• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เป็นไข้ครับเป็นไข้

"เป็นอะไรครับ"
"รู้สึกเป็นไข้ครับ"
"ตัวร้อนไหม"
"ไม่ร้อนครับ"

ตัวอย่างข้างต้นมีเสมอๆ คำว่าไข้ สำหับคนบางคนนั้นมีความหายแต่เพียงว่า "ไม่สบาย" เท่านั้น มีอะไรก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีไข้หรือตัวร้อนเสมอไป

ดังเช่นคำว่า "คนไข้" ซึ่งหมายถึง คนที่ไม่สบายด้วยเหตุใดก็ตาม ไม่จำเป็นต้องมีไข้หรือตัวร้อน จึงมีคนหลบจากคำว่า "คนไข้" มาเป็น "ผู้ป่วย"
เพื่อความกระจ่างในเรื่อง "ไข้"

"หมอชาวบ้าน" จึงขอพาท่านมาคุยกับ ศาสตราจารย์นายแพทย์ อนุวัตร ลิ้มสุวรรณ ศูนย์เวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ในเรื่อง "เป็นไข้ครับเป็นไข้"
เมื่อไรควรเรียกว่าเป็นไข้

อันนี้ต้องมาพูดเรื่องคำว่า "ไข้" ตามภาษาที่ใช้กันก่อน เพราะเวลาที่มีความรู้สึกตัวร้อนๆ หนาวๆ ครั่นเนื้อครั่นตัว ซึ่งจะแตกต่างกันไปแต่ละคนชาวบ้านก็มักเรียกว่า ไม่สบายหรือเป็นไข้แล้ว อันที่จริงอุณหภูมิของร่างกายอาจปกติก็ได้

โดยความหมายของไข้นั้น ทางการแพทย์ถือว่า เมื่อวัดอุณหภูมิของร่างกายแล้ว อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าปกติ จึงเรียกว่าไข้

ปกติร่างกายของเราจะมีอุณหภูมิคงที่ 37 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 98.7 องศาฟาเรนไฮท์


ไข้เกิดขึ้นอย่างไร
ปกติความร้อนภายในร่างกายเกิดจากการเผาผลาญสารอาหารในร่างกาย ความร้อนที่เกิดขึ้น ร่างกายจะถ่ายเทออกหลายทาง เช่น ทางลมหายใจ ระเหยออกทางเหงื่อ หรือออกไปกับปัสสาวะ ทำให้อุณหภูมิสมดุลอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียส โดยมีศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย อยู่ที่สมองส่วนที่เรียกว่า ฮัยโปธาลามัส

เมื่อเรามีโรคติดเชื่อหรือมีสารแปลกปลอมเข้ามาในร่างกาย สารเหล่านั้นจะไปทำให้ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายทำงานเสียไป ทำให้จุดสมดุลที่ควบคุมอุณหภูมิปกติอยู่ที่ 37 องศาเซลเซียสเบี่ยงเบนไป กลายเป็น 38-39 องศาเซลเซียส ทำให้เราตัวร้อนขึ้นเรียกว่า เป็นไข้

ขณะนี้เชื่อว่ากลไกการเกิดไข้เกิดขึ้นได้ 2 วิธี คือ
วิธีที่ 1 เชื้อโรคหรือสารพิษเข้าไปกระทำโดยตรงที่ศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมอง ทำให้การทำงานควบคุมอุณหภูมิเบี่ยงเบนไป
วิธีที่ 2 เกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษเข้าสู่ร่างกาย แล้วเม็ดเลือดขาวออกมาต่อสู้ ส่วนหนึ่งของเม็ดเลือดขาวถูกทำงาย กลายเป็นสารชนิดหนึ่งเรียกว่า "สารก่อไข้" สารนี้จะไปกระตุ้นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิในสมองทำงานเบี่ยงเบนไป

