เข้ามาตกที่จอรับภาพพอดี ตามภาวะของสายตาที่จะต้องใช้เลนส์กำลังพอเหมาะนั้นสามารถพบได้ตั้งแต่เด็กอายุ 1 ขวบจนกระทั่งหนุ่มสาว
สายตายาวในเด็กเล็ก ๆ แรกเกิดนี่แหล่ะ เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตาเข (accommodation esotropia)

สายตาสั้น (myopia) คือภาวะที่ภาพจากวัตถุตกหน้าจอรับภาพ ทำให้ต้องสวมเลนส์ชนิดเว้า (concave lens) เพื่อถ่วงแสงให้ภาพไปตกพอดี ที่จอรับภาพ พบได้ในคนอายุน้อย ๆ วัยกำลังศึกษา หรือเริ่มต้นทำงาน

สายตาเอียง (astigmatism) เป็นภาวะที่กระจกตาดำมีความโค้งไม่เท่ากันในแนวใดแนวหนึ่ง การมองเห็นจะพร่า และมีอาการปวดกระบอกตามากเมื่อเพ่งมองอะไรนาน ๆ จำเป็นต้องใช้แว่นตาชนิด รูปทรงกระบอก (cylindincal lens) มาช่วยปรับแสงที่ผิดปกตินั้น ๆ ให้สู่แนวปกติ เพื่อภาพจะได้รวมไปตก ที่จอรับภาพได้พอดี ซึ่งค่อนข้างซับซ้อนพอสมควร พบในคนทุกอายุ โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว



⇒ อาการของคนสายตามีอายุเริ่มต้นเป็นอย่างไร ถ้าไม่รักษาหรือแก้ไขจะมีอันตรายถึงพิการหรือไม่


กำลังของการปรับภาพคิดเป็น diopter (ตารางที่1) คนอายุน้อย สายตาปรับภาพได้มาก มีกำลังสูง ยิ่งอายุมากขึ้น กำลังการปรับภาพ ยิ่งลดน้อยลงตามลำดับ
อาการเริ่มต้นของสายตาคนสูงอายุคือ อ่านหนังสือนาน ๆ ทำงานเซ็นหนังสือ ดูตัวเลขบัญชีนาน ๆ หรือพิมพ์ดีดนาน ๆ รู้สึกตาพร่าเป็นพัก ๆ ต้องขยี้ตาหรือกระพริบตาถี่ ๆ อยู่เสมอ มีอาการเมื่อยล้ากระบอกตา ปวดเมื่อยล้ากระบอกตาปวดเมื่อยหนังตาเหมือนง่วงนอน ตาปรือ บางครั้งรู้สึกแสบ ๆ ตา ๆ น้ำตาไหล เมื่ออ่านอยู่นาน ๆ ติดต่อกันโดยไม่พักสายตา อาการเหล่านี้จะค่อย ๆ เพิ่ม หรือเป็นถี่ขึ้นตามวันเวลาจนเจ้าตัวรู้สึกผิดสังเกต แรก ๆ ก็ไม่รู้ตัว เพราะตาตัวเองปรับภาพได้ (accommodation) ครั้นปรับภาพอยู่นาน ๆ กล้ามเนื้อตาที่มีหน้าที่ปรับภาพ เมื่อยล้า จะมีอาการปวด

กระบอกตา ตาพร่า น้ำตาไหลเวลาผ่านพ้นไป การปรับภาพ ที่เคยทำอยู่ชักลดลง การจะมองตัวหนังสือซึ่งปกติเห็นในระยะห่าง 12 ฟุต ตอนนี้ต้องเหยียดออกห่างไปอีกเล็กน้อย เหยียดห่างออกไปเรื่อย ๆ จนบางคนสุดแขนจึงจะอ่านได้ ท่าอ่านหนังสือจะเป็นท่าเฉพาะ หรือเอกลักษณ์ของคนพวกนี้เขาล่ะ อย่ามาโกหกเลยว่าตัวเองยังหนุ่มยังแน่น เห็นท่าเหยียดแขนอ่านหนังสือ ก็รู้แล้ว...
ถ้าไม่แก้ไขหรือรักษา จะทำให้มีอาการปวด มึนศีรษะเสมอ เป็นทุกครั้งที่ใช้สายตาระยะใกล้ บางครั้งอาจรู้สึกคลื่นไส้ อยากอาเจียน ตาพร่า น้ำตาไหล แต่ไม่ถึงกับทำให้ตาพิการขั้นบอด


