• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

จำเป็นด้วยหรือ ต้องผ่าเอาลูกออกทางหน้าท้อง

 

สูติแพทย์ทราบว่าควรสนับสนุนให้ผู้ที่เคยซีเซ็กชั่นแล้วคลอดทางปกติ นอกเสียจากว่ามีความจำเป็นทางการ แพทย์จริง ๆ จึงจะต้องผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้อง

แต่เดิมมานั้นเรามีความเชื่ออยู่ว่า “เมื่อใดที่เริ่มผ่าเอาลูกออกทางหน้าท้องแล้ว ท้องต่อมาก็ต้องผ่าอีก”  ความเชื่อที่ว่าชักจะเปลี่ยนไปแล้ว จึงมีคำถามว่า จำเป็นด้วยหรือ ที่จะต้องผ่าเอาลูกออกทางหน้าท้องซ้ำสอง คำว่า การผ่าเอาลูกออกทางหน้าท้อง ภาษาอังกฤษเรียกว่า ซีซาเรียนเซ็กชั่น (cesarean section) บางคนเรียกสั้น ๆ ว่า ซีเซ็กชั่น
ถ้าท่านได้ยินคำต่างด้าวข้างต้น ก็โปรดเข้าใจด้วยก็แล้วกัน ที่อเมริกาโน่น เขาผ่าท้องซีเซ็กชั่นเป็นว่าเล่น หัวเด็กติดอุ้งเชิงกรานหน่อย ก็ผ่าแล้ว เด็กตัวโตหน่อยก็ผ่าแล้ว แน่นอนเมื่อเด็กหรือแม่อยู่ในภาวะคับขัน จำเป็นต้องผ่าก็ว่าไปอย่าง

แต่ที่โน่น (หมายถึงสหรัฐฯ) บางทีแพทย์จะรีบไปตีกอล์ฟ หรือเที่ยววันสุดสัปดาห์ ก็เร่งหรือรีบให้คลอด หรือไม่งั้นก็ซีเซ็กชั่นเสียเลย ทันใจดี!
เมื่อ 10 ปีก่อน เขาผ่ากันราว ๆ ร้อยละ 25 แต่เมื่อสองปีที่แล้ว สถิติสูงถึงร้อยละ 35 นั่นหมายความว่า หญิงอเมริกันที่ท้องมีโอกาสถูกผ่าซี-เซ็กชั่นถึง 1 ใน 3 ถึงเมืองไทยก็เถอะ การผ่าท้องเอาลูกออกก็ดูจะหนาตาขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่า เดี๋ยวนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือที่จะคอยทดสอบดูว่า เด็กอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายหรือยัง ถ้ามีก็ผ่าเสีย
อีกอย่าง อย่างที่กล่าวแล้ว อาหารการกินอุดมสมบูรณ์ เด็กมีโอกาสตัวโต โตกว่าหรือคับอุ้งเชิงกราน มีโอกาสติดได้ง่ายเมื่อปล่อยให้คลอดทางช่องคลอด บางรายได้รับการขอร้องจากแม่เอง เพราะว่าเบ่งมานานจนเพลียก็ต้องเอาออกทางหน้าท้องเหมือนกัน หมดลมเบ่งว่างั้นเถอะ,

เดี๋ยวนี้ที่อเมริกามีการฟ้องร้องแพทย์ผู้ทำคลอดกันมาก เพราะมีส่วนทำให้เด็กพิการจากการคลอด พอสูติแพทย์เห็นท่าเด็กจะไม่ดี ก็ตัดสินใจผ่าเอาเด็กออกเลย ใช้เวลาแค่ 30 นาทีก็เรียบร้อย แทนที่จะนั่งเฝ้ารอกันเป็นชั่วโมง ๆ
ที่จริงแล้ว วิทยาลัยสูตินรีเวชวิทยาแห่งอเมริกา ได้แนะนำให้มวลสมาชิก คือสูติแพทย์ทราบว่า “ควรสนับสนุนให้ผู้ที่เคยซีเซ็กชั่นแล้ว คลอดทางช่องคลอดตามปกติ นอกเสียจากว่ามีความจำเป็นทางการ แพทย์จริง ๆ จึงจะต้องผ่านเอาเด็กออกทางหน้าท้อง แต่ก็อย่างว่า ตัวใครก็ตัวมัน แพทย์ผู้ใดเห็นสมควรอย่างไร เมื่อไหร่ควรจะผ่า เมื่อไหร่ไม่ควรผ่า ก็พิจารณาเป็นราย ๆ ไป

แม้ว่ามีการศึกษาว่า คนเคยผ่าหน้าท้องมีโอกาสคลอดทางช่องคลอดได้ร้อยละ 50 – 80 การผ่าเอาลูกออกทางหน้าท้องมีอันตรายอยู่ในตัว เพราะเป็นผ่าตัดใหญ่ ใครที่จะไปขอให้แพทย์ผ่าเอาลูกออกตามฤกษ์ตามยาม อย่าได้ริไปทำเชียว มีข่าวหลายปีก่อน ถึงตายยังจำกันได้หรือเปล่าอันตรายจากการทำผ่าตัดหน้าท้องก็มี เช่น จากการดมยาสลบ อันตรายจากการให้เลือด การติดเชื้อ และมดลูกอักเสบ เป็นต้น อัตราตายของแม่สูงเป็น 2 เท่าในกรณีที่ต้องผ่าท้องซ้ำสอง ส่วนลูกล่ะ มีโอกาสเกิดภาวะหายใจลำบาก ปอดทำงานไม่ดี ฯลฯ

การผ่าเอาลูกออกหน้าท้องมีอยู่ 2 ลักษณะ
วิธีที่ 1
ผ่าตรงกลางมดลูกเลย ซึ่งเดี๋ยวนี้ใช้กันน้อยมาก นอกเสียจากว่าจะจำเป็นรีบด่วนมากจริง ๆ จึงจะทำ ซึ่งแพทย์กลัวไปว่า ถ้าท้องที่ 2 คลอดทางช่องคลอด มดลูกจะปริ หรือแตกตามรอยแผลผ่าท้องเดิม (ตรงกลาง) เช่นว่านี้ อย่างว่า เดี๋ยวนี้แทบจะเลิกผ่าวิธีนี้แล้ว

วิธีที่ 2 ผ่าตามขวาง ตรงบริเวณหัวเหน่า เรียกว่า บิกินีคัท พูดง่าย ๆ ก็คือ ผ่าตามรอยขอบชุดอาบน้ำบิกินี โอกาสที่มดลูกจะแตกบริเวณนี้ ก็น้อยมาก จึงไม่น่ากลัวอะไร

ฉะนั้นตามที่วิทยาลัยสูตินรีเวชวิทยาแนะนำให้คลอดทางช่องคลอดหลังจากที่เคยซีเซ็กชั่นจากท้องที่แล้วก็เป็นการดี จะปลอดภัย ทั้งแม่และลูกยังไงล่ะ
นอกจากว่าสูติแพทย์หรือคนตั้งครรภ์จะหาเหตุผลเฉพาะบางครั้งบางคราว ก็ไม่ว่ากันนะ

น.พ. อำนาจ บาลี
 

ข้อมูลสื่อ

119-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 119
มีนาคม 2532
นพ.อำนาจ บาลี