โรคที่ทำให้เกิดอาการเป็นไข้ตัวร้อน
ที่พบได้บ่อยๆ เช่น
1. โรคติดเชื้อต่างๆ ซึ่งพบเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ในบ้านเรา คือกว่าร้อยละ 90 ของอาการไข้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ หมายถึงต้องมีเชื้อโรคไม่ว่าจะเป็นไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อพยาธิ เข้าไปในร่างกาย
2. มะเร็ง มักทำให้มีอาการเป็นไข้นานเป็นเดือนๆ
3. โรคภูมิแพ้ต่างๆ รวมทั้ง โรคแพ้ตัวเองที่เรียกว่า ออโตอิมมูน (Autoimmune) เช่น โรคเอสแอลอี ซึ่งจะมีอาการตัวร้อน ปวดตามข้อต่างๆ และผมร่วง
4. โรคเกี่ยวกับสมอง เช่น ศีรษะได้รับบาดเจ็บมีการตกเลือดในสมอง
5. ร่างกายขาดน้ำมากๆ เช่น ท้องร่วงรุนแรง ก็อาจทำให้มีอาการตัวร้อนได้
6. จากวัคซีนต่างๆ เช่น วัคซีนป้องกันไอกรน คอตีบ บาดทะยัก ก็อาจทำให้มีอาการไข้ต่ำๆ ได้

คนไข้ที่มาหาหมอจะมีอาการไข้แบบไหนบ้าง
ก่อนอื่นต้องขออธิบายเรื่องอุณหภูมิของเราก่อน ปกติอุณหภูมิของคนเราจะไม่เท่ากันตลอดทั้งวัน มักจะต่ำตอนเช้า และสูงเล็กน้อยตอนบ่าย เมื่อมีโรคติดเชื้อจะทำให้อุณหภูมิตอนเช้าและบ่ายแตกต่างกันอย่างชัดเจน

สำหรับอาหารไข้นั้น อาจแบ่งรูปของไข้ออกได้เป็น 4 อย่างใหญ่ๆ
1. ไข้ลอยตลอดวัน ไข้จะขึ้นสูงเกือบคงที่อยู่ในระดับเดียวตลอดเวลา คือ อุณหภูมิที่สูงสุดและต่ำสุด ไม่ต่างกันมาก เช่น อยู่ระหว่าง 38.5-39 และลอยอยู่สัก 3 ถึง 5 วัน

ไข้พวกนี้มักจะพบในพวกไข้เลือดออก หัด ปอดบวม โรคคอเจ็บจากเชื้อเสตร๊ป โรคไข้รากสาดน้อย ไข้รากสาดเทียม และเยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดต่างๆ

                

2. ไข้เป็นระยะๆ ไข้ชนิดนี้ขึ้นสูงมากแล้วลดลงถึงอุณหภูมิปกติอาจเป็นรอบๆ เช่น ทุก 24 หรือ 48 ชั่วโมง

ไข้ชนิดนี้มักเกิดเนื่องจากมีอาหารอักเสบหรือมีฝีซ่อนอยู่ที่ใดที่หนึ่งในร่างกายแล้วหลั่งสารพิษหรือตัวเชื้อเองเข้าสู่กระแสเลือดเป็นระยะๆ ทำให้ไข้ขึ้นเป็นระยะๆ

ไข้พวกนี้มักพบในพวกวัณโรค มาลาเรีย การติดเชื้อของทางเดินปัสสาวะ

3. ไข้แกว่งหรือไข้ขึ้นๆ ลงๆ ไข้นี้คล้ายแบบไข้เป็นระยะๆ แต่อุณหภูมิไม่ลดลงสู่ระดับปกติ จะแกว่งอยู่ไม่ลงถึงปกติ หมายถึง ไข้อาจจะขึ้นไป 39 องศาเซลเซียส ลงมาถึง 38 แล้วขึ้นไป 39.5 ลงมา 38.5 แกว่งอยู่ จะไม่กลับสู่ระดับปกติคือ 37 องศาเซลเซียส

ไข้พวกนี้มักพบในพวก ไข้หวัดใหญ่ ปอดบวมจากมัยโคพลาสม่า โรคติดเชื้อของหัวใจ โรคบลูเซลโลซิส ไข้รากสาดใหญ่ บางครั้งพบในมาลาเรียขึ้นสมอง


               
 
4. ไข้กลับ ลักษณะไข้จะขึ้นอยู่หลายวันเป็นชนิดขึ้นๆลงๆ แต่ไม่ถึงปกติเป็นอยู่วัน แล้วก็ลงสู่ปกติหลายวัน แล้วก็เป็นอีก เช่นนี้สลับกันไป เช่นมีไข้ ขึ้นๆ ลงๆ อยู่ 2 อาทิตย์ แล้วลงเป็นปกติสัก 1 อาทิตย์ หรือ 2 อาทิตย์ แล้วก็ขึ้นใหม่อีกอาทิตย์ หรือ 2 อาทิตย์ แล้วก็ลงใหม่อีกเป็นสลับไปมา

