• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาขยายหลอดลม

    

โรคหืด เป็นโรคที่พบบ่อยชนิดหนึ่งในคนทั่วโลกทุกเพศ ทุกวัย
อาการของโรคหืดได้แก่ หายใจมีเสียงดังอื้ด หรือหวื๊ด หายใจลำบาก หอบลึก เล็บมือเล็บเท้าเขียวคล้ำ เหงื่อออก ตัวเย็น และอาจถึงแก่ชีวิต ได้เนื่องจากการหายใจล้มเหลว เป็นโรคที่มีระยะการป่วยยาวนาน เป็น ๆ หาย ๆ สร้างความทุกข์ทรมานทั้งตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีหลายประการ เช่น