• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วิวัฒนาการของความคิดแบบกลไก

             

ในอดีตกาลการแพทย์ตะวันออกและตะวันตกมีวิธีมองปัญหา วิธีการศึกษา และวิธีในการแก้ปัญหา ไม่แตกต่างกันมากนัก ในสมัยกรีกโบราณ นักปราชญ์เอมพีดอคเลส (Empedocles ก่อน ค.ศ. 500-430 หรือ พ.ศ. 1043-973) เชื่อว่า โลกเกิดขึ้นจากคุณสมบัติ ที่เย็น ร้อน แห้ง และชื้น ของธาตุทั้งสี่ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ และสรรพสิ่ง ในจักรวาลล้วนประกอบด้วยธาตุทั้งสี่ ในอัตราส่วนทางปริมาณที่แตกต่างกัน
จากความคิดนี้ นักปราชญ์ฮิปโปเครตีส บิดาของการแพทย์ ตะวันตก (Hippocrates ก่อน ค.ศ. 459-377 หรือ พ.ศ. 1002-920) ได้ตั้งทฤษฏีซึ่งเชื่อว่า สิ่งมีชีวิตถูกกำหนดโดยของเหลวสี่ชนิด คือ เลือด ของเหลวข้น น้ำดีสีเหลือง และน้ำดีสีดำ ถ้าของเหลวทั้งสี่ชนิดนี้อยู่ในภาวะสมดุล ร่างกายก็แข็งแรง แต่เมื่อไรที่ความสมดุลของอัตราส่วนของของเหลวทั้งสี่นี้ถูกทำลายก็จะเกิดโรค

เนื้อหาที่แท้จริงของธาตุทั้งสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ของการแพทย์ตะวันตกยุคโบราณ หรือแพทย์อินเดีย หรือแม้กระทั่งทฤษฏีธาตุ ทั้ง 5 (ดิน น้ำ ลม (ไม้) ไฟ ทองปัญจธาตุ) ของการแพทย์จีนนั้น เป็นการนำเอาลักษณะที่ปรากฏภายนอกของสิ่งที่มนุษย์คุ้นเคยในทางการเกษตรมาอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของธรรมชาติ นอกจากนั้นนำมาอธิบายกับความผิดของร่างกาย เป็นต้นว่า ไฟ มีคุณสมบัติร้อน แดง (ของไฟ) มีลักษณะกระตุ้น เป็นต้น เพราะฉะนั้น คนที่มีอาการคอแห้ง เจ็บคอ ปากแห้ง ปากแดง รู้สึกร้อนใบหน้าและร่างกาย การแพทย์ตะวันออกก็จะบอกว่าเป็นอาการของไฟ ยาหรืออาหารที่ใช้ ควรจะเป็นยาที่มีคุณสมบัติเย็น (มีรสขม ซึ่งทางเภสัชวิทยาทางตะวันตกพบว่ามีฤทธิ์ยับยั้ง)

จะเห็นได้ว่าการนำเอาคุณสมบัติเฉพาะของธาตุทั้งสี่ หรือธาตุ ทั้ง 5 ไปอธิบายปรากฏการณ์ภายนอกของการแพทย์ตะวันออกนั้น (ไม่สามารถเจาะลงถึงแก่นแท้ที่เป็นจริงภายในได้ เพราะการพัฒนาของวิทยาศาสตร์ยังไม่เกิดขึ้น) เป็นทรรศนะที่มองปัญหาแบบเถรตรง คาดคะเน และเปรียบเทียบ แม้จะไม่สามารถเปิดโปงแก่นแท้ภายในของสิ่งได้อย่างละเอียดแบบเจาะลึก แต่เป็นการนำเอาปรากฏการณ์ธรรมชาติ มาอธิบายถึงสภาวะของร่างกายมนุษย์ที่ผิดปกติ ทำให้เราสามารถเข้าใจและแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง

ศตวรรษที่ 16-17 เป็นช่วงเวลาของการสร้างพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เป็นศตวรรษใหม่ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ความคิดทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนมรรควิธีทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะการพัฒนาของวิทยาศาสตร์แขนงต่าง ๆ ในกระบวนการเกิดและการก่อรูปของวิทยาศาสตร์ในระยะแรก ๆ เนื่องจาก มนุษย์เนื่องจากมนุษย์ได้ใช้วิธีแยกแยะและสะสมข้อมูลออกเป็นหมวดหมู่ วิธีการเช่นนี้เป็นวิธีการที่แยกส่วนย่อยออกจากส่วนใหญ่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นการแยกสิ่งออก จากความสัมพันธ์แบบองค์รวม เป็นการแยกส่วนออกเป็นเอกเทศ โดด ๆ แล้วทำการศึกษาโดยการวิเคราะห์
เนื่องจากช่วงประวัติศาสตร์ ยุคนั้นวิชากลศาสตร์เป็นแขนงวิชาทางวิทยาศาสตร์ที่พัฒนามากที่สุด จึงได้มีการนำเอาความคิดทางกลศาสตร์ไปอธิบายปรากฏการณ์ของสิ่งต่าง ๆ ซึ่งมีคุณภาพต่างกัน เช่น นำไปอธิบายเรื่องเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์

กาลิเลโอ (Galileo Golilei ค.ศ. 1564-1642 หรือ พ.ศ. 2107-2185) ได้พยายามนำเอากฎเกณฑ์ทางกลศาสตร์ไปอธิบายว่า ทำไมขามนุษย์จึงใหญ่กว่าแขน ทำไมกระดูกจึงมีลักษณะกลวงและค่อนข้างกลม เป็นต้น