ไข้พวกนี้มักจะพบในพวก โรคมะเร็งของเม็ดน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมองอักเสบเรื้อรัง โรงติดเชื้อสไปโรซิต ท่อน้ำดีอักเสบ หรือบางครั้งพบในไข้มาลาเรีย

ที่มีไข้กลับไปกลับมา เนื่องจากมันมีการสะสมและการทำงายของเซลล์มะเร็ง หรือเชื้อโรค เมื่อมีมากพอ หรือการต่อสู้ของเม็ดเลือดขาวมากพอ มันก็จะผลักสารชนิดหนึ่งออกมาแต่ต้องใช้เวลานานหน่อยมันจึงเกิดไข้ระยะหนึ่งแล้วก็หายเป็นระยะหนึ่งแล้วก็เกิดใหม่

เมื่อเป็นไข้ชนิดใด จึงควรดูแลตัวเอง
พูดถึงเป็นไข้แล้ว ส่วนใหญ่ที่เป็นๆกันนั้น เรารักษาตัวเองได้ถึงกว่าร้อยละ 90 ดูจากสถิติตามโรงพยาบาลหรือสถิติจากการทำแบบสอบถามพบว่า ในปีหนึ่งๆ เฉลี่ยแล้ว คนๆหนึ่งจะเป็นไข้หวัดถึง 5-7 ครั้ง กว่าร้อยละ 90 เป็นไข้หวัดธรรมดา ที่ชาวบ้านรักษาตัวเองได้

ไข้หวัดเราก็ทราบแล้วว่ามีเชื้ออยู่หลายเชื้อ พูดถึงอาการไข้หวัดนั้นมักมีอาการเมื่อยตัว ครั่นเนื้อครั่นตัว มีการแสบคอแสบจมูกและตา (เหตุผลที่แสบ เพราะพวกเชื้อโรคเหล่านี้มักชอบอยู่ตามเยื่อเมือก และบริเวณปาก คอ จมูก และตาของเราก็มีเยื่อเมือกอยู่ จึงมีปฏิกิริยาสนองตอบ)

สำหรับวิธีการรักษาเวลาเป็นไข้หวัด ผู้ใหญ่ก็ให้กินยาลดไข้ เช่น แอสไพริน หรือ พาราเซตามอล ครั้งละ 1-2 เม็ด ทุก 4-6 ชั่วโมง แอสไพรินควรกินหลังอาหารหรือกินน้ำตามมากๆ เพราะระคายเคืองกระเพาะอาหาร

ถ้ามีอาการจามคัดจมูก หรือน้ำมูกใสๆ ไหล ก็ให้กินยาแก้แพ้หรือยาลดน้ำมูก คลอร์เฟนิรามีน เช้าเม็ด เย็นเม็ด เมื่อหายก็ไม่ต้องกิน ยานี้ทำให้มีอาการง่วงหรือมึนศีรษะ จึงควรระวังถ้าต้องทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรหรือขับรถ

ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำให้มากๆ เพียงแค่นี้ก็ประทังลงได้ โดยทั่วๆ ไป 3-5 วันก็หาย แต่ถ้าเลย 5 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น หรือไม่หาย ก็ควรพบแพทย์ได้เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อน

ไข้ที่เกิดจากเชื้อไวรัสอื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ หัด คางทูม อีกสุกอีใส ฯลฯ ก็สามารถให้การดูแลรักษาในทำนองเดียวกัน พวกนี้มักจะมีอาการตัวร้อน นานไม่เกิน 7 วัน

สำหรับเด็กเล็กนั้น เนื่องจากเด็กไม่รู้เรื่อง ถ้าเริ่มมีไข้ เราใช้หลังมือแตะที่หน้าผาก จะรู้ว่าร้อนกว่าปกติเราควรใช้ผ้าชุบน้ำธรรมดาเช็ดตัวและประคบศีรษะไว้ เพื่อป้องกันไข้ขึ้นสูงจนชัก พร้อมกับให้ยาลดไข้เด็ก

