• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

โรคคุชชิ่ง / โรคสเตียรอยด์ทำ

 

      

คนไข้ในภาพนี้มีลักษณะอาการที่เด่นชัดคือ
หน้าอูมกลมเป็นวงพระจันทร์ แก้มแดง หน้าท้องลาย พุงป่อง มีก้อนไขมันที่ต้นคอและหัวไหล่ ขาลีบนี่คือลักษณะอาการของโรคชนิดหนึ่งที่เรียกว่า“โรคคุชชิ่ง "(Cushing’s syndrome)  ส่วนมากเกิดจากการใช้ยาสเตียรอยด์ติดต่อกันนาน ๆ

ยาสเตียรอยด์ที่รู้จักกันดี ได้แก่ เพร็ดนิโซโลน และเดกซาเมทาโซน
โรคบางชนิด แพทย์จำเป็นต้องใช้ยานี้รักษาเป็นแรมเดือนแรมปี จึงอาจทำให้เกิดผลแทรกซ้อนเป็นโรคคุชชิ่งตามมาได้ แต่ก็ถือว่าเป็นค่าแลกเปลี่ยนกับการรักษาโรคเดิมที่มีอันตรายกว่า เมื่อโรคเดิมทุเลาลงและแพทย์ค่อย ๆ ลดการใช้สเตียรอยด์ อาการของโรคคุชชิ่งก็จะค่อย ๆ หายไปได้ในที่สุด
แต่คนไข้บางคนที่เป็นโรคหอบหืด โรคแพ้อากาศ หรือโรคปวดข้อเรื้อรัง ซึ่งสามารถรักษาด้วยยาอื่นที่ปลอดภัยกว่า แต่ไม่ทันใจ จะหันไปซื้อสเตียรอยด์กินเอง ซึ่งก็ช่วยให้อาการทุเลาไปได้ แต่เมื่อหยุดยา ก็กำเริบได้ใหม่ ดังนั้นคนไข้ก็จะกินยานี้ไปเรื่อย ๆ พอนานเข้าก็จะทำให้กลายเป็นโรคคุชชิ่งได้
จึ่งกว่าได้ว่าโรคคุชชิ่งเป็น “โรคสเตียรอยด์ทำ” ชนิดหนึ่ง

นอกจากอาการดังกล่าวแล้ว คนไข้ยังมีอาการอื่น ๆ เช่น สิวขึ้น ขนอ่อนขึ้น เสียงแหบห้าวเหมือนผู้ชาย มีจ้ำเขียวพรายย้ำตามผิวหนัง อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ความดันเลือดสูง เป็นเบาหวาน เป็นแผลในกระเพาะอาหาร กระดูกหักง่าย และมีภูมิต้านทานโรคต่ำทำให้ติดเชื้อง่าย (เช่น เป็นฝี พุพองง่าย กระเพาะปัสสาวะอักเสบบ่อย วัณโรคปอด เป็นต้น)ดังนั้น ทางที่ดีก็จงอย่าตกเป็นเหยื่อของยาชนิดนี้ ยกเว้นในรายที่จำเป็น ควรให้แพทย์เป็นผู้สั่งการรักษา และเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดจะปลอดภัยกว่า
นอกจากสาเหตุจากการใช้ยาสเตียรอยด์แล้ว โรคคุชชิ่งยังอาจมีสาเหตุจากโรคเนื้องอกของต่อมหมวกไต หรือเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่ทำให้ร่างกายสร้างสเตียรอยด์ออกมามากผิดธรรมชาติ ก็ทำให้เกิดอาการของโรคคุงชิ่งได้ แต่ก็พบได้เป็นส่วนน้อย ในกรณีนี้จำเป็นต้องรักษาด้วยการผ่าตัดซึ่งจะช่วยให้หายขาดได้

 

ข้อมูลสื่อ

116-012
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