• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ศีรษะล้าน

 

                                  

 

เส้นผมและทรงผมมีอิทธิพลต่อความสวยความงามของมนุษย์อย่างมากทีเดียว ใครที่ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้ก็จะไม่ซาบซึ้งถึงความสำคัญนัก
ผมคนเราในแต่ละช่วงเวลาจะมีอยู่ประมาณหนึ่งแสนเส้น ผมจะงอกยาวออกมาเฉลี่ยวันละประมาณครึ่งมิลลิเมตร หรือประมาณ 1 เซนติเมตรต่อเดือน อัตราการงอกนี้จะลดลงเมื่ออายุมากขึ้น

ปกติผมคนเราจะร่วงประมาณ วันละ 25-100 เส้น ถ้าวันไหนสระผมหรือดึงผมเล่นบ่อย ๆ โอกาสที่ผมจะร่วงมีมากขึ้นกว่าปกติ และถ้าผมร่วงอยู่ในเกณฑ์ปกติจะมีผมใหม่ขึ้นมาทดแทนเสมอ ทำให้จำนวนผมไม่ลดลงและศีรษะไม่ล้าน

 

 ศีรษะล้านคืออะไร
ศีรษะล้านเป็นอาการผมบาง หรือผมร่วง ซึ่งเกิดขึ้นช้า ๆ ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนใหญ่มักเป็นในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง ซึ่งเริ่มต้นเป็นจากชายผมก่อน พูดง่าย ๆ คือ เริ่มหัวเถิกก่อน และตรงกลางกระหม่อมจะเริ่มบางเป็นลักษณะเหมือนไข่ดาว สองส่วนนี้จะค่อย ๆ เลื่อนเข้ามาชนกัน พอชนกันปุ๊บศีรษะก็จะเหน่ง
สิ่งที่แปลกคือ เป็นเฉพาะด้านหน้ากับด้านบนเท่านั้น ส่วนผมที่อยู่ด้านข้างและท้ายทอยค่อนข้างจะทน และศีรษะล้านเป็นลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว และใช้เวลาเป็นปี ๆ หลาย ๆ ปี ส่วนการจะเกิดเร็ว เกิดช้าขึ้นกับแต่ละบุคคล

 

 ศีรษะล้านเป็นกรรมพันธุ์หรือไม่
ภาวะศีรษะล้านเป็นกรรมพันธุ์ ถ้านครอบครัวมีประวัติปู่ ตา ลุง พ่อ ศีรษะล้านหรือผมบาง ตัวเองก็มีโอกาสที่จะศีรษะล้าน ส่วนว่าจะล้านเมื่อไหร่นั้น ต้องแล้วแต่กรรมพันธุ์ของแต่ละคน บางคนอายุ 20 กระบวนการนี้เริ่มแล้ว บางคนอายุเลย 40 ยังไม่เกิดเลย เป็นความแตกต่าง และเป็นธรรมชาติของแต่ละบุคคล บางคนอายุ 30 เศษ ๆ เหน่งแล้ว เหมือนกับคนผมหงอก บางคนอายุยังไม่ถึง 30 หงอกแล้ว หรือบางคนอายุ 60-70 เพิ่งจะมีผมขาวประปราย ซึ่งขึ้นกับพื้นเพของแต่ละคน คนที่ไม่มีประวัติศีรษะล้านในครอบครัว ก็มีโอกาสศีรษะล้านได้(แต่น้อย) เพราะว่าทางพันธุกรรมมีลักษณะอย่างหนึ่ง เรียกว่า ผ่าเหล่า คือเกิดเฉพาะในคนบางคนเท่านั้น

คนไข้บางรายบอกว่าในครอบครัวไม่มีใครเป็นแบบนี้เลย ทำไมอยู่ดี ๆ อายุยังไม่ถึง 40 เหน่งแล้ว กรณีอย่างนี้ทำให้คนไข้เดือดร้อนมาก ถ้าเป็นคนที่มีประวัติของญาติพี่น้องศีรษะล้านจะทำให้ยอมรับง่ายกว่าเพราะเห็นมาแล้ว แต่ถ้าคนที่ไม่เคยมีประวัติ จะยอมรับยาก มีหลายคนวิตกกังวลว่า ผมร่วงมากกลัวจะล้านเร็วขึ้น อันนี้จะต้องทำความเข้าใจว่าศีรษะล้านเป็นไปโดยธรรมชาติ ค่อยเป็นค่อยไป เป็นตัวของตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมของเรา เช่น ไม่ว่าจะกินอาหารน้อยไป มากไป หรือจะออกกำลังกายหรือไม่ออกกำลังกายก็ตามที จะไม่มีผล เพราะว่าผมร่วงเป็นลักษณะธรรมชาติ