ทั่วไปแล้วเมื่อเด็กเป็นไข้ พ่อแม่เด็กมักจะตกใจ เมื่อไม่สามารถกรอกยาลดไข้ให้เด็กได้ การช่วยที่ดีที่สุดคือ การใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัว ช่วยได้ดีมาก เป็นการป้องกันการชักได้อย่างดี

เราต้องยอมรับว่า เด็กชักครั้งหนึ่ง เซลล์ของสมองเสียได้เป็นแสนๆเซลล์ มันมีหลายล้านเซลล์อยู่ก็จริง ถ้าเสียทีละแสนๆเซลล์ กว่าจะโตชักไปหลายครั้ง เซลล์สมองอาจตายไปร้อยละ 20-30 ทำให้สมองล่าช้า เมื่อโตขึ้นการคิดอะไรจะไม่ทันคนอื่นได้ การป้องกันจึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

สัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์
สำหรับสัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์นั้นก็คือ
1. สังเกตว่าสติเลอะเลือน พูดจาไม่ค่อยรู้เรื่อง หรือเรียกไม่ค่อยรู้ตัว อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มาลาเรียขึ้นสมอง
2. มีไข้ร่วมกับปวดศีรษะมาก หรือมีการปากเบี้ยวข้างใดข้างหนึ่ง หรือตามัวข้างใดข้างหนึ่ง หรือก้มคอไม่ลง อันนี้อาจเกิดจากโรคทางสมองเช่นกัน
3. มีการกระตุกของแขนขา อาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับสมอง, บาดทะยัก
4. มีไข้และหอบหายใจลำบาก อาจเกิดจากปอดบวม คอตีบ
5. มีไข้และมีอาการปวดท้องมากแตะถูกท้องเจ็บ อันนี้อาจเกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือการอักเสบของอวัยวะภายในช่องท้อง
6. มีไข้ร่วมกับหน้าตาแลดูซีดเซียวหรือเหลือง อาจเกิดจากโรคทางเลือด โรคตับ หรือถุงน้ำดี
7. มีไข้ร่วมกับมีจ้ำเขียวพรายย้ำขึ้นตามตัว หรือมีเลือดออกตามส่วนต่างๆของร่างกาย อาจเป็นไข้เลือดออก หรือโรคทางเลือด
8. มีอาการปวดบวมตามข้อต่างๆร่วมด้วย อาจเป็นโรคข้ออักเสบ ไข้รูห์มาติค
9. มีอาการตัวร้อนนานเกิน 7 วัน มักมีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อที่ไม่ใช่จากเชื้อไวรัส ซึ่งต้องการการเยียวยาด้วยยาปฏิชีวนะที่ถูกต้อง เช่น ไข้รากสาดน้อย (ไทฟอยด์) ไข้มาลาเรีย วัณโรค

ยิ่งถ้าเป็นไข้เรื้อรังนานเป็นเดือนๆแล้วละก็ ควรไปพบแพทย์โดยเร็วเพราะอาจมีสาเหตุจากวัณโรค มะเร็ง โรคเอสเอลดี โรคหัวใจอักเสบ โรคฝีที่ซ่อนเร้นอยู่ในอวัยวะภายในร่างกายเป็นต้น

ไข้มีความแตกต่างระหว่าชาย หญิง เด็ก ผู้ใหญ่ อย่างไร

ที่เราพูดว่าเรามีไข้หรือเป็นไข้ เราถือว่าเป็นภาวะผิดปกตินะครับ
โดยปกติแล้วเด็ก ผู้ใหญ่ ชาย หญิง ไม่มีอะไรแตกต่างกัน

นอกจากผู้หญิงนั้น ในระยะที่มีระดูหรือประจำเดือน อุณหภูมิอาจสูงกว่าปกติได้คือ สูงกว่า 37 องศาเซลเซียส ถ้าเผื่อเราวัดดู

แต่อย่างนี้เราเรียกว่า เป็นสรีรวิทยาของร่างกายเรา ไม่เรียกว่าเป็นไข้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในกรณีนี้
ในกรณีเด็กนั้นมีข้อสังเกตอยู่นิดหนึ่ง เด็กความร้อนสูงนิดเดียวก็จะเกิดอาการชักได้ จึงควรระมัดระวัง

