• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

วัคซีนป้องกันไข้สมองอักเสบได้ผลดีในเด็กไทย


วัคซีนไข้สมองอักเสบสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจมีผลช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจากเชื้อแดงกี่ได้ด้วย

โรคไข้สมองอักแสบจากเชื้อไวรัสแจแพนนีสอี (ไวรัสเจอี) เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย ในภาคเหนือของประเทศไทย พบโรคนี้มากในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม บางครั้งมีผู้ป่วยถึง 2,000 ราย และตายจากโรคนี้ถึง 400 ราย ถึงแม้จะมีวัคซีนผลิตออกมาและนำมาฉีดในเด็กญี่ปุ่นกันมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่เคยมีการศึกษาประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนนี้กันอย่างจริงจัง เคยมีการทดลองในเกาหลีครั้งหนึ่ง แต่เผอิญไม่มีการระบาดของโรคนี้ในช่วงเวลาที่ทดลอง จึงไม่สามารถประเมินผลได้ชัดเจน เนื่องจากเชื้อไวรัสเจอีนี้มีความสัมพันธ์อยู่ในครอบครัวไวรัสเดียวกันกับเชื้อไวรัสไข้เลือดออกเดงกี่
 

คณะผู้วิจัยจากสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ทดลองประสิทธิภาพของวัคซีนที่จังหวัดกำแพงเพชร ได้ทดลองฉีดวัคซีนนี้แก่เด็กไทยอายุ 1-14 ปี ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2527 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2528 โดยฉีดสองครั้ง ๆ ละ 1 มิลลิลิตรเข้าใต้ผิวหนังห่างกัน 7 วัน (ถ้าเด็กอายุน้อยกว่า 3 ปีฉีดเพียงครึ่งมิลลิลิตรเท่านั้น) แล้วเปรียบเทียบกับการฉีดยาหลอก โดยฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักเพื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนไวรัสเจอี

ผลการทดลองพบว่า หลังได้รับวัคซีน กลุ่มเด็กทดลองมีอัตราการเกิดโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสเจอีเพียง 5 ใน 100,000 ซึ่งต่ำกว่าในกลุ่มเด็กควบคุมกลุ่มที่ฉีดยาหลอกที่เกิดโรคนี้ถึง 51 ใน 100,000 ผลแทรกซ้อนจากวัคซีนไวรัสเจอี มีน้อยมาก และไม่ต่างจากกลุ่มควบคุม เช่น มีไข้ ปวดหัว เป็นต้น ไม่มีภาวะแพ้ยารุนแรง หรือสมองอักเสบจากวัคซีนนี้ สำหรับไข้เลือดออกจากเชื้อเดงกี่นั้น ผลกาศึกษาพบว่าอัตราการเกิดโรคน้อยลง ในกลุ่มที่ได้รับวัคซีนไวรัสเจอี แต่ไม่มีนัยสำคัญทาสถิติ และในรายที่เกิดไข้เลือดออกนี้ ความรุนแรงของโรคลดลงด้วย
คณะผู้วิจัยสรุปว่า วัคซีนไข้สมองอักเสบสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอาจมีผลช่วยลดความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกจากเชื้อเดงกี่ได้ด้วย

น.พ. สาธิต วรรณแสง

(จาก : Hoke Ch, Nisalak A, Sangawhipa N, et al. Protection against Japanese encephalitis by inactivated vaccines. N Engl J Med 1988 ; 319:608-14.)

ข้อมูลสื่อ

118-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 118
กุมภาพันธ์ 2532
ผศ.นพ.สาธิต วรรณแสง