ศีรษะล้านเป็นเรื่องของกรรมพันธุ์ที่ได้มาตั้งแต่เกิดแล้ว แต่ลักษณะนี้จะแสดงออกได้ง่ายหรือยากขึ้นกับฮอร์โมน เช่น พี่น้อง 2 คน คนโตเป็นชาย น้องเป็นหญิง เกิดจากพ่อแม่เดียวกัน ทั้ง 2 คนได้รับยีน(พันธุกรรม)ศีรษะล้านมาทั้งคู่ พี่ชายจะแสดงอาการได้เด่นชัด เพราะว่าฮอร์โมนเพศชายจะช่วยทำให้ลักษณะอันนี้แสดงออกได้ง่าย ตรงกันข้าม ถ้าดูน้องสาว แม้จะมีลักษณะนี้อยู่ แต่ฮอร์โมนเพศหญิงจะปิดบังไม่ให้ยีนตัวนี้แสดงออก เพราะถ้าดูดี ๆ ก็อาจจะมีผมบาง แต่จะไม่ล้านเหมือนพี่ชาย ถ้าไปเทียบกับหญิงอื่นทั่ว ๆ ไป อาจจะมีผมบางกว่าคนอื่น
จริง ๆ แล้วศีรษะล้านในผู้หญิงก็เป็นไปได้ แต่มีลักษณะน้อยกว่า จึงไม่เรียกว่าศีรษะล้าน ซึ่งลักษณะนี้เป็นลักษณะเด่น และการที่ในร่างกายมีพันธุกรรมอะไรบางอย่างอยู่ในร่างกาย ไม่จำเป็นจะต้องแสดงออกมาทุกครั้งเสมอไป

 

 ความรุนแรงของศีรษะล้าน
ศีรษะล้านที่พบบ่อย เห็นกันอยู่ทั่ว ๆ ไปคือ โรคผมบางในวัยกลางคน มีชื่อเรียกไว้หลายอย่างด้วยกัน ตามแต่ลักษณะและระดับของความล้าน เช่น ทุ่งหมาหลง ดงช้างข้ามง่ามเทโพ ชะโดตีแปลง แร้งกระพือปีก ฉีกขวานกว้าง ราชคลึงเครา

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 


มีผู้จำแนกความรุนแรงของศีรษะล้านออกเป็น 7 ระยะด้วยกัน
1. ผมดกตามปกติ
2. เริ่มมีการถอยร่นของแนวผมเข้าไปตามขมับทั้ง 2 ข้าง
3. การถอยร่นมีมากจนเกือบศีรษะเถิก หรืออาจมีผมร่วงกลางกระหม่อมร่วมด้วย
4. ศีรษะเถิกมากขึ้นทั้งตามแถวขมับและแนวหน้าผาก
5. ศีรษะเถิกมากขึ้นอีก และกระหม่อมเริ่มมีผมบางลงชัดเจน
6. บริเวณศีรษะเถิก และบริเวณล้านกลางกระหม่อมขยายมาชนกัน
7. ศีรษะล้านทั้งศีรษะ มีไรผมบาง ๆ อยู่บ้าง มีผมเหลืออยู่แนวเหนือหูทั้ง 2 ข้างและด้านหลัง

 

 ศีรษะล้านรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
การรักษานั้นมีความพยายามกันมานานแล้ว และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ศีรษะล้านถือเป็นปมด้อย ตั้งแต่โบราณแล้ว (ตัวอย่างที่เห็นชัดในวรรณคดี คือ ขุนช้าง) และมีความพยายามที่จะรักษากันมาตลอดแต่ไม่เคยประสบความสำเร็จจริงจัง เพราะถ้าประสบความสำเร็จ คงไม่มีคนศีรษะล้านให้เห็นกันแล้ว