ไข้สูง ไข้ต่ำ บอกถึงความรุนแรงของโรคจริงหรือ
ไม่ใช่ครับ คนทั่วๆไปมักคิดว่าไข้สูง บอกถึงความรุนแรงของโรค ไข้ต่ำบอกถึงความไม่รุนแรงของโรค อันนี้ไม่ตรงไปเสียหมด

การที่ไข้จะสูงหรือจะต่ำขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย
ถ้าเผื่อเราเป็นคนผอมขาดอาหารได้รับโรคติดเชื้ออย่างมากมายก็จริง ไข้อาจจะขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ได้ อันนี้เป็นสัญญาณอันตรายอย่างหนึ่ง ซึ่งจะหลอกเราได้

ในทางตรงกันข้าม คนที่แข็งแรง พอได้เชื้อนิดหน่อยไข้สูงเลย เราจะบอกทึกทักเอาว่า คนนี้โรคติดเชื้อรุนแรงมาก ไม่ใช่ครับ มันเป็นการตอบสนอง ซึ่งมาแรงก็ตอบไปแรง ในเมื่อแรงปะทะของเรายังมีปฏิกิริยาตอบแรงอยู่
อันนี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองซึ่งขึ้นอยู่กับต้นทุนว่า ใครมีมากใครมีน้อยในการต่อสู้

ถ้าไข้สูงถึง 41-42 องศาเซลเซียส จะทำให้ตายได้ไหม
ได้ครับ คนไข้จะโคม่า แล้วก็ตายเนื่องจากศูนย์การทำงานต่างๆ ในร่างกายเราไม่ทำงาน คือมันปิดสวิตซ์หมด

ไข้มีคุณและโทษอย่างไร

อันนี้มองได้หลายแง่
อาการไข้เป็นสัญญาณเตือนเราอย่างหนึ่งว่า จะมีอันตรายมาถึงตัวเราแล้ว ถ้ามองในแง่ดีก็เป็นผลการเตือนให้เรารับทราบหรือกลับมามองดูตัวเองซิวา เรากำลังจะมีอะไรเกิดขึ้น จะได้รักษาตัวเองเสียแต่เนิ่นๆ

อันตรายที่พบได้บ่อย คือ การชักซึ่งส่วนมากจะเกิดกับเด็กอายุที่ต่ำกว่า 5 ปีลงมา

ทำไมจึงบอกแต่ว่าเด็กต้องระวังไข้สูงอาจชักแล้วผู้ใหญ่ไม่ชัก? เมื่อไข้สูง
ผู้ใหญ่ก็มีไข้ขึ้นสูงจนชักได้ แต่น้อยมาก เพราะผู้ใหญ่มีความทนทานต่อไข้ได้สูงกว่า
ที่สำคัญคือ ผู้ใหญ่สามารถบอกเราได้ว่า เป็นไข้ เด็กบอกไม่ได้ เด็กนี่หมายถึง เด็กเล็กนะครับ

ผู้ใหญ่เมื่อรู้ว่าเป็นไข้ก็เริ่มขวนขวายรักษาตัวเองได้ เด็กทำไม่เป็น ช่วยตัวเองไม่ได้ ขนาดลูกผม 8 ขวบแล้ว ยังบอกไม่ได้เลยว่าเป็นไข้ เจ็บคอ

ทำไมคนเป็นไข้เกิดหนาวสั่น ขณะที่ตัวร้อน
ปกติความร้อนส่วนใหญ่ออกจากร่างกายทางเหงื่อ โดยผ่านผิวหนังประมาณร้อยละ 80-90 ฉะนั้นการขยายตัวหรือหดตัวของหลอดเลือดบนผิวหนัง จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเก็บหรือถ่ายเทความร้อนออกจากร่างกาย เวลามีความร้อนสูง หลอดเลือดทีผิวหนังจะขยายตัว และเมื่อมีอุณหภูมิต่ำลงหลอดเลือดที่ผิวหนังจะหดตัวพร้อมกับเกิดการสั่น

การหนาวสั่นเป็นการคล้ายๆ การป้องกันของร่างกายชนิดหนึ่ง เพื่อไม่ให้สูญเสียความร้อน เพราะว่าเมื่อเรามีไข้ จุดสมดุลของอุณหภูมิมันเคลื่อนที่ไปแล้ว จากปกติคือ 37 องศาเซลเซียส ไปอยู่สูงขึ้นอาจ 38 ถึง 39 องศาเซลเซียส

