• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาคลายกังวล


ความรู้สึกวิตกกังวลหรือกลัว เมื่อตกอยู่ในภาวะอันตรายเป็นปฏิกิริยาปกติของคนทั่วไป และถือเป็นส่วนหนึ่งของปฏิกิริยาต่อสู้-ถอยหนี ที่ติดตัวมนุษย์มานมนาน
ถ้าภยันตรายปรากฏอยู่จริง การวิตกหรือความกลัวก็ถือเป็นปฏิกิริยาที่เหมาะสมเพื่อความอยู่รอด แต่ถ้าหากภอันตรายมิได้มีอยู่จริง หรือระดับของภยันตรายต่ำมาก หรือปฏิกิริยาวิตกกังวลมากเกินกว่าที่ควร จะเป็นแล้วไซร์ ก็นับว่าความวิตกกังวลเช่นนี้ไม่เหมาะสม

ในสังคมทุกวันนี้ ที่เต็มไปด้วยความสลับซับซ้อน ยุ่งเหยิง มนุษย์ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคามของสิ่งที่เหนือความสามารถของมนุษย์ที่จะควบคุมได้โดยลำพัง เช่น ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ, ภาวะหนี้สินของครอบครัว, การคดโกง, การใช้เล่ห์เหลี่ยมหลอกลวง สารพัดในวงการธุรกิจ เป็นต้น ทำให้คนจำนวนมากต้องอยู่ภายใต้ภาวะที่ถูกแหย่หรือกระตุ้นให้วิตกอยู่เกือบตลอดเวลา จนเกิดโรควิตกกังวล
โรควิตกกังอาจไม่ปรากฏอาการที่แสดงถึงความกลัว หรือวิตกต่อสิ่งใดชัดเจน โรคนี้อาจปรากฏอาการเบื่ออาหาร, เจ็บหน้าอก, ใจสั่น, หายใจไม่อิ่ม (ไม่ทั่วท้อง) และเมื่อยล้าตลอดเวลา อาการที่กล่าวมาแล้วนี้ อาจเป็นอาการของโรคทางกาย เช่น โรคติดเชื้อ, โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ, โรคคอพอกเป็นพิษ เป็นต้น อย่างไรก็ตามในบรรดาคนที่มีอาการประเภทที่กล่าวมา ส่วนมากเป็นโรควิตกกังวล

วิธีรักษาโรควิตกกังวล มี 2 แบบคือ การใช้ยาและจิตบำบัด ทั้ง 2 วิธีนี้ต้องใช้ควบคู่กันไป
จิตบำบัดเป็นวิธีการที่แพทย์ใช้ เพื่อค้นหาสาเหตุของความวิตกกังวล แล้วหาทางแก้ไขไปตามเหตุที่พบ ในขณะเดียวกันก็ใช้ยาช่วยบรรเทาอาการวิตกกังวล ซึ่งรบกวนการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย จนกว่าเหตุที่แท้จริงจะถูกแก้ให้ตกไปดังนั้นจึงขอย้ำเตือนไว้ในที่นี้ว่า ยาเป็นเพียงวิธีการเสริมการรักษาทางจิตบำบัด การใช้ยาเพียงอย่างเดียวโดยไม่พยายามแก้ต้นเหตุของโรควิตกกังวล ย่อมไม่สามารถรักษาโรคนี้ให้หายขาดได้ และอาจนำไปสู่การพึ่งพิงยาอย่างงมงายในที่สุด

