• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เดินบำรุงกระดูก


จากการทดลองกับผู้หญิงในวัยหลังหมดประจำเดือนจำนวน 9 คน เป็นเวลา 1 ปี ผลปรากฏว่า กระดูกสันหลังส่วนล่างมีความหนาแน่นเพิ่มขึ้นจากต้นปีร้อยละ 3

โรคเกี่ยวกับกระดูกชนิดหนึ่งที่มักเกิดกับผู้สูงอายุคือโรคกระดูกพรุน (osteoporosis) ผู้ที่เป็นโรคนี้ กระดูกจะมีมวลและความหนาแน่นลดลง เป็นเหตุให้กระดูกพรุนเปราะ หักได้ง่าย และเมื่อหักแล้วมักจะต้องใช้นานในการรักษา

นักวิจัยกลุ่มหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยทัฟตส์ สหรัฐอเมริกา ได้พยายามค้นหาวิธีป้องกันไม่ให้ผู้สูงอายุเป็นโรคนี้ จนได้พบวิธีที่ประหยัดที่สุดและมีผลดีต่อสุขภาพโดยรวม โดยที่ไม่ต้องกินยา หรือกินแคลเซียม บำรุงกระดูกให้เปลืองเงินแต่อย่างใด
วิธีนั้นคือ การเดินอย่างเร็ว วันละ 45 นาที

นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทดลองกับผู้หญิงในวัยหลังหมดประจำเดือน จำนวน 9 คน ด้วยการกำหนดให้ทุกคนเดินอย่างเร็วสัปดาห์ละ 4 วัน ๆ ละ 45 นาทีเป็นเวลา 1 ปี โดยระยะ 8 เดือนหลังต้องคาดเข็มขัด น้ำหนักประมาณ 3.6 กิโลกรัมเพื่อเพิ่มแรงในการเดินยิ่งขึ้น
ผลปรากฏว่า เมื่อครบปีกระดูกสันหลังส่วนล่างของหญิงสูงอายุเหล่านี้มีความหนาแน่นเพิ่มขึ้น จากเมื่อตอนต้นปีร้อยละ 3 ขณะที่ผู้หญิงอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีวัยและความแข็งแรงของร่างกายเมื่อตอนต้นปีเท่ากับกลุ่มแรกแต่ไม่ได้ออกกำลังกายด้วยการเดินในระยะ 1 ปีนั้น กลับมีความหนาแน่นของกระดูกโดยเฉลี่ยลดลง จากตอนต้นปีร้อยละ 10

ดร. วิลเลียม อีแวนส์ ประธาน ห้องปฏิบัติการสรีรวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยทัฟตส์ กล่าวว่า “จากการทดลองนี้ สรุปได้ว่าการออกกำลังกายอาจจะเป็นวิธีที่ดีที่สุดวิธีหนึ่งในการป้องกันไม่ให้ความหนาแน่นในกระดูกของผู้สูงอายุลดน้อยลง"
ดร. อีแวนส์แนะนำว่าในผู้สูงอายุควรเดินเร็วให้นานและบ่อยเท่ากับที่ทำการทดลอง ส่วนเข็มขัดเพื่อเพิ่มน้ำหนักในการเดินนั้นไม่จำเป็นจะมีหรือไม่มีก็ได้ “เรายังไม่ได้ทำการศึกษาหาเกณฑ์ต่ำสุดของการเดินเร็วที่จะส่งผลดีต่อกระดูกของผู้สูงอายุ แต่ความนานและความถี่ของการเดินเร็ว ดังที่ได้ทดลองไปนั้นช่วยให้กระดูกแข็งแรงได้อย่างไม่มีปัญหา” ดร.อีแวนส์ กล่าวในที่สุด

 

(จาก Provention เดือนตุลาคม 1988 หน้า 8)

เอกพล วัฒน์
 

ข้อมูลสื่อ

117-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
เอกพล วัฒน์