• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

บัญชียามีปัญหาของสหประชาชาติ

                                  


ทั่วโลกมียาแผนปัจจุบันหมุนเวียนในตลาดภายใต้ชื่อการค้าต่าง ๆ ถึง 50,000 ชื่อ โดยผลิตขึ้นมาจากสารประกอบทางเคมีประมาณ 700 ชนิด

ทุกวันนี้ มียาแผนปัจจุบันหมุนเวียนในตลาดทั่วโลกภายใต้ชื่อการค้าต่าง ๆ กันถึง 50,000 ชื่อ ยาเหล่านี้ผลิตขึ้นมาจากสารประกอบทางเคมี ประมาณ 700 ชนิด พูดง่าย ๆ ก็คือ จากสารเคมีดังกล่าว 1 ชนิด จะมีบริษัทนำไปผลิตเป็นยาที่มีชื่อการค้าต่าง ๆ กันประมาณ 70 ชื่อ ส่วนแบ่งการตลาดของยาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นของข้ามชาติในประเทศอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเป็นหลัก
ในบรรดา “สินค้ายา” จำนวนมหาศาลนี้ มีหลายชนิดที่พบว่าเป็นอันตราย ไม่มีประสิทธิภาพในการบำบัดรักษา อาจเป็นเหตุให้เป็นโรคอื่นเพิ่มขึ้น ไม่เหมาะสมที่จะใช้กับคนในบางสังคม ตลอดจนเป็นการสิ้น เปลืองเงินโดยใช่เหตุ ดังนั้นรัฐบาลของประเทศอุตสาหกรรมจึงออกกฎหมายห้ามจำหน่าย หรือจำกัดการผลิต การจำหน่าย และการใช้ยาแหล่านี้อย่างเข้มงวด

แต่บริษัทยาข้ามชาติจำนวนไม่น้อยยังคงผลิตยามีปัญหาต่อไป เมื่อตลาดในประเทศอุตสาหกรรมหดแคบลง การแสวงหาตลาดในประเทศกำลังพัฒนาจึงเป็นทางออก ด้วยเหตุที่รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนายังอ่อนด้อยในเรื่องของกฎหมายกลไกการบริหาร และข้อมูลข่าวสารในการควบคุมการนำเข้ายาจากต่างประเทศ บริษัทยาข้ามชาติ จึงสามารถส่งยาที่ประเทศอุตสาหกรรมถือว่ามีปัญหา เข้าสู่ตลาดของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศได้โดยเสรี เพื่อช่วยให้รัฐบาลของประเทศกำลังพัฒนาได้มีแนวทางในการพิจารณามาตรการควบคุมและคุ้มครองในเรื่องยาอย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ องค์การสหประชาชาติด้วยความร่วมมือจากองค์การอนามัยโลก สำนักงานทะเบียนเคมีภัณฑ์ที่อยู่ในข่ายมีพิษระหว่างประเทศ และองค์การแรงงานระหว่างประเทศได้รวบรวมรายชื่อยาและเภสัชภัณฑ์ที่ประเทศอุตสาหกรรม และประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศจัดว่าเป็นอันตราย หรือไม่มีประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค และได้สั่งห้ามจำหน่ายหรือจำกัดการจำหน่ายอย่างเข้มงวดไปแล้วขึ้นมา

บัญชีรายชื่อยามีปัญหานี้ ประกอบด้วยยาเดี่ยวและเภสัชภัณฑ์ 394 ตัว และยาสูตรผสม 52 ตัว ทั้งนี้โดยอาศัยข้อมูลที่เป็นทางการจาก 75 ประเทศ ตัวอย่างยาและเภสัชภัณฑ์ที่มีปัญหาตามบัญชีนี้ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาระงับเชื้อที่ใช้ในแป้งโรยตัวและสบู่ สารฮอร์โมน ยาต้านภูมิแพ้ ยาคุมกำเนิด ยาเกี่ยวกับโรคหัวใจ ยาเกี่ยวกับโรคกระเพาะและลำไส้ เกลือแร่และวิตามิน
เหตุที่ยาปฏิชีวนะบางตัวเป็นยามีปัญหา ก็เพราะจากรายงานของนักวิจัยที่ไม่ได้ทำงานให้กับบริษัทผลิตยาข้ามชาติ พบว่าการใช้ยาปฏิชีวะบางตัวอย่างพร่ำเพรื่อ เป็นเหตุให้ร้อยละ 80-90 ของเชื้อโรคติดเชื้อบางสายพันธุ์ดื้อยา การใช้ยาปฏิชีวนะนั้น ๆ จึงไม่มีความหมาย

คลอแรมเฟนิคอลซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะตัวหนึ่งนั้น พบว่าอาจทำให้เป็นมะเร็งในเม็ดเลือดขาว ที่เรียกว่า ลิวคีเมีย และทำลายไขกระดูก ยาปฏิชีวนะอีกตัวคือ เตตราซัยคลีนในรูปน้ำเชื่อม ประเทศอุตสากรรมบางประเทศได้ถอนออกจากตลาดแล้ว เพราะพบว่าไม่มีประสิทธิภาพและเป็นอันตรายต่อการเติบโตของกระดูกในเด็ก และส่งผลเสียต่อหญิงมีครรภ์ ยาแก้ปวดเช่น อะซีตามิโนเฟน (acetaminophen) อาจทำลายตับได้ และแอสไพริน (acetylsalicylic acid) ยาแก้ปวดลดไข้ที่รู้จักกันดีทั่วโลก มีรายงานจากโรงพยาบาลในประเทศตะวันตกบางแห่งว่าเป็นหนึ่งในบรรดายาที่ก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 10 สารฮอร์โมนที่มักใช้ในการรักษาความบกพร่องของต่อมไร้ท่อบางตัวก็ปรากฏอยู่ในบัญชีด้วย ข้อมูลจากประเทศอุตสาหกรรมระบุว่ายังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของสารฮอร์โมนกลุ่มนี้ อย่างเช่นฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่า เทศโตสเตอโรน (testosterone) และฮอร์โมนเพศหญิงที่เรียกว่าเอสโตรเจน (estrogen) เป็นที่สงสัยว่าอาจทำให้เป็นมะเร็งได้

คลอโรฟอร์ม (chloroform) ซึ่งในอดีตใช้เป็นยาสลบในการทำการผ่าตัด ยังคงมีขายในบางประเทศ ทั้งที่มีรายงานว่าเป็นต้นเหตุของโรคมะเร็งเช่นกัน

เฮกซาคลอโรฟิน (hexachlorophene) เป็นสารที่มักใช้ในยาดับกลิ่นยาสีฟัน และเครื่องสำอาง เมื่อปี พ.ศ. 2515 เด็กในฝรั่งเศส 30 คนเสียชีวิตเพราะใช้แป้งโรยตัวที่มีสารชนิดนี้มากเกินไป
แม้แต่สารเคมีธรรมดาอย่างกรดบอริก (boric acid) ที่ใช้ในน้ำยาล้างตา และเครื่องสำอาง ก็ยังต้องระมัดระวังในการใช้ เพราะอาจเป็นพิษ เป็นเหตุให้ระบบไหลเวียนเลือดผิดปกติ เกิดอาการชัก และอาจเสียชีวิตได้

นอกจากตัวอย่างยาเดี่ยวที่กล่าวข้างต้นแล้ว บัญชียามีปัญหาของสหประชาชาติยังมีสูตรผสมอีก 52 ตัว ซึ่งในหลายประเทศพบว่า หากใช้ยาไม่เหมาะสม หรือใช้โดยไม่มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแล แล้วจะเป็นอันตรายได้ การที่บริษัทยาผลิตยาสูตรผสมที่อาจเป็นอันตรายออกขาย คงเป็นเพราะต้องการเลี่ยงมาตรการควบคุมราคายา หรือเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ให้กับสินค้าเดิมของตน

(เรียบเรียงจาก Third World Network Features ฉบับ 350/88)

เอกพล วัฒน์

เมื่อหันมามองเฉพาะประเทศไทยเรา บัญชีของสหประชาชาตินี้คงจะเป็นข้อมูลล่าสุดให้แก่กระทรวงสาธารณสุขในการควบคุมการผลิตยาในประเทศ การจำหน่าย การนำเข้ายา และการส่งมอบยาแก่ผู้บริโภค ในตลาดยาของไทยปัจจุบันคงจะมียาหลายตัวที่เสี่ยงต่ออันตรายหรือไม่เหมาะสมที่จะใช้กับคนไทย โดยเฉพาะยาที่มีขายอย่างเสรีและนิยมใช้กันทั่วไป ผู้ประกอบวิชาชีพทางการแพทย์อันได้แก่ แพทย์และเภสัชกร ควรจะเป็นหลักในการสะท้อนเสียงร้องเกี่ยวกับยาที่มีปัญหาไปยังสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อย่างไรก็ตามวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่พอจะปฏิบัติได้ง่าย คือการประกาศใช้บัญชียาหลักแห่งชาติอย่างเข้มงวดในสถานรักษาพยาบาลของรัฐทุกแห่ง อันจะช่วยลดความเสี่ยงของยามีปัญหาลงได้ นอกจากนี้แพทย์และเภสัชกรก็ควรสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารที่ทันสมัยเกี่ยวกับยามีปัญหา และยึดถือจริยธรรมในการสั่งใช้ยาอย่างมั่นคง
 

ข้อมูลสื่อ

116-002
นิตยสารหมอชาวบ้าน 116
ธันวาคม 2531
เอกพล วัฒน์