• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟ้าทะลายโจร


 

ใคร ๆ มักจะคิดกันว่า คนที่เป็นแพทย์นั้นคงจะมีสุขภาพดี ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือถ้าเป็นก็คงไม่มากเหมือนคนธรรมดาทั่วไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว แพทย์นั้นก็ไม่แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไป มีการเจ็บไข้ได้ป่วย เช่น ไข้หวัด เป็นโรคนั่นโรคนี่ หรือแม้กระทั่งล้มหมอน นอนเสื่อในบางครั้งบางคราวได้เช่นกัน ในประเทศไทยมีการวิจัยเก็บข้อมูลแล้วพบว่าแพทย์มีอายุเฉลี่ยสั้นกว่าคนธรรมดาทั่วไปด้วยซ้ำ คือ “ตายเร็วกว่าคนธรรมดานั่นเอง” สาเหตุเป็นเพราะอาชีพแพทย์ เป็นอาชีพแพทย์ที่มีสิ่งแวดล้อมที่จะต้องเจอกับโรคภัยไข้เจ็บ สัมผัสกับเชื้อโรครังสี สารเป็นพิษต่าง ๆ อยู่เป็นประจำ อีกประการก็คือ การที่แพทย์ต้องคอยแก้ปัญหาให้กับ “ผู้ป่วย” อื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา บ่อยครั้งแพทย์จะทำงาน “ค่อนข้างหนัก” และมีแนวโน้มที่จะมีความเครียดทางอารมณ์ได้ในทุกเวลา โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องเผชิญกับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยอาการหนัก ๆ

ผมเป็นแพทย์ทำงานอยู่โรงพยาบาลต่างจังหวัด ที่มีแพทย์น้อย แต่มีผู้ป่วยมากมาย ในแต่ละวัน แพทย์ในที่ทำงานจึงอยู่ในสภาพทำงานค่อนข้างหนัก บ่อยครั้งแพทย์เวรต้องอยู่เวรดูผู้ป่วยทั้งคืนโดยไม่ได้นอนเลย หรือนอนเพียง 3-4 ชั่วโมง พอเช้าขึ้นมาก็ต้องทำงานต่อ บางครั้งแพทย์จึงเกิดอาการป่วย เพราะพักผ่อนไม่เพียงพอตัวผมเองมักจะมีอาการ เจ็บคอ ไอ เป็นไข้อยู่เป็นประจำ ถ้าช่วงนั้นพักผ่อนไม่เพียงพอ ระยะแรก ๆ ตอนรับราชการใหม่ ๆ ก็รักษาตัวด้วยยาพื้น ๆ ธรรมดา คือ พวกยาเพนิซิลลินสำหรับแก้อักเสบและฆ่าเชื้อโรคนั่นเอง โดยเฉลี่ยปีหนึ่งจะเจ็บป่วยด้วยอาการที่ว่าประมาณปีละ 3-4 ครั้ง

ต่อมาในปีที่ 2-3 เริ่มสังเกตพบว่า ยาเพนิซิลลินธรรมดาเริ่มเอาไม่อยู่แล้ว ก็ต้องเปลี่ยนไปกินยากลุ่มแอมพิซิลลิน (ampicillin) อะม็อกซีซิลลิน (amoxycillin) ถึงจะทำให้โรค และอาการหายไปได้บ้าง
พอมาเข้าปีที่ 4-5 พบว่ากินยาแอมพิซิลลินและอะม็อกซีซิลลินบางที 7-10 วัน โรคก็ไม่หายเลยต้องเปลี่ยนไปกินอีริโทรมัยซิน (erythromycin) ซึ่งเป็นยาอีกกลุ่มหนึ่ง
หลายท่านอาจไม่เข้าใจ ทำไม โรคที่เคยกินยาชนิดหนึ่งหาย ต่อมา ทำไมถึงควบคุมโรคด้วยยาเดิมไม่ได้ ทั้งนี้สาเหตุเป็นเพราะ ยาชนิดใดชนิดหนึ่ง เมื่อใช้กับร่างกายไปนาน ๆ บ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง เชื้อโรคจะจำยาได้และสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา ทำให้ยานั้นหมดสมรรถภาพ หรือหมดความสามารถในการทำลายเชื้อนั้นอีกต่อไปโดยทั่วไปเชื้อโรคต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลจะมีอัตราการดื้อยา มีภูมิต้านทานต่อยาชนิดต่าง ๆ มากและเร็วกว่าเชื้อโรคที่พบในชุมชนทั่วไป การติดเชื้อในโรงพยาบาล (nosocomial inflection) จึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในการเยียวยารักษามากกว่าปกติ

