• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ความเศร้าจำแลง


คนไข้ที่มีความเศร้าจำแลงนี้ มักจะมาหาหมอด้วยอาการทางกาย มิใช่มาบอกหมอตรง ๆ ว่าเบื่อโลก อยากตาย ฯลฯ

โรคความเศร้าออกจะมีอยู่แพร่หลายในทุกประเทศทั่วโลก ถึงกับมี “คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการป้องกัน และรักษาโรคซึมเศร้า” หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ดีเพรสชั่น ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ กรรมการแต่ละท่านล้วนเป็นศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยในประเทศต่าง ๆ เช่น สเปน, อิตาลี, สวีเดน, เยอรมัน, สหรัฐอเมริกา ฯลฯ วันนี้จะขอคุยกับท่านผู้อ่านเรื่องความเศร้าจำแลง ซึ่งแปลมาจากภาษาอังกฤษว่า Masked depression ก่อนอื่นเราควรทราบเสียก่อนว่า โรคดีเพรสชั่น นี้แสดงออกโดยอาการเบื่อหน่ายชีวิต, หดหู่, ป้อแป้ ถ้าเป็นมากขึ้นอาจถึงขั้นพยายามฆ่าตัวตาย หรือฆ่าก็มี อันนี้เป็นโรคความเศร้าแบบเปิดเผย

คนไข้ที่เป็นความเศร้าจำแลงนี้ มักจะมาหาหมอด้วยอาการทางกาย มิใช่มาบอกหมอตรง ๆ ว่าเบื่อโลก อยากตาย ฯลฯ  อาการทางกายเหล่านี้ ได้แก่ ใจสั่น หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อย มักเป็นการหายใจแบบถอนหายใจแรง ๆ  หายใจออกยาว ๆ ความจำไม่ดี, ไม่มีสมาธิ, ปวดหัวคลุมเครือ, นอนไม่หลับ ซึ่งมักเป็นแบบหลับยาก, ตื่นบ่อย, หรือตื่นเช้าเกินไป ถึงแม้ว่าโรคซึมเศร้าจะเป็น ได้แก่บุคคลทั่วไปก็ดี แต่พบว่า ชาวยิวจะเป็นกันมากกว่าผู้ที่มิใช่ยิว (gentile) เกิดเป็นกับผู้ที่อยู่ในอากาศหนาวมากกว่าผู้ที่พบแดดมาก และที่ทราบแน่อีกอย่างคือ คนที่มีบุคลิกแบบระเบียบจัด, ต้องทำอะไรให้ถูกต้อง ยอดเยี่ยมเสมอ พออายุกลางคนมักจะเริ่มซึมเศร้า อายุที่ต่างกันอาจทำให้มีการแสดงออกที่ต่างกันด้วย เช่น
ในเด็ก อาการซึมเศร้าจะออกมาในแบบ ปวดท้อง ร้องไห้ และไม่ยอมไปโรงเรียน แต่ในผู้ใหญ่อาการเหล่านี้จะเปลี่ยนเป็นความหงุดหงิด
คนสูงอายุจะออกมาในรูปความวุ่นวาย และอยู่ไม่สุข และมีความหลงผิดอื่น ๆ อีก (เช่น ลำไส้อุดตันหมดแล้ว บอกว่าไม่อุดเท่าไรก็ไม่เชื่อ) แต่จะหายไปเมื่อวินิจฉัยถูกต้อง และให้ยาจำพวกด้านความเศร้า
หญิงจะมีอาการคล้าย ๆ กับชายแต่จะกำเริบมากในระยะ 3-4 วันก่อนประจำเดือนมา อาการซึมเศร้ามักจะมากขึ้นในอีก 2 ระยะ คือ หลังคลอด และหลังวัยหมดประจำเดือน (เมโนฟอส)

คนไข้ที่มีอาการความเศร้าจำแลงพวกนี้จะโกรธหมอมาก เมื่อหมอตรวจร่างกายแล้วบอกว่า ไม่พบโรคอะไร ตับ ปอด ไต ปกติดีทุกอย่าง แต่อย่าลืมว่า อาการซึมเศร้าจำแลงเหล่านี้อาจเกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ โรคทางกายก็ได้ เช่น โรคธัยรอยด์ ทำงานน้อยเกินไป ดังนั้น คนไข้จึงควรได้รับการตรวจเช็กร่างกายอย่างละเอียดถี่ถ้วน เมื่อไปพบแพทย์เป็นครั้งแรก อาการต่าง ๆ ของความเศร้าแบบเปิดเผย อาจซักถามด้วยคำถามนำ เช่น อารมณ์เป็นอย่างไร, นอนหลับดีไหม, กินอาหารได้ไหม, ความรู้สึกทางเพศเป็นอย่างไร, ความจำ, สมาธิดีไหม, ความรู้สึกว่าคนผิด และตัวเองไร้ค่า (เฉพาะอย่างยิ่งในคนชรา) มีหรือเปล่า, รู้สึกท้อแท้เบื่อหน่ายชีวิตหรือไม่ เป็นต้น
ผู้ที่เป็นโรคความเศร้ามักจะมีประวัติ เช่น ญาติในครอบครัวเคยเป็นมาก่อน, ตัวเองเคยเป็นแล้วครั้งหนึ่ง เป็นต้น หรือมีเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้า เช่น ความรักที่ไม่สมหวัง, กลุ้มใจเรื่องเงิน, ที่อยู่, วิตกกังวลเกี่ยวกับลูก, มรณกรรมของญาติสนิท, การตกงาน และโรคพิษสุรา เป็นต้น
ไม่ว่าเราจะเป็นความเศร้าจำแลงหรือเปิดเผยอันตรายก็มีอยู่อย่างหนึ่งคือ การฆ่าตัวตาย และปรากฏจากหลักฐานว่าในประเทศอังกฤษร้อยละ 85 ของผู้ที่ได้ฆ่าตัวตาย เคยไปปรึกษาแพทย์แล้วในระหว่าง 2-3 เดือนก่อนนั้น ซึ่งก็แสดงว่าถ้าเขาอยากจะทำแล้ว บางครั้งแพทย์ก็ช่วยไม่ได้เหมือนกัน

ผมได้อ่านข่าวหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง พาดหัวย่อยว่า
“ผูกคอตาย หนี โรคประสาท”
ซึ่งเป็นพาดหัวที่ผิดไปจากความเป็นจริง ที่จริงแล้วผมคิดว่าเขาตาย เพราะ โรคประสาทมากกว่า
ตามข่าวปรากฏว่า ผู้ตายเป็นชายอายุ 35 ปี ภรรยาของเขาเล่าว่า สามีป่วยเป็นโรคประสาทมาประมาณ 2 ปี เพราะมีปัญหาด้านการค้า แม้จะพาไปรักษาตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ก็ไม่หายขาด คนไข้จึงเป็นคนเก็บตัวซึมเศร้า วัน ๆ ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร จนผูกคอตายในที่สุด
รายนี้เป็นภาวะซึมเศร้าชนิดเปิดเผย และก็เป็นอีกรายหนึ่งที่ได้เคยปรึกษาแพทย์หลายครั้งก่อนจะถึงจุดจบ บทเรียนจากโศกนาฏกรรม รายนี้น่าจะอยู่ที่ความไม่สนใจของภรรยาที่ไม่รู้ว่าสามีของตนกำลังเป็นโรคภาวะซึมเศร้าชนิดเปิดเผย

น.พ. สุพจน์ ขวัญมิตร

 

ข้อมูลสื่อ

114-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
พ.ต.นพ.สุพจน์ ขวัญมิตร