ความรู้สึกของร่างกายพยายามตอบสนองตาม พยายามจะเก็บความร้อนเอาไว้ เป็นความรู้สึกนะครับ เนื่องจากจุดสมดุลเคลื่อนที่ไปสูงขึ้น ร่างกายของเราก็พยายามที่จะเก็บความร้อนโดยวิธีการหดตัวของผิวหนังทำให้เกิดอาการสั่น เพื่อให้ความร้อนมันสูงได้ระดับนั้น

แต่ในขณะเดียวกันร่างกายมันก็มีอาการป้องกัน ไม่ให้ร้อนเกินไป มีการระเหยทางเหงื่อ ทางลมหายใจ ทางปัสสาวะ ก็เกิดการทำงาน 2 อย่างพร้อมๆ กัน
นี่แหละครับทำให้คนไข้รู้สึกหนาวสั่น ในขณะที่ตัวร้อน

ที่ว่าเป็นไข้ ไม่ควรออกกำลังมากๆ จริงหรือไม่
ครับ อันนี้เป็นความจริงครับ ที่ไม่แนะนำให้ออกกำลังเพราะเวลาออกำลังหัวใจทำงานหนักมาก
เป็นไข้จึงควรกินยาลดไข้ พักผ่อน ดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยระบายความร้อน

การฉีดยาลดไข้ดีไหม
ไม่ควรกระทำ การที่ฉีดยาลดไข้ผมคิดว่า หมอแผนปัจจุบันทำให้เกิดความเชื่อผิดๆ ต่อคนไข้ ทำให้ชาวบ้านคิดว่า หมอไม่ฉีดยาเป็นหมอไม่เก่งไป

อย่างยาลดไข้ที่ใช้กันเช่น ยาพวกไดไดโรน อันตรายมาก อันนี้ฉีดแล้วอาจช็อคตายเลยก็ได้ แต่เป็นยาที่ลดไข้ได้ผล

เป็นไข้ควรกินน้ำแข็งหรือไม่
ไม่ควรครับ การกินน้ำแข็ง ทำให้อุณหภูมิตกลงเร็ว ทำให้กลไกการป้องกันของร่างกายเสียไป เกิดเชื้อโรคแทรกซ้อนได้ง่าย เพราะฉะนั้น คนกินน้ำแข็งจะรู้สึกเองว่า พอกินน้ำแข็งจะรู้สึกสำลัก เกิดมีไอ เพิ่มมากขึ้น รู้สึกตัวเองไม่สบายเพิ่มขึ้น เพราะฉะนั้นคนไข้จะรู้ได้เองว่า กินแล้วรู้สึกตัวเองไม่ดี

ที่ชาวบ้านบางครั้งเชื่อกันว่า เวลาเป็นไข้ควรงดของแสลง มีความเห็นอย่างไร
ครับ ในโบราณความเชื่อถือเขาเป็นอย่างนั้น อย่างผม ผมก็เกิดในสมัยที่ว่าใช้ยาหม้อยาฝนลดไข้ ก็ไม่มีอันตรายอะไร ผมเวลาเป็นไข้แม่ก็ห้ามกินนี่กันโน้น

ผมคิดว่าคนโบราณที่เขาห้ามก็มีเหตุผลนะครับ
อย่างการกินอาหารบางอย่างอาจทำให้กลไกการป้องกันโรคติดเชื้อมีโรคแทรกได้ หรือว่าถ้าเผื่อว่ามีอาการแพ้เกิดขึ้นแทนที่เราจะใช้ภูมิต้านทานต่อสู้กับเชื้อโรคที่เราได้รับ มันกลับใช้ภูมิต้านทานในการเป็นภูมิแพ้ไป

เราต้องยอมรับว่าภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นในร่างกายของเรามันมีข้อดีและข้อเสีย ถ้ามันใช้มากไปในด้านโรคภูมิแพ้ มันไปสร้างทางนั้นมาก ทางป้องกันโรคก็จะน้อยลง เชื้อโรคก็เข้าตีเราง่ายเท่ากับร่างกายเราต้องต่อสู้ศึก 2 ด้าน แย่แน่