ระยะหลัง ๆ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา อาการของผมยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะกินยาอีริโทรมัยซินก็ไม่หาย เคยทดลองย้อนกลับไปกินยาตระกูลเพนิซิลลินและแอมพิซิลลินใหม่ก็ยิ่งแย่ใหญ่ อาการไม่ดีขึ้นเลย บางครั้งเป็นหลอดลมอักเสบนานเป็นเดือน ครั้งสุดท้ายก็เลยต้องเปลี่ยนไปกินยาที่แพงและไม่ค่อยมีใครใช้กัน เช่น เมดิคามัยซิน (medicamycin) พอหาย แล้วผมก็มานั่งคิดว่าตายแน่ ถ้ายังขืนเป็นแบบนี้ต่อไปอีก ถ้าเกิดผมป่วยเป็นอะไรรุนแรงขึ้นมากกว่านี้ จะมีปัญหามากในการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ เพราะกินยาอะไรเข้าไปก็อาจดื้อหมด และเคยมีตัวอย่างมาแล้วที่แพทย์ป่วยต้องฉีดยาแล้วให้ยาพื้น ๆ เข้าไป ถ้าเอาไว้ไม่อยู่ก็ต้องใช้ยาแพงและมีฤทธิ์ยาสูง
บังเอิญผมมีโอกาสได้เข้าร่วมโครงการการวิจัยเรื่อง การใช้ฟ้าทะลายโจรรักษาโรคเจ็บคอ ซึ่งเป็นสมุนไพรตัวหนึ่งที่อยู่ในระหว่างการวิจัยเพื่อใช้ในชุมชนในอนาคต จากประสบการณ์ของผมเองมีผู้ป่วยหลายคนที่หายจากอาการเจ็บคอ ไข้ ไอ แบบที่ผมเป็นโดยการกินฟ้าทะลายโจรเฉย ๆ หรือฟ้าทะลายโจร ควบกับยาเพนิซิลลิน

ฟ้าทะลายโจรนั้นเป็นพืชสมุนไพรที่หาได้ไม่ยาก มีสารออกฤทธิ์แก้อักเสบ จากการวิจัยศึกษาของหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบไม่พบว่าฟ้าทะลายโจรมีปฏิกิริยาที่เป็นอันตรายอย่างใดต่อผู้ป่วย
อยู่มาวันหนึ่งผมอดนอนอีก ตื่นเช้าขึ้นมาก็เจ็บคอ ไอ เป็นอยู่ 2-3 วันกินยาอีริโทรมัยซินก็ไม่ดีขึ้น ผมเลยคิดว่าลองดูซักที ใช้กับคนอื่นมามากแล้ว ลองกินดูเองบ้าง ผมเลยลองกินยาเพนิซิลลินควบกับฟ้าทะลายโจรตามขนาดที่คณะวิจัยให้ไว้ ไม่น่าเชื่อเลยครับว่า วันรุ่งขึ้นอาการของผมจะดีขึ้นเร็วมากอีก 2 วันต่อมาอาหารหายแทบเป็นปลิดทิ้ง
ครั้งนั้นหายจากโรคเจ็บคอ ผมยังไม่ค่อนแน่ใจว่าอาการของผมหายจากฤทธิ์ของฟ้าทะลายโจรเป็นส่วนเสริมด้วยหรือไม่ 3-4 เดือนต่อมา พอผมมีอาการอีกก็เลยทดลองกินแค่เพนิซิลลินอย่างเดียว กินอยู่ 3-4 วัน ไม่ดีขึ้นเลย ไอมากขึ้น ตัดสินใจลองกินฟ้าทะลายโจรควบกับเพนิซิลลิน ผลเหมือนเดิมเพียง 1-2 วันต่อมา อาการเจ็บคอ ไอ ของผมทุเลาหายอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ แทบทุกครั้งที่ผมมีอาการดังกล่าว ผมกินเพนิซิลลินกับฟ้าทะลายโจรลูกกลอน อาการก็ทุเลาหายดีทุกครั้ง

ทั้งหมดที่เล่าให้ฟังนี้ไม่ได้หมายความว่ายาฟ้าทะลายโจรจะเป็นยาที่ใช้ได้ผลดีในการรักษาโรคไข้ เจ็บคอ ไอ ในผู้ป่วยทุกราย แต่อย่างน้อยผมคิดว่าประสบการณ์ของผมเองที่เป็นแพทย์แผนปัจจุบัน (ซึ่งไม่ค่อยยอมเชื่ออะไรง่าย ๆ) ได้ทำให้เกิดแง่คิดขึ้นว่า ฟ้าทะลายโจรน่าจะเป็นยาที่สามารถใช้รักษาอาการเจ็บคอ มีไข้ได้ ถ้ามีการศึกษาเพิ่มเติมกันมากกว่านี้
 

ข้อมูลสื่อ

116-015
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
หมอบ้านนอก