⇒สายตากลับคืออะไร
สายตากลับเป็นภาวะที่เกิดจากเดิมสวนแว่นตามองอะไรได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นระยะไกลหรือระยะใกล้ แว่นตาชนิดนั้นจะต้องเป็นแว่นตาแบบ “สายตาสั้น” มาก่อนด้วย (เลนส์เว้า)
ครั้นพออายุมากขึ้นใกล้เลขสี่ หมายถึงจะเป็นคนมีสายตาคนมีอายุ ซึ่งต้องใส่แว่นตาชนิดเลนส์นูน สวมใส่เพื่อมองอะไรระยะใกล้ ๆ 1-2 ฟุต อ่านหนังสือ หรือเซ็นหนังสือ เป็นต้น จำเป็นต้องเอาแว่นตาออก เพื่อมองตาเปล่าจึงจะเห็นชัด หรือจับแว่นขึ้นไปเหน็บไว้บนหน้าผากอย่างที่เห็นบางคนชอบทำ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับว่าเดิมเป็นคนมีสายตาสั้นอยู่เท่าไร สมมติสั้นเพียง 2.00 ไดออปเตอร์ หรือภาษาชาวบ้านว่าสั้น 200 ครั้นอายุประมาณ 40 กว่า ๆ เช่น 44 ปี สมควรจะใช้แว่นตาอ่านหนังสือขนาด 200 จึงจะชัด คน ๆ นี้ ไม่จำเป็นต้องเอาแว่นมาสวม เพียงเอาแว่นตาอันเดิมที่สวมอยู่ 200 ออกเท่านั้นก็สามารถอ่านหนังสือได้ ทำให้คล้ายกับ “สายตากลับ” คือ จากที่เคยใส่แว่นอ่านหนังสือเป็นถอดแว่นอ่านหนังสือ

พฤติกรรมถอดแว่นอ่านหนังสือ จะเป็นอยู่เพียงช่วงของอายุ 1-2 ปี ต่อไปนาน ๆ เข้า คน ๆ นั้นก็ต้องมีแว่นอีกอันสำหรับอ่านหนังสือเหมือนคนปกติ คือแว่นสายตาชนิดเลนส์นูนนั่นเอง
คำว่าสายตากลับ จึงเป็นช่วงสั้น ๆ ของการที่ไม่ต้องใช้แว่นเมื่ออ่านหนังสือ หรืออีกนัยหนึ่ง คือการลดกำลังแว่นสายตาสั้นลงมาเมื่อจะใช้สายตาระยะใกล้นั่นเอง มิใช่การที่ตากลับคืนสู่สภาพปกติแบบคนทั่ว ๆ ไป โดยไม่ต้องใช้แว่นอีกเลย ไม่ว่าไกลหรือใกล้ตามที่เข้าใจกัน



⇒แว่นตาคนมีอายุต้องเปลี่ยนทุกปี หรือทุกกี่ปี


พอเริ่มใช้แว่นตาอ่านหนังสือ แบบคนมีอายุเมื่อใด นั่นก็หมายถึงว่ากำลังแว่นตาจะเพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยกำลังการปรับภาพ (accommodation) ที่ลดลงเป็นปฏิภาคกันไป
ส่วนมากจะเริ่มต้นที่กำลังแว่นตาชนิดเลนส์นูนขนาด 75 (0.75 ไดออปเตอร์) จากนั้นจะเพิ่มความหนานของแว่นตาขึ้นทุกปี หรือทุกสองปีเป็น 100, 125 หรือ 150 แล้วแต่ลักษณะตา และภาวะการปรับภาพของคน ๆ นั้น ตามตารางที่ให้ไว้เป็นเครื่องบ่งชี้คร่าว ๆ ทั้งนี้เรื่อยไป จนกระทั่งอายุประมาณ 55-60 ปี (ตารางที่ 2)





คนสวมแว่นตามีอายุจะเอาไปใช้สำหรับดูไกลได้หรือไม่

คนสวมแว่นตาสำหรับดูใกล้ตามที่กล่าวแล้ว จะต้องใช้สำหรับดูใกล้ หรืออ่านหนังสือระยะห่างตาเพียง 1-2 ฟุตเท่านั้น จะเงยหน้ามองวัตถุไกล ๆ เกิน 2 ฟุตไม่ได้ แม้เพียงผู้ที่มานั่งสนทนาอยู่ตรงหน้าก็ต้องถอดแว่นออกเพื่อมองหน้าคนผู้นั้น มิฉะนั้นจะมึนศีรษะ เวียนศีรษะและปวดตาทันที ยิ่งเอาไปมองอะไรไกล ๆ เกินระยะ 1 เมตร ขึ้นไปจะพร่า มัว มองไม่เห็น มึนศีรษะทันที เนื่องจากไม่ใช่แว่นสำหรับดูไกลนั่นเอง ผู้ที่สายตาเข้าวัยสูงอายุ มองไกลใช้ตาเปล่าได้สบายมาก จะใช้แว่นเฉพาะเมื่ออ่านหนังสือ หรือทำงานละเอียดระยะใกล้ ๆ เท่านั้น


