• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ข้อควรระวัง ก่อนทำการนวด (ตอนที่ 3)

การแพทย์ไทย หรือที่มักเรียกว่า การแพทย์แผนโบราณ มีบทบาทสำคัญในการบำบัดรักษาโรคของชาวไทยมาช้านานหลายชั่วอายุคน จวบจนอิทธิพลของตะวันตกใต้เข้ามามีบทบาท ทำให้แพทย์ไทยถูกละเลยและทอดทิ้ง โครงการฟื้นฟูการนวดไทย กำเนิดขึ้นมาเพื่อสืบทอดของดีของบรรพบุรุษของเรา เพื่อนำมาช่วยกันสร้างหนทางแห่งการพัฒนาการพึ่งตนเองเพื่อความเป็นโรคต่อไป

                            

 

 

⇒ ต้นแขน
ด้านหน้าและด้านหลังต้นแขน เป็นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ที่ทำหน้าที่งอข้อศอก และเหยียดข้อศอกตามลำดับ การนวดช่วยแก้ปวดเมื่อยได้อย่างดีในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งต้องใช้กล้ามเนื้อทั้ง 2 มัดนี้มาก
ด้านข้างของต้นแขนมีเส้นประสาททอดผ่านลงมาเลี้ยงที่กล้ามเนื้อเหยียดข้อมือและนิ้วการคลึงเส้นประสาทบริเวณนี้อย่างรุนแรงอาจทำให้เส้นประสาทนี้เสียไป กล้ามเนื้อเป็นอัมพาตกระดกข้อมือขึ้นไม่ได้


⇒ ข้อศอก
ในเด็ก ข้อศอกเป็นข้อที่หลุดได้ง่ายและกระดูกแตกหักได้ง่าย เนื่องจากกระดูกต่อกันไม่สมบูรณ์ เส้นประสาทที่อยู่ด้านหลังและเยื้องทางด้านในของปลายศอก เลี้ยงกล้ามเนื้อที่ควบคุมนิ้วก้อย การชนถูกเส้นประสาทเส้นนี้ ทำให้มีอาการปวดเสียวแปลบไปตามด้านข้างของนิ้วก้อยทันที การนวดที่เส้นประสาทนี้จึงอาจทำให้นิ้วมือเหยียดไม่ออก และมีการลีบของกล้ามเนื้อมือได้ ที่บริเวณข้อพับของข้อศอกมีหลอดเลือดใหญ่ทอดผ่านด้านในของกล้ามเนื้อสองหัว (กล้ามเนื้อลูกหนู) ซึ่งใช้เป็นบริเวณที่วางหูฟังเวลาวัดความดันเลือด การกดที่รุนแรง บริเวณนี้มักทำให้หลอดเลือดฉีกขาด เกิดอาการบวมตลอดแขน จึงไม่ควรนวดหรือกดแรงเกินไป

ที่ปุ่มกระดูกด้านนอกและด้านในของกระดูกต้นแขนเหนือข้อศอก เป็นที่เกาะของกล้ามเนื้อ กระดูกข้อมือและนิ้วมือ มักจะฉีกขาดบ่อย ในผู้ที่เล่นกีฬาจำพวกไม้ตี เช่น เทนนิส แบตมินตัน หรือกอล์ฟ แต่สาเหตุที่พบบ่อยในชาวบ้านมักเกิดจากการตักน้ำ หรือหิ้วของหนัก การกดที่บริเวณทั้งสองนี้ ถ้ารุนแรงมากอาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาดมากขึ้น ทำให้การรักษาไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร และมีอาการเรื้อรังมาก เพราะเกิดเป็นพังผืดหรือแผลเป็นภายในกล้ามเนื้อได้ง่าย


⇒ข้อมือ

มีหลอดเลือด 2 เส้นทอดผ่านทางด้านหน้า ซึ่งหลอดเลือดทางด้านหัวแม่มือแพทย์ใช้เป็นที่จับชีพจร
ข้าง ๆ หลอดเลือดทั้ง 2 มีเส้นประสาททอดขนานเพื่อผ่านขึ้นไปเลี้ยงกล้ามเนื้อที่บริเวณเนินทั้งสองของมือที่ฐานนิ้วหัวแม่มือและนิ้วก้อย
ถ้ามีอาการอักเสบของพังผืดที่บริเวณข้อมือด้านหน้า จะทำให้พังผืดรัดตัวเข้า ถูกเส้นประสาทและให้หลอดเลือดทั้ง 2 ทำให้กล้ามเนื้อของเนินทั้ง 2 ลีบลงได้ การรักษาต้องผ่าตัดกรีดเอาพังผืดออก
ดังนั้น การนวดที่บริเวณนี้จึงต้องระมัดระวัง อย่าให้รุนแรงเกินไปจนเกิดการอับเสบของพังผืดหรือกดถูกเส้นประสาททั้ง 2


⇒หลัง
การนวดด้วยมือค่อนข้างปลอดภัย แต่การนวดโดยขึ้นไปเหยียบ อาจทำให้กระดูกหลังหรือซี่โครงหักได้ การที่กระดูกสันหลังหักและทิ่มเข้าไปในไขสันหลัง ทำให้เป็นอัมพาตครึ่งท่อนทั้ง 2 ขา กระดูกซี่โครงหัก อาจทำให้ตกเลือดในช่องปอดถึงแก่ชีวิตได้

อาการปวดหลังมีสาเหตุมาจากโรคมากมาย แต่ว่าการปวดหลังที่ปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ เกิดจากท่าการทำงานที่ไม่ถูกต้อง การนวดมักได้ผลดี และควรแนะนำท่าการทำงานที่ถูกต้องด้วยทุกครั้งเพื่อป้องกันอาการปวดหลัง

 

ข้อมูลสื่อ

109-014
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
นวดไทย
โครงการฟื้นฟูการนวดไทย