• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม (ตอนจบ)

 

              

ราชธรรมที่เหลือ ขอเรียกว่า “กลุ่มภูมิธรรม” หมายถึง ความดีงามอันเป็นอัธยาศัยในตัวของนักปกครอง เป็นความสะอาด งดงามของจิตใจ มีกลิ่นหอมชวนให้มหาชนศรัทธา

ภูมิธรรมกลุ่มนี้ คือ
1. ศีล ได้แก่ ความยึดมั่นอยู่ในระเบียบบัญญัติของศาสนาและกฎหมายของรัฐตลอดจนจารีตประเพณี อันดีงามของชาติ ผู้มีศีลเป็นคนมีจิตใจเข้มแข็ง ชนะใจตัวเอง ไม่เป็นทาสของกิเลสตัณหา เว้นชั่วเอง ทำดีเอง ไม่ว่าต่อหน้าหรือลับหลัง
นักการเมืองทั้งในอังกฤษและสหรัฐอเมริกา ที่เหลาะแหละโลเลต่อคุณธรรม ข้อศีล เช่น ปล่อยตัวเองให้หลงระเริงในด้านกามารมณ์-ชู้สาว พอเรื่องฉาวโฉ่ออกมามหาชน สื่อมวลชนรุมกันประณาม ต้องหลบลี้หนีหน้าหมดอนาคตทางการเมืองมาแล้วมากหน้าหลายตา คงจะพอจำกันได้

ศีลพัง ชีวิตการเมืองก็พัง แต่ถ้าศีลงดงาม เกียรติคุณ ก็ฟุ้งกำจร อนาคตก็สดใส
ในมุมอันบรรเจิดนี้ พอจะศึกษาได้จากพระราชปฏิญาณ ซึ่งพระปิยมหาราชทรงปฏิญาณเฉพาะหน้า พระสงฆ์เถระ เมื่อเสด็จยุโรปครั้งแรก มีความว่า
1) ข้าพเจ้าจะไม่มีจิตยินดีน้อมไปในศาสนาอื่น...
2) การที่ข้าพเจ้าไปครั้งนี้ แม้ว่าจะนานเท่าใดก็ดี ข้าพเจ้าจะไม่ร่วมประเวณีด้วยสตรีใด...
3) ถึงแม้ว่าจะไปในประเทศซึ่งเขาถือกันว่า การให้สุราเมรัย ไม่รับเป็นการเสียกิริยาอันดี หรือเพื่อป้องกันโรคร้ายอันเปลี่ยนอากาศ เป็นต้น ข้าพเจ้าจะไม่เสพสุราเมรัยให้มึนเมาเสียสติ หรือแม้แต่มีกายวิกลเกินปกติเป็นอันขาด (เสด็จพระราชดำเนิน 7 เมษายน ร.ศ. 116 ถึง 16 ธ.ค. ร.ศ. 116)

มีท่านผู้มีเกียรติคนใดบ้างที่ปฏิญาณว่า ไปเมืองนอกคราวนี้จะไม่แตะต้องหญิงใดเป็นอันขาด
ศีลในด้านจารีตประเพณีอันดีงาม จะเห็นความดีเด่นของเล่าปี่ ผู้ตระหนักในศีลสัตย์ได้ เมื่อคราวขงเบ้งยอดเสนาธิการซึ่งเป็นดุจพระอาจารย์ เสนอให้เล่าปี่เข้ายึดเกงจิ๋วเป็นฐานปฏิบัติการ แต่ได้รับการปฏิเสธอย่างหนักแน่นว่า ไม่สามารถจะปฏิบัติตามได้ เพราะเป็นการแย่งชิงสมบัติของญาติร่วมสกุล เป็นคนแซ่เล่า แซ่เดียวกัน ทั้งสองตัวอย่างเป็นดุจอาภรณ์ล้ำค่าเรียกร้องให้มหาชนเคารพศรัทธาดูดดื่มได้ยั่งยืนนาน แม้จนกระทั่งวันนี้

2. อักโกธะ ไม่ลุอำนาจแก่โทสะ ไม่เป็นทาสของความโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ หากเกิดขึ้นก็รีบข่มความโกรธให้สงบระงับโดยเร็ว ด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตา
มีเรื่องเล่าว่า เมื่อวันที่ ร.5 เสด็จไปทรงสักการะพระบรมศพของ ร.4 ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัชทายาทจะต้องกระทำก่อนราชกิจอย่างอื่น เนื่องจากทรงประชวรมากว่าเดือน ซ้ำประสบโศกศัลย์อย่างแรงกล้า ไม่สามารถจะทรงพระราชยานได้ ต้องเสด็จขึ้นประทับบนพระเก้าอี้เบาะนวมผูกคานหาม ขณะผ่านที่ประชุมก็มีเสียงพูดขึ้นว่า พ่อคุ๊ณ! พ่อจะอยู่ได้สักกี่วัน”
ร.5 จึงทรงลืมพระเนตรขึ้น ก็จำได้ว่าผู้พูดคือ ท่านผู้หญิงพัน ศรีภรรยาของเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เรื่องนี้มาเปิดเผยเอาก็เมื่อวันที่ ร.5 เสด็จไปพระราชทานเพลิงศพท่านผู้หญิงพัน
พระองค์ตรัสกับศพว่า “ยายพัน แกว่าฉันจะตายก่อน ตกลงแกตายก่อนฉันนะ”
ท่านผู้อ่านเห็นความไม่โกรธ ให้อภัยของ ร.5 หรือยัง