ยาคลายกังวลมีหลายประเภท แต่ที่ทำจะนำมากล่าวในที่นี้คือ ยากลุ่มเบนโซไดอะซีไพน์ (BENZODIAZEPINES) ซึ่งจัดเป็นยาที่แพทย์นิยมใช้ เพราะได้ผลดีและปลอดภัยกว่ายาชนิดอื่นในกลุ่มยาคลายกังวล
ยาเบนโซไดอะซีไพน์ มี 5 ชนิดคือ
1. คลอร์ไดอะเซพ็อกไซด์
(CHLORDIAZEPOXIDE)
2. คลอราซีเพต (CLORAZEPATE)
3. ไดอะซีแพม (DIAZEPAM)
4. .ลอราซีแพม (LORAZEPAM)
5. ออกซาซีแพม (OXAZEPAM)
ยาทั้ง 5 ชนิดที่กล่าวข้างต้นมีฤทธิ์และผลข้างเคียงส่วนใหญ่คล้ายกัน

กล่าวโดยรวมยากลุ่มนี้ออกฤทธิ์กดการทำงานของสมองทำให้มีอาการง่วงซึมเล็กน้อย แต่ไม่ทำให้มือสั่น ถ้าใช่ในขนาดปกติ  การใช้ยาในระยะ 2-3 วันแรก อาจมีอาการง่วงซึม มึนงง และอ่อนเปลี้ย แม้ว่าจะกินยาเฉพาะก่อนนอนก็ตาม ก็จะพบอาการเหล่านี้ขณะตื่น ดังนั้นจึงไม่ควรขับรถหรือทำงานกับเครื่องจักร ยาทุกตัวในกลุ่มนี้มักทำให้ปากแห้ง กรณีนี้อาจดื่มน้ำทีละน้อยหรือบ่อยขึ้นก็จะลุเลาอาการปากแห้งได้ในระยะที่เริ่มใช้ยา อาจรู้สึกคลื่นไส้และท้องผูก เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง อาการเหล่านี้จะหายไปได้ โดยการปรับขนาดยาให้เหมาะสม

  


อาการข้างเคียง ที่รุนแรงคือ การแพ้ยา, เป็นพิษต่อเลือด และตับ ดังนั้นในระหว่างกินยานี้ หากเกิดอาการฟุ้งซ่าน, มึนงง, ซึมเศร้า, มีผื่นผิวหนัง, มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ, หงุดหงิด, หัวใจเต้นช้าผิดปกติ, หายใจไม่ทั่วท้อง, มีแผลในปากเรื้อรัง หรือตาเหลือง ให้รีบพบแพทย์

การหยุดยาในทันทีหลังจากกินยามากติดต่อกันนาน ๆ อาจเกิดอาการขาดยา อันได้แก่ ตะคริว, คลื่นไส้, อาเจียน, ฟุ้งซ่าน, ชัก, เหงื่อออกมากผิดปกติ หรือมือ-เท้าสั่น ถ้ามีอาการเช่นนี้ ต้องไปพบแพทย์
คนที่ป่วยเป็นหอบหืด, ถุงลมพอง, โรคปอดเรื้อรัง, ต้อหิน, โรคไต, โรคตับ, โรคซึมเศร้า, myasthe-nia gravis, โรคจิตรุนแรง หรือมีอาการพลุ่งพล่าน ไม่ควรใช้ยานี้ เพราะอาการจะกำเริบ หรือเลวลง

เบนโซไดอะซีไพน์ ทำให้ฤทธิ์ยาต่อไปนี้แรงขึ้นจนอาจเป็นอันตราย คือ ยาแก้แพ้, ยาแก้หวัด, (แอนติอิสตามิน), ยากันชัก, ยาเบนโซไดอะซีไพน์ชนิดอื่น และยาแก้ซึมเศร้า ดังนั้นต้องบอกให้แพทย์ทราบว่าคุณกำลังใช้ยาพวกนี้อยู่ ห้ามดื่มสุรา, เบียร์ ในขณะที่ใช้ยาชนิดนี้ ยานี้สามารถซึมผ่านรกไปสู่ทารกในครรภ์และออกมากับน้ำนมแม่ได้ จึงควรหลีกเลี่ยงในหญิงมีครรภ์ และระหว่างให้นมบุตร
 

ข้อมูลสื่อ

109-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 109
พฤษภาคม 2531
108 ปัญหายา