• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยิน – หยาง

 
                                     


ผมต้องแจ้งให้ผู้อ่านทราบว่าผมจะเขียนคุยไปเรื่อย หากท่านมีข้อสงสัยขอเชิญเขียนมาแลกเปลี่ยนกันได้นะครับ... ฉบับที่แล้วได้กล่าวเกริ่นระหว่างแพทย์ตะวันออกกับแพทย์ตะวันตก ว่ามีการพัฒนาและการมองปัญหาอย่างไรอย่างคร่าว ๆ แล้ว ฉบับนี้จะพูดเปรียบเทียบเกี่ยวกับการมองปัญหาของแพทย์ตะวันออกกับแพทย์ตะวันตกต่อ

ขอให้ท่านผู้อ่านทำความเข้าใจว่า การแพทย์ตะวันตกและตะวันออกนั้น เราสามารถบอกว่าแบบไหน จะดีกว่ากัน เพราะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เราจะนำไปใช้ เช่น อุบัติเหตุหรือโรคปัจจุบันทันด่วน การช่วยชีวิตให้อยู่รอดอย่างรีบด่วนเป็นสิ่งสำคัญที่สุด การใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ตะวันตกก็จะช่วยชีวิตได้ในทันทีทันใด สำหรับโรคเรื้อรัง แพทย์ตะวันตกรักษาตามอาการ ส่วนแพทย์ตะวันออกจะรักษาโดนวิธีปรับสมดุลของร่างกาย ทำให้ร่างกายแข็งแรงเพื่อสู้กับโรคนั้น ๆ ถ้ามีอาการรุนแรงอาจใช้ยาแก้

การแพทย์ตะวันออกเป็นประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ โดยตัวของมนุษย์เอง(ทางตรง)จากการลองผิดลองถูกและปฏิบัติที่ซ้ำแล้วซ้ำอีก จนสรุปออกมาเป็นความรู้ และกฎเกณฑ์ทางการแพทย์ ต่างกับการแพทย์ตะวันตก ซึ่งเกิดจากการใช้ความรู้และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ตลอดจนการทดลองในห้องปฏิบัติการซึ่งเป็นทางอ้อม นำผลสรุปที่ได้จากการทดลองในห้องปฏิบัติการมาใช้กับมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ วิธีการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่จึงถูกนำไปรับใช้กับการแพทย์ตะวันตกได้อย่างแนบสนิท ผิดกับการแพทย์ตะวันออกซึ่งวิธีการและเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ สามารถที่จะนำมารับใช้การแพทย์ตะวันออกได้อย่างจำกัด จึงทำให้การแพทย์ตะวันออกเจริญเติบโตและพัฒนาไปช้ากว่าการแพทย์ตะวันตก อย่างที่เห็นในทุกวันนี้

อย่างที่ทฤษฎีพื้นฐานทางการแพทย์ของจีน ที่อาศัยปรัญญายิน-หยางมาอธิบาย เรื่องการดูแลรักษาสุขภาพ การรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และอื่น ๆ ทางการแพทย์  โดยตัวอักษรถือว่า ยิน หมายถึง เย็น ส่วนหยางถือว่า ร้อน “ยิน-หยาง” จึงเป็นคู่ขัดแย้งที่ตรงข้ามกัน ซึ่งทางปรัญญาถือว่าสองสิ่งนี้ต่อต้านกัน ขณะเดียวกันก็ควบคุมและสัมพันธ์ซึ่งกันและกันตลอดเวลา

จากปรัชญาข้างต้น ทางการแพทย์ตะวันออก-จีน เมื่อนำมาใช้การดูแลรักษาสุขภาพ เราจะเห็นว่าความคิด เป็นวิทยาศาสตร์แต่ยังไม่สามารถใช้ชีวิตทางการวิทยาศาสตร์มาอธิบายได้ชัดเจน (ตารางที่ 1) หน้าร้อน อากาศร้อนจะเป็นหยาง โดยทั่ว ๆ ไปร่างกายเราจะมีปัจจัยของหยางมากกว่ายิน เราจึงไม่ควรกินอาหารพวกหยางมากเพราะเท่ากับเป็นเพิ่มหยางในร่างกาย ถ้าเรากินทุเรียนมาก ๆ ซึ่งเป็นผลไม้พวกหยางก็จะรูสึกว่าอึดอัด อาจเจ็บคอ หรือที่เรียกกันว่า ร้อนในคนสมัยก่อนจึงแนะว่ากินทุเรียน(หยาง)แล้วควรกินมังคุด(ยิน) หรือน้ำเกลือตาซึ่งก็ขึ้นกับปริมาณการกิน ถ้าเรากินได้สมดุลกันก็ไม่เกิดการร้อนใน
เราจะเห็นว่าปู่ย่าตายาย หรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเราที่สอนมานั้นอาจจะไม่สามารถอธิบายให้เข้า
ใจได้ว่าทำไมถึงกินทุเรียนแล้วต้องกินมังคุดตาม แต่ที่แน่ ๆ ก็คือ กินแล้วรู้สึกกินทุเรียนได้อีกหลายลูก

ขณะนี้อากาศมักเย็นและหนาวร่างกายเราจะมีปัจจัยของยินมากกว่าหยาง หากเราดื่มน้ำขิงซึ่งเป็นหยาง จะรู้สึกร้อนหรืออบอุ่นขึ้น
เขียนไปเขียนมาก็วกมาเรื่องของกินคงจะหยุดเรื่องนี้ไม่ได้เสียแล้วฉบับหน้าจะคุยเรื่องอาหารการกินกับการแพทย์ตะวันออกดีไหมครับ...

 

ข้อมูลสื่อ

117-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 117
มกราคม 2532
วิทิต วัณนาวิบูล