3. อวิหิงสา ความไม่เบียดเบียนผู้ใต้ปกครอง ทั้งทางตรง-ทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการเบียดเบียนทางทรัพย์สิน ทางชีวิตร่างกาย ทางแรงงาน หรือแม้แต่การเบียดเบียนบีบคั้นทางจิตใจ แต่พยายามทำตนเป็นร่มโพธิ์ ร่มไทร ให้ความร่มเย็นแก่ผู้น้อย
เหตุที่พระประธานในพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร ต้องเปลี่ยนจากพระพุทธชินราชองค์จริงมาเป็นจำลอง นัยว่า ร.5 ทรงทราบว่า เมื่อยุค ร.3 อัญเชิญพระชินสีห์ มาประดิษฐานที่วัดบวรนิเวศนั้น ชาวพิษณุโลกต่างร่ำไห้อาลัยพระชินสีห์กันทั่วทั้งเมือง
ร.5 จึงทรงส่งช่างไปพิษณุโลกให้หล่อจำลองพระชินราชที่งามสง่าขึ้นมาเป็นสมบัติของชาติอีกองค์หนึ่งแทน

4. อวิโรธนะ แปลตรงตัวก็ว่า “ไม่ผิด-ไม่พิรุธ” ซึ่งเป็นเรื่องของปัญญามี 3 ลักษณะด้วยกัน
4.1 การระมัดระวังมิให้เกิดข้อบกพร่อง อันเป็นช่องทางให้ถูกล่าวร้ายใส่ความได้
4.2 การควบคุมจิตใจให้คงที่ไม่ผิดปกติ ไม่ให้ฟูขึ้นเพราะยินดี ไม่ให้ฟุบแฟบเพราะยินร้าย ไม่หวาดหวั่นพรั่นพรึงเมื่อมีภัย ขงเบ้งเข้าตาอับ เมื่อสุมาอี้ยกพลมากกว่า 30 เท่า เข้าประชิดเมืองเสเสีย “บัณฑิตย่อมไม่มัววุ่นว้าอยู่ในอารมณ์อันลังเลล้าละลัง” ครั้นแล้วก็ก้าวขึ้นบนกำแพงเชิงเทินรบ ด้วยสีหน้าอันเอิบอิ่ม องอาจภาคภูมิ แล้วก็ลงมือดีดกระจับปี่ เป็นทองไม่รู้ร้อน กองทัพเว่ย 15 กองพล พร้อมด้วยแม่ทัพ ผู้ยอดเยี่ยมก็กลับหลังหัน
4.3 ในการทำงาน ใช้สติปัญญาใคร่ครวญโดยรอบคอบ คิดการณ์ไม่พลาด คาดการณ์ไม่ผิด ดำเนินภารกิจบรรลุเป้าหมาย
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลมหาราช ทรงประกอบพระราชภารกิจอำนวยประโยชน์สุขแก่พสกนิกร ด้วยพระปรีชาญาณสำเร็จดังพระราชประสงค์มาเหลือที่จะคณานับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการหลวงชาวเขาที่เชียงใหม่ เพื่อปราบปรามการปลูกฝิ่น เพื่อป้องกันป่าไม้ต้นน้ำลำธาร เพื่อให้ชาวเขารักถิ่นเปลี่ยนมาปลูกพืชเมืองหนาว จำได้ว่า ทรงเริ่มมาก่อนปี พ.ศ.2516 มีบางคนสายตาสั้นเคยคัดค้าน

บัดนี้มหาชนชาวโลกต่างชื่นชมในพระราชกรณียกิจอันล้ำค่านี้ และปีนี้มูลนิธิแมกไซไซได้ประกาศสดุดีถวายรางวัลแด่พระองค์ท่าน ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์แก่ชาวโลก
สมจริงกับที่ปราชญ์ท่านกล่าวไว้ว่า
อันกษัตริย์ผู้ทรงธรรมนั้น
สูง ยิ่งกว่า ฟ้า
กว้าง ยิ่งกว่า พิภพ
ลึก ยิ่งกว่า มหาสมุทร
เย็น ยิ่งกว่า แม่คงคา
เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม มีอานุภาพยิ่งใหญ่เช่นนี้

 

ข้อมูลสื่อ

115-018
นิตยสารหมอชาวบ้าน 115
ธันวาคม 2531
ธรรมโอสถ
พอ.(พิเศษ)ทองคำ ศรีโยธิน