ถ้ามองแบบนี้จะเห็นว่า ชาวบ้านฉลาดนะครับ ไม่ใช่โง่ เพราะฉะนั้น เราจะว่าพ่อแม่เราโง่ไม่ได้ เขารู้ รู้ดีว่ากินเข้าไปแล้วเกิดแพ้ในขณะมีไข้ก็แย่

สมมติว่าคุณไปกินกุ้ง กินหอย ในระยะที่คุณเป็นไข้ คุณเกิดแพ้ขึ้นมา คุณแย่แน่ๆ โดยเฉพาะถ้าสมัยโบราณ ไม่มียาปฏิชีวนะ ตายลูกเดียว เขาก็ต้องบอกห้ามกินของแสลงไว้ก่อน

ดังนั้น เวลาเป็นไข้ เราก็ควรกินอาหารที่มีประโยชน์ อาจจะกิน เช่น ไข่ ปลาน้ำจืด พวกถั่ว นมถั่วเหลือ พืชผักผลไม้ ซึ่งของพวกนี้ไม่ค่อยแพ้ ถ้าเป็นอาหารทะเลมักจะแพ้ได้ง่าย

อันนี้แหละ เป็นสิ่งที่ผมว่าน่าจะถูกต้อง ถ้าเราเอาทฤษฎีสมัยใหม่ มาประยุกต์กับความคิดเห็นของคนโบราณสมัยเก่า ผมว่าไปกันได้

การวัดอุณหภูมิของร่างกายแบ่งด้เป็น 2 แบบใหญ่ๆ คือ 1. แบบไม่ใช้ปรอท 2. แบบใช้ปรอท
1. แบบไม่ใช้ปรอท
วิธีนี้ได้ผลไม่แน่นอน ใช้ของที่มีอยูในร่างกายของเราคือ มือ ไงครับ แต่ต้องใช้หลังมือ ฝ่ามือนั้นค่อนข้างหนารับความรู้สึกสู้หลังมือไม่ได้

จุดที่แตะ ที่หน้าผาก ซอกคอ รักแร้ หรือจะใช้แก้มแนบกับหน้าผากก็ได้

                               

2. แบบวัดด้วยปรอท กระเปาะขีดวัดจะใหญ่กว่าและแบนใช้วัดได้ทางปาก และรักแร้

     

วิธีใช้
1. สลัดปรอทให้สีเงินลงต่ำกว่าขีดเลข 35 องศาเซลเซียส
2. อมปรอทด้านกระเปาะปรอทไว้ใต้ลิ้นปิดปากให้สนิท จับเวลา 3 นาที แล้วเอาออกอ่านโดยเช็ดน้ำลายออกด้วยกระดาษเช็ดมือ
3. ทางรักแร้ก็วัดเช่นเดียวกัน แต่ใช้เวลาเป็น 5 นาที

                                                        

วิธีวัดก็คล้ายกับทางปาก แต่
- ก่อนวัดต้องหล่อลื่นปรอทด้วยวาสลิน น้ำสบู่ หรือสารหล่อลื่น
- สอดลึกเข้าไปประมาณ 1-1 1/2 นิ้ว
- จับเวลา 1 นาที แล้วเอาออกอ่าน โดยเช็ดด้วยกระดาษก่อน (ห้ามล้าง)

                                                      

                                                            

               

อุณหภูมิปกติของร่างกายจะประมาณ 37 องศาเซลเซียส หรือ 98.7 องศาฟาเรนไฮด์
การวัดอุณหภูมิของร่างกาย วัดทุก 4 ชั่วโมง จดความร้อนที่วัดได้ทุกครั้ง เพื่อดูอาการเปลี่ยนแปลง

อย่าลืมว่า...
ในช่วงบ่ายไข้จะสูงกว่าเวลาเช้า
- อุณหภูมิวัดทางรักแร้จะต่ำกว่าทางปาก 1 องศาฟาเรนไฮด์ (oฟ)
- อุณหภูมิวัดทางก้นจะสูงกว่าทางปาก 0.6 องศาฟาเรนไฮด์ (oฟ)
 

ข้อมูลสื่อ

50-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 50
มิถุนายน 2526
โรคน่ารู้
ศ.นพ.อนุวัตร ลิ้มสุวรรณ