• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาที่ใช้ในโรคกระเพาะอาหาร


โรคกระเพาะอาหาร ในที่นี้ หมายถึง โรคที่มีแผลในกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (ดูโอดีนั่ม)

โรคนี้พบบ่อยในคนที่มีลักษณะต่อไปนี้
1. เครียดมาก หงุดหงิดง่าย ใจน้อย หรือเครียดเพราะได้รับอุบัติเหตุที่สมอง, มีโรคติดเชื้อรุนแรง, ได้รับการผ่าตัดใหญ่ หรือถูกไฟลวกเป็นบริเวณกว้าง

2. ใช้ยาจำพวกสเตียรอยด์, ยาลดการอักเสบ เช่น แอสไพริน, อินโดเมทาซีน, ไอบูโพรเฟน ฯลฯ ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือกินทีละมาก ๆ
ในประเทศไทย ดูเหมือนว่า การใช้ยาซองหรือยาชุดแก้โรคต่าง ๆ ที่นิยมกันในชนบท เป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยซึ่งทำให้เกิดโรคนี้

3. คนที่ติดของมึนเมาจำพวกแอลกอฮอล์ (เหล้า, เบียร์) และ/หรือบุหรี่
การรักษาโรคกระเพาะอาหารให้ได้ผล นอกจากต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมใน 3 ข้อที่กล่าวมาแล้ว มักมีการใช้ยาร่วมด้วย

ยาขนานต่าง ๆ ที่แพทย์นิยมใช้ในการรักษาโรคกระเพาะอาหาร ได้แก่

1. ยาต้านฤทธิ์กรด (ANTACID)
มีทั้งชนิดน้ำและชนิดเม็ด (สำหรับเคี้ยวก่อนกลืน) จุดมุ่งหมายคือ ต้องการให้ยาไปเคลือบแผลในกระเพาะอาหารหรือลำไส้ เพื่อจะได้ไม่ถูกกรดระคายเคือง จึงสามารถป้องกันและลดอาการปวดท้องได้ดี
ผลข้างเคียง ได้แก่ อาการคลื่นไส้, อาเจียน, ท้องเดินหรือท้องผูก ถ้ากินปริมาณมากติดต่อกันนาน ๆ ร่างกายจะสูญเสียธาตุฟอสฟอรัส ทำให้มีอาการเบื่ออาหาร, อ่อนเปลี้ย และเมื่อยผิดปกติ
ขนาดยาที่เหมาะสมในผู้ใหญ่ คือ
ชนิดน้ำ : กินครั้งละ 1-2 ช้อนโต๊ะ ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือขณะที่มีอาการปวดท้อง
ชนิดเม็ด : กินครั้งละ 1-2 เม็ด เคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน ทุก 4-6 ชั่วโมง หรือระหว่างที่มีอาการปวดท้อง
ตัวอย่างชื่อการค้า เช่น อะลั่มมิลค์, อะลูดรอกซ์, มาอะลอกซ์ และเกลูซิล เป็นต้น
หากใช้ยานี้ติดต่อกัน 2 สัปดาห์ แล้วอาการปวดท้องของโรคกระเพาะอาหารไม่ทุเลาลง ควรปรึกษาแพทย์

 

2. ยาแก้ปวดเกร็ง
อาการปวดเกร็งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากการที่แผลถูกระคายเคือง ทำให้กระเพาะอาหารและ/หรือลำไส้เล็กส่วนต้นที่มีแผลอยู่ เกิดการหดเกร็งขึ้น บางครั้งจึงอาจต้องใช้ยาแก้อาการปวดเกร็งนี้ อย่างไรก็ตาม 1 ใน 3 ของผู้ที่มีอาการดังกล่าว หายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยาแก้ปวดเกร็ง