ปัจจุบันยาที่ใช้มีหลายชนิด แต่สรรพคุณเป็นเรื่องที่พิสูจน์ได้ยาก เพราะอาการศีรษะล้านเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่จำเป็นต้องเถิกไปเรื่อย ๆ ในอัตราเท่าเดิม สมมติว่าคน ๆ หนึ่งศีรษะเถิกวันนี้ กว่าจะล้านอาจใช้เวลาถึง 15 ปี แต่ในช่วง 15 ปีนี้ผมจะค่อย ๆ บางลงช้า ๆ ไม่จำเป็นจะต้องบางลงในอัตราที่เท่าเดิม บางครั้งเร็ว บางครั้งช้า และบางครั้งหยุดซึ่งต้องใช้เวลานานมาก สมมติว่าเอายายี่ห้อใดยี่ห้อหนึ่งมาทา ทาไปแล้วบังเอิญเป็นช่วงที่ผมร่วงมาก ก็บอกว่ายานี้ใช้ไม่ได้ผล ถ้าช่วงไหนทาไปแล้ว บังเอิญเป็นช่วงที่ผมร่วงน้อยก็บอกว่ายาใช้ได้ผล ทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดพลาดแก่ผู้ใช้ยา
ตั้งแต่สมัยโบราณถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสารเคมีใด ๆ ที่ได้รับการทดลอง และพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ส่าสามารถทำให้ผมขึ้นได้ เพราะฉะนั้นการที่จะบอกว่ายาตัวไหนมีสรรพคุณหรือมีประสิทธิภาพที่จะทำให้ผมขึ้น จะต้องมีการทดลองศึกษาวิจัยก่อน ไม่ใช่ทดลองกันในกลุ่มเล็ก ๆ ซึ่งอาจจะได้ผลแค่ 1 ใน 100 แล้วบอกว่าได้ผล

 

 ศีรษะล้านกับยาลดความดันเลือด
ในสหรัฐอเมริกามีการค้นพบยาชนิดหนึ่งชื่อ มิน็อกซิดิล (MINOXI-DIL) เป็นยาลดความดันเลือด แต่มีผลข้างเคียงคือ คนไข้ที่กินยานี้เข้าไปแล้วจะมีขนขึ้นทั้งตัวทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาจึงได้ประกาศเตือนว่า ใครก็ตามที่กินยาลดความดันเลือดโดยหวังจะให้ผมขึ้นนั้น ไม่สมควรอย่างยิ่ง เพราะความปลอดภัยในการใช้ยานี้ (กิน) เพื่อการปลูกผมยังไม่เคยมีการศึกษาวิจัยมาก่อน อาจจะเป็นอันตรายในระยะยาวได้ เพราะเป็นยาที่มีผลต่อระบบความดันเลือด
แต่ได้มีการคิดกันว่าถ้านำยานี้มาทาเฉพาะที่ ในความเข้มข้นที่เหมาะสมอาจทำให้ผมขึ้นได้ ผลการทดลองปรากฏว่า ทำให้ผมขึ้นได้จริง ในคนไข้ประมาณ 1 ใน 3 หลังทายา นาน 6 เดือน

ปัจจุบันยามิน็อกซิดิลยังอยู่ระหว่างการจดทะเบียนกับกระทรวงสาธารณสุข ส่วนยารักษาศีรษะล้านชนิดอื่นที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ยังไม่สามารถพิสูจน์ว่ารักษาศีรษะล้านได้จริง

 

 การผ่าตัดรักษาศีรษะล้าน
ศีรษะล้านสามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด แต่วิธีการทำยุ่งยากมาก เป็นการย้ายผม เข้าทำนองการปลูกหญ้า และวิธีการทำยุ่งยาก ต้องทำหลายครั้ง ในประเทศไทยเป็นเมืองร้อนจึงไม่นิยมทำกัน

 

 จะป้องกันศีรษะล้านได้อย่างไร
ป้องกันไม่ได้ เพราะเป็นธรรมชาติของคน เช่น เกิดมามีผิวสีดำ ถ้าจะทำให้ผิวขาวคงจะยากเช่นเดียวกับคนศีรษะล้าน ถ้าพยายามไปเป่าผม ไม่ไปทำอะไรกับผมมากนัก ผมอาจจะมีความแข็งแรงขึ้น หักน้อยลง แต่ผมก็ยังร่วงเหมือนเดิมเพราะเป็นที่รูขุมขน พฤติกรรมของมนุษย์มีส่วนน้อยมาก
ผลิตภัณฑ์ใดก็ตามที่อวดอ้างสรรพคุณ ไม่ว่าเป็นการป้องกัน หรือรักษา ผู้ผลิตมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณภาพตามที่อวดอ้างหรือไม่ และผลการทดลองควรจะได้ผลเกินร้อยละ 50 ไม่ใช่ได้ผลแค่ร้อยละ 1-2 ก็บอกว่าใช้ได้แล้ว และจะต้องบอกย้ำด้วยว่าใช้แล้วไม่ใช่จะได้ผลทุกคนเสมอไป
 

ข้อมูลสื่อ

112-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
เรื่องน่ารู้
นพ.อภิชาติ ศิวยาธร