สายตาคนมีอายุจะหายไปได้หรือไม่ ต้องเพิ่มความหนาของแว่นตามากขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงเท่าไรจึงจะหยุด
คนสายตายาวแบบมีอายุจะไม่หาย แต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หมายถึง แว่นจะหนาขึ้นตามวัยที่เพิ่มขึ้น ตามอัตราที่ให้ไว้ในตารางที่ 2 ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้วภาวการณ์ปรับสภาพเลนส์ตาไม่สามารถทำต่อไปได้เนื่องจากแข็งตัว จะหยุดปรับตัวหรือไม่มีแรงปรับตัวอีกต่อไปแล้ว นั่นก็หมายถึงว่าเลนส์ตาผู้นั้น กำลังจะกลับกลายเป็นความขุ่นขาว แข็งตัว คือ “ต้อกระจก” ระยะเริ่มแรกซึ่งพบในระยะอายุ 55-60 ปี ขึ้นไปจนกระทั่งสิ่งอายุขัย แว่นตาจะไม่ช่วยให้เห็นดีขึ้นต่อไปอีกแล้ว ต้องรอให้เลนส์ตาที่เป็นต้อสุกพอสมควร ค่อยผ่าตัดเอาต้อออกตามขั้นตอนของโรคต้อกระจก บางคนอายุ 60 กว่ายังเป็นต้อกระจก สามารถจะใช้แว่นตาแบบเลนส์นูน ช่วยการมองเห็นชัดต่อไปได้เรื่อย ๆ จนกระทั่งเป็นต้อกระจกก็ยังมี


⇒ต่อจากสายตาคนมีอายุ จะเป็นต้อกระจก เท็จจริงประการใด
จากวัยที่ขึ้นเลขสี่จำเป็นต้อง สวมแว่นตาเพื่อช่วยการมองเห็นในระยะใกล้จนเป็นที่พอใจถึงระยะหนึ่งแล้ว คือไปถึงวัย 55-60 ปี หรือ 60-65 ปี จะเป็นระยะที่เข้าสู่วัยต้อกระจกหรือ “ต้อวัยชรา” (senile cataract) ทุกคน เช่นเดียวกับต้อกระจก ผมบนศีรษะจะเริ่มหงอกมากน้อย แล้วแต่ลักษณะเฉพาะคน ถ้าใช้ความคิดมากจะหงอกมาก ถ้าพ่อแม่ ปู่ย่าตายายผมหงอกเร็ว ตัวเองก็หงอกเร็วตามกรรมพันธุ์
อย่างไรก็ตาม สายตาคนมีอายุมิใช่ปัญหาในการมองเห็นระยะใกล้เท่านั้น วันเวลาผ่านไป การมองไกล ๆ ที่เคยเห็นดีจะมัวลงตามวัย ด้วยต้องใช้แว่นระยะไกลเหมือนกัน คือ แว่นชนิดเลนส์นูนบาง ๆ บางกว่าชนิดมองระยะใกล้จึงทำให้ต้องทำแว่นตาชนิด 2 เลนส์ คือ เลนส์ไกล เรียกว่า ไบโฟคัลเลนส์ (bifocal lens) คือ ถ้าจะมองไกลให้มองผ่านทางเลนส์ด้านบน จะอ่านหนังสือหรือทำงานให้มองผ่านเลนส์อันล่าง

ยิ่งอายุมากขึ้นไปอีกระดับ 50 กว่าถึง 55 อาจต้องมีแว่นตา ชนิดเลนส์สามชั้น คือมองไกลเกิน 6 เมตรอยู่ชั้นบนสุด ต่ำกว่า 6 เมตร มองผ่านเลนส์ชั้นกลาง เมื่ออ่านหนังสือระยะใกล้ ๆ มองผ่านเลนส์อันล่างสุด เรียกว่าเลนส์สามชั้น (trifocal lens) จึงทำให้ดูเหมือนกับว่า ยิ่งแก่สายตายิ่งยุ่ง มีปัญหามาก
ทำไงได้วันเวลาที่ผ่านไปหมายถึงอายุเพิ่มขึ้น ไม่เคยหยุดนิ่ง ท่านไม่ควรสวมแว่นวันนี้ วันข้างหน้า ต้องสวมแน่นอน เป็นสิ่งที่ “แน่นอน” ที่สุด ไม่เคยมีใครหลีกหนีพ้น
 

ข้อมูลสื่อ

120-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์