• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

การแพทย์ตะวันออก ตะวันตก

 
ท่านที่ไม่เคยพบคำว่า “แพทย์แผนตะวันออก” (oriental traditional medicine) มาก่อน ก็คงสงสัยว่า ผู้เขียนก็คงเขียนชื่อเรื่องผิดไปหรือไม่ เพราะเรามักจะได้ยินหรือเห็น แต่แพทย์ตะวันตกหรือแพทย์แผนปัจจุบัน (western or modern medicine) หรือไม่ก็แพทย์แผนโบราณ ซึ่งเป็นแผนพื้นบ้าน (folk medicine) ของแต่ละประเทศ

การใช้คำว่า “แพทย์แผนโบราณ” มีส่วนทำให้คนส่วนใหญ่มองว่า การแพทย์พื้นบ้านของเราเป็นของเก่าเก็บหรือของที่เสื่อมอายุล้าสมัยเป็นเต่าล้านปี ถ้าพูดถึงคงเชยแหลกเป็นแน่ แต่ที่แน่ ๆ การแพทย์ตะวันตกที่เราเรียกเสียโก้ว่า แพทย์แผนปัจจุบันนั้น เรามักมองว่า เป็นการแพทย์ที่ดีที่สุดในปัจจุบัน
เพื่อเป็นการแยกแยะให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน ผู้เขียนจึงเรียกแพทย์แผนโบราณของเอเชียเราว่า ‘แพทย์แผนตะวันออก’ แทน หากมองในแง่ทวีปเอเชียแล้ว เราสามารถแบ่งการแพทย์ตะวันออก เป็นหลักใหญ่ ๆ ได้ 3 หลักคือ จีน อินเดีย (หรือที่เรียกว่า อายุรเวท-Ayurveda) และอาหรับ (หรือที่เรียกว่า ยูนานิ-Unani) นอกจากนั้นก็มีของชนชาติอื่น ๆ ที่เป็นส่วนย่อย ๆ อีก เช่น มองโกล ซินเกียง ฯลฯ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า การแพทย์ตะวันออกนั้นมีความแตกต่างกับการแพทย์ตะวันตกอย่างมากมาย ความแตกต่างนั้นเกิดขึ้นจากเงื่อนไขของประวัติศาสตร์

การแพทย์ตะวันออกมีประวัติอันยาวนานเป็นพัน ๆ ปี เกิดและพัฒนาในขณะนั้น วิทยาศาสตร์ ธรรมชาติยังไม่เจริญ ยังไม่แตกหน่อออกมา ความรู้ต่าง ๆ ล้วนเป็นผลสืบเนื่องมาจากการสะสมประสบการณ์ในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ที่คอยเบียดเบียนมาตั้งแต่อดีตกาลจนถึงปัจจุบัน การแพทย์ตะวันออกจึงมองว่าอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกายมนุษย์ มีการทำงานที่สัมพันธ์และเป็นหนึ่งเดียวกัน นอกจากนี้ร่างกายยังมีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงจักรวาล การแพทย์ตะวันออกมองปัญหาต่าง ๆ ในแนวกว้างหรือแนวราบมากกว่าในแนวลึกหรือแนวดิ่ง ทั้งนี้เพราะแพทย์ตะวันออกเกิดขึ้นและพัฒนาภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด คือ ขาดเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะช่วยให้มองลึก ส่วนแพทย์ตะวันตกนั้น จากการค้นพบกล้องจุลทรรศน์ ทำให้แพทย์ตะวันตกก้าวหน้าไปอย่างมากมาย นอกจากนี้ยังมีเครื่องมืออื่น ๆ ที่ทำให้สามารถวินิจฉัยโรคให้ละเอียดได้ เช่น คอมพิวเตอร์ สมอง ฯลฯ ทำให้สามารถมองในแนวลึกหรือแนวดิ่งได้ละเอียดชัดเจนขึ้น การที่แพทย์ตะวันออกมองปัญหาในลักษณะที่สัมพันธ์กัน มองทุกอย่างที่อยู่ใกล้ ๆ ตัวสัมพันธ์กันหมด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ การแก้ปัญหาจึงใช้วิธีการแบบองค์รวม (Holistic)เรื่องของการแพทย์ตะวันออก จึงไม่ใช่เรื่องของการแพทย์อย่างเดียวล้วน ๆ แต่เป็นเรื่องของปรัชญา ความคิดที่ครอบคลุมไปถึงวิถีการดำเนินชีวิตแบบตะวันออก ซึ่งแตกต่างจากตะวันตก