ต่อมา โบเรลลี่ (Borelii ค.ศ. 1608-167 หรือ พ.ศ. 2151-2222) ได้เขียนหนังสือ “การเคลื่อนไหวของสัตว์” เขาได้พยายาม นำเอาหลักทางกลศาสตร์ไปอธิบายการเคลื่อนไหวของมนุษย์ เช่น การเดิน วิ่ง กระโดด การเล่นสกี การยกน้ำหนัก เป็นต้น

การสะสมความรู้จากปรากฏการณ์ที่มีลักษณะกลไก ได้ค่อย ๆ กลายเป็นทรรศนะที่มองร่างกายมนุษย์เหมือนเครื่องจักร ดังที่เดสคาร์ต (Rene Descartes ค.ศ. 1596-1650 หรือ พ.ศ. 2139-2193) นักปรัชญา นักฟิสิกส์ นักคณิตศาสตร์ และนักสรีรวิทยา ชาวฝรั่งเศส ได้เขียนหนังสือชื่อ “สัตว์ คือ เครื่องจักร” เขาเชื่อว่า จักรวาลเปรียบเหมือนเครื่องจักรใหญ่ ร่างกายที่มีชีวิตเป็นเครื่องจักรที่ประณีต ความแตกต่างของมนุษย์และสัตว์นั้นอยู่ที่จำนวนฟันเฟืองที่ไม่เท่ากัน มนุษย์เป็นเครื่องจักรที่มีจิตวิญญาณ”

ต่อมานายแพทย์ชาวฝรั่งเศส ลาเมททรี ((Lamettrie ค.ศ. 1709-1751 หรือ พ.ศ. 2252-2294) ได้สนับสนุนทรรศนะความคิดของเดสคาร์ต และได้เขียนหนังสือ “มนุษย์คือเครื่องจักร” ขึ้นในปี ค.ศ. 1748 หรือ พ.ศ. 2291 เขาได้สรุปว่า “มนุษย์เปรียบเหมือนนาฬิกา แต่เป็นนาฬิกาเรือนใหญ่ที่สร้างด้วยความปราณีต”
การเคลื่อนไหวของชีวิตนั้นแน่นอนที่สุดจะต้อมีลักษณะการเคลื่อนไหวแบบกลไกรวมอยู่ด้วย แต่ไม่ใช่ว่าจะนำเอาการเคลื่อนไหวแบบกลไกนี้ไปอธิบายการเคลื่อนไหวทั้งหมดของชีวิต ร่างกายมนุษย์นั้น เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีการทำงานประสานกันอย่างเป็นเอกภาพ ไม่ใช่เป็นการรวมตัวกันของเซลล์ต่าง ๆ ในเชิงปริมาณ เพราะฉะนั้น ความคิดนี้จึงกลายเป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของความคิดทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน
 

    


แนวโน้มของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ในอนาคต
วิทยาศาสตร์นั้นจะต้องมีการพัฒนา และคลี่คลายไปตามกระบวนการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคม การศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ในศตวรรษนี้และต่อ ๆ ไป จึงเป็นไปในลักษณะ 2 ด้าน คือ

1. การศึกษาในแนวดิ่งที่เจาะลึก แม้ทุกวันนี้การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับชีวิตจะเจาะลึกลงไปถึงเซลล์อาร์เอ็นเอ (RNA) ดีเอ็นเอ (DNA) ยีน และโครโมโซม แต่ก็ยังไม่สามารถเปิดโปงแก่นแท้การเคลื่อนไหวของชีวิตได้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน การแยกความรู้ต่าง ๆ ออกเป็นแขนงวิชาก็ทำให้มนุษย์สามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น แต่ขาดลักษณะรอบด้าน

2. การศึกษาในแนวราบที่มองกว้าง มนุษย์เป็นส่วนเล็ก ๆ ส่วนหนึ่งของจักรวาล มีความสัมพันธ์กับสังคม และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รอบตัวอย่างแยกไม่ออก ดังนั้น การเปิดโปงธาตุแม้ของกระบวนการชีวิตของมนุษย์นั้น ลำพังแค่ความรู้เฉพาะในแขนงวิชาใดวิชาหนึ่งไม่สามารถจะให้คำตอบได้ ดังนั้น ในขณะที่ทำการศึกษาในแนวดิ่งที่เจาะลึก ก็จะต้องศึกษาในแนวราบที่เป็นด้านกว้างร่วมด้วย จึงจะทำให้มองปัญหาได้รอบด้านขึ้น

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า การศึกษาทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งรวมทั้งการแพทย์ในศตวรรษนี้และอนาคต นอกจากจะศึกษาในแนวดิ่ง ที่เจาะลึกแล้ว ยังจะต้องศึกษาในแนวราบที่มองกว้าง สำหรับการศึกษาแบบหลังนี้ เป็นการศึกษาที่เป็นลักษณะเด่นของการแพทย์ตะวันออก ถ้าหากเราสามารถนำเอาประสบการณ์ ทฤษฏี และการสรุปกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของมนุษย์ที่สั่งสมมาเป็นเวลาอันยาวนานมาใช้ และชี้นำการศึกษา ก็จะทำให้เราสามารถประหยัดเวลา และเกิดประสิทธิภาพอย่างเต็มที่ในการศึกษา ซึ่งเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงในการผสมผสานการแพทย์ทั้งสองระบบเข้าด้วยกันอีกด้วย
 

ข้อมูลสื่อ

120-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 120
เมษายน 2532
วิทิต วัณนาวิบูล