• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตามัว (ตอนที่ 3)


ข. เป็นขึ้นภายหลัง
ตามัวที่เกิดภายหลังกำเนิดมาแล้ว อาจจะแบ่งเป็นข้อ ๆ หรือขั้นตอน ให้อ่านเข้าใจง่ายได้พอสังเขปดังนี้
 

                            


1. ตาเข
หรือตาเหล่ ภาวะตาเขหรือตาเหล่อยู่กึ่งกลางระหว่าง แต่กำเนิดหรือเกิดขึ้นภายหลังก็ได้ แท้ที่จริงภาวะตาเข อาจมีตั้งแต่แรกคลอดเลยก็ได้หรือจะมาเกิดภายหลังคลอดไปแล้วประมาณ 6 เดือนหรือ 1 ขวบก็ได้ ขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ภาวะ แต่ที่แน่ ๆ คือตาเขมักจะพบในเด็กเล็ก ๆ ประมาณตั้งแต่ 1 ขวบขึ้นไป จนกระทั่งเด็กโต เลยไปถึงผู้ใหญ่
ตาเขอาจจะเป็นชนิดใดชนิดหนึ่งก็ได้ คือเขเข้าใน (ตาดำมุดเข้าหาหัวตา) หรือเขออกนอก (ตาดำเบนออกไปทางหางตา) หรือแม้แต่เขขึ้นบนหรือลงล่างได้ทั้งนั้น ผู้มีตาเขจะทำให้ตาข้างนั้นมัวลงสายตาจะด้อยกว่าตาข้างที่ตรง

 

2. สายตาผิดปกติ คือสายตาสั้น, สายตายาวหรือสายตาเอียง พวกนี้ตาจะมัว จะตรวจพบได้เสมอในเด็กก่อนวัยเรียน หรือวัยที่กำลังเรียนประถมต้น เด็กจะบ่นว่ามองครูเขียนตัวหนังสือบนกระดานไม่ชัด หรือชอบอ่านหนังสือใกล้ชิดตา ดูทีวีใกล้มาก บ่นปวดศีรษะ ปวดกระบอกตาให้บิดามารดาผู้ปกครองฟังเสมอ ๆ หรือเรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง เพราะมองไม่ค่อยเห็นการบ้านบนกระดานดำ และอีกหลาย ๆ อย่าง ควรนำไปตรวจวัดสายตาดู แว่นตาจะช่วยได้

 

3. อุบัติเหตุ ภาวะอุบัติเหตุต่าง ๆ ที่กระทบกระทั่งนัยน์ตามีผลทำให้ตามัวลงได้ทันที ตั้งแต่อุบัติเหตุชนิดแผ่วเบาจนถึงรุนแรงลูกตาแตก บอดสนิทในทันที

 

4. มีความผิดปกติ เกิดการอักเสบติดเชื้อ มีแผลทีกระจกตาดำ หรือเกิดการอักเสบที่ม่านตา วุ้นลูกตาอักเสบมีหนอง จอประสาทตาอักเสบ ฯลฯ เป็นต้น

 

5. เป็นผลมาจากโรคทางร่างกาย อวัยวะส่วนอื่นกระทบมาถึงตา ยกตัวอย่างเป็นต้นว่าโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวานที่เป็นมานาน ๆ ห้าปีหรือสิบปี โรคทางเนื้อเยื่ออื่น ๆ โรคเกี่ยวกับข้อต่อ วัณโรคเรื้อรัง โรคซิฟิลิส รวมไปถึงโรคภูมิแพ้ โรคระบบประสาทสมอง เช่น ก้อนมะเร็ง หรือหลอดเลือดโป่งพองโตกดบริเวณใดบริเวณหนึ่งที่ใกล้ชิดติดกับประสาทตาทำให้ตามัว ลานสายตาผิดปกติ

 

6. มะเร็งลูกตา ใครเป็นแล้ว น่ากลัว เมื่อเป็นชิ้นส่วนหนึ่งส่วนใดแล้วมีอันตรายถึงตาบอด หรือเสียชีวิตได้ก่อนจะบอด ตาจะมัวมาก่อนถ้ามะเร็งเกิดบริเวณแนวของลานสายตา

 

( อ่านต่อฉบับหน้า)

 

ข้อมูลสื่อ

110-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 110
มิถุนายน 2531
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์