ส่วนการแพทย์ตะวันตกนั้น มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในยุคหลัง จากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในอังกฤษ ในราวศตวรรษที่ 15-17 หลังจากกาลิเลโอแล้ว ก็มีการคิดค้น มีการค้นพบสิ่งต่าง ๆ มากมายผลพวงของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในแง่ของปรัชญาความคิด ทำให้เกิดวิธีการมองปัญหาแบบลงลึก อย่างเช่น นักวิทยาศาสตร์ ชาวฮอลันดาที่ค้นพบกล้องจุลทรรศน์ ทำให้มองลึกลงไปถึงเซลล์ แล้วมองลึกลงไปเรื่อย ๆ จนถึงยีนไมโครโมโซม ดีเอนเอ อาร์เอนเอ เป็นต้นยิ่งในปัจจุบันสามารถลงลึกไปมาก และละเอียดยิ่งขึ้น เพราะเรามีกล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายสูง ทำให้เรามอปัญหาในแง่จุลภาค (microscopic) ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น วิธีการมองปัญหา จะมองในลักษณะของจุลภาค สิ่งที่ควบคู่มาจากการมองปัญหาแบบนี้คือใช้วิธีการศึกษาแบบวิเคราะห์ (analysis)

การศึกษาแบบวิเคราะห์คือ การแยกส่วนย่อย ๆ มาจากส่วนใหญ่ เรียกว่า วิเคราะห์ เป็นการมองปัญหาแบบจุลภาค วิธีการมองปัญหาและการศึกษาแบบนี้ก่อให้เกิดมรรควิธี (methodology) ในการแก้ปัญหาแบบเป็นจุด ๆในทางปรัชญาเรียกวิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ว่าการแก้ปัญหาแบบกลไก (mechanism) การแก้ปัญหาแบบนี้เป็นลักษณะเด่นของการแพทย์สมัยใหม่ เป็นผลพวงที่เกิดจากความก้าวหน้าและการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี
กล่าวอีกนัยหนึ่ง การมองปัญหาแบบจุลภาค การศึกษาแบบวิเคราะห์ และการแก้ปัญหาเป็นส่วน ๆ (เป็นจุด ๆ) นั้น เป็นผลิตผลที่เกิดขึ้น เมื่อสังคมและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ได้เจริญก้าวหน้าไปถึงจุด ๆ หนึ่ง นั่นเอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราจับลักษณะเด่นของการแพทย์ตะวันออกและตะวันตกนี้ได้ชัดเจน เราก็จะบอกได้เลยว่า ในการแก้ปัญหาแต่ละปัญหาที่เกิดขึ้นในทางการแพทย์ เราจะใช้มรรควิธีในการแก้ปัญหานั้น ๆ

การแพทย์ทั้งสองแบบนี้ต่างก็มีจุดเด่นและจุดด้อยในตัวเอง ในการแก้ปัญหาทางการแพทย์นั้น เราจะใช้มรรควิธีใดหรือจะผสมผสานมรรควิธีทั้งสองเข้าด้วยกันอย่างไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาทางการแพทย์ ทำให้การแพทย์ทั้งสองแบบกลายเป็นเครื่องมืออันทรงประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บ ทำให้มีชีวิตที่เป็นสุขได้อย่างไร ปัญหานี้ เป็นสิ่งที่ท้าทายบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสองแบบที่จะต้องไปขบคิด และนำไปใช้ให้เกิดคุณูปการต่อสุขภาพของมนุษยชาติในอนาคตต่อไป
 

ข้อมูลสื่อ

116-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
วิทิต วัณนาวิบูล