ยาชนิดนี้มี 2 กลุ่มใหญ่คือ
2.1 เบลลาดอนนา อัลคาลอยด์ และอนุพันธ์
2.2 สารสังเคราะห์ที่ใช้แทนเบลลาดอนนา อัลคาลอยด์
ยาชนิดสารสังเคราะห์มีข้อดีกว่าอัลคาลอยด์ในแง่ที่
ก. ออกฤทธิ์ต่อกระเพาะอาหารและลำไส้ดีกว่า
ข. ออกฤทธิ์นานกว่า (ประมาณ 6-12 ชั่วโมง)
ค. ในขนาดรักษาไม่มีฤทธิ์ข้างเคียง
ง. ไม่มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
ดังนั้น จึงแนะนำให้ใช้ยาชนิดสารสังเคราะห์ ซึ่งมีหลายชนิดให้เลือกดังตัวอย่างชื่อและวิธีใช้ในผู้ใหญ่
(ดูตาราง)

ตารางแสดงชื่อทางการค้าและวิธีใช้ยาแก้ปวดเกร็ง

 ชื่อการค้า

   ชื่อวิทยาศาสตร์

   ขนาดต่อ เม็ด

     วิธีกิน

1.เฮลกามอน

( HELKAMON )

  แคลมัลเซอ

( CALMULCER )

  แอนทรีนิล

( ANTRENYL )

 ออกซีฟีโนเนียม
( OXYPHENNONIUM )

5 มิลลิกรัม

 1 เม็ดทุก 8 ชั่วโมง

2.บาราลแกน
( BARALGAN ) 

เป็นยาที่มีตัวยาผสมกันหลายชนิด

 

 1-2 เม็ดทุก 8 ชั่วโมง

3.ไดโคเนียม

 ไดซัยโครมีน

 (DICYCLOMIEN )

10 มิลลิกรัม

 1-2 เม็ดทุก 6 ชั่วโมง

4.เมด-สปาสติก

( MED-SPASTIC )

      ดาริคอน

  ( DARICON ) 

 ออกซีเฟนซัยคลิมีน

( OXYPHENCYCLINMINE )

5 มิลลิกรัม 

1-2 เม็ดทุก 12 ชั่วโมง 

5.โรบินูล

( ROBINUL )

   แก๊สโตรไดน์

( GASTRODYN )

 กลัยโคพัยโรเลต    ( GLYCOPYROLATE )

1 มิลลิกรัม

 1-2 เม็ด ทุก 8 ชั่วโมง

6.โปร-แบนทีน

( PROBANTHINE ) 

 โปรแพนทีลีน   

 ( PROPANTHELINE )

15 มิลลิกรัม 

 1 เม็ดทุก 8 ชั่งโมง

 ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้ยากลุ่มนี้ในคนไข้โรคต้อหิน, ท้องอืดไม่ผายลม, ลำไส้อุดตัน, ปัสสาวะลำบากและไม่ควรใช้ในคนแก่และเด็กอายุน้อยกว่า 6 ปี

 

3. ยาลดการหลั่งกรด
ยาชนิดนี้ยับยั้งการหลั่งกรดของกระเพาะอาหาร ใช้ทั้งรักษา และป้องกันการเกิดแผลกลับซ้ำ เป็นยาที่ใช้ได้ผลดีและมีผลข้างเคียงน้อยมาก
ผลข้างเคียง ได้แก่ เวียนศีรษะ, ท้องเดิน, ปวดกล้ามเนื้อ, มีผื่นขึ้น
ข้อควรระวัง
1. ในคนไข้โรคไต ควรให้ยาขนาดน้อยกว่าคนทั่วไป
2. ไม่ควรใช้ในหญิงมีครรภ์
3. ไม่ควรใช้ร่วมกับยาห้ามไม่ให้เลือดแข็งตัว (anticoagulanet)
ขนาดและวิธีใช้
กิน 1 เม็ด (300 มิลลิกรัม) หลังอาหารทันทีตอนเช้าและให้ก่อนนอนติดต่อกันนาน 3-6 สัปดาห์
ชื่อการค้าของยานี้คือ ไซเมทิดีน (cimetidine)

 

ข้อมูลสื่อ

114-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 114
ตุลาคม 2531
108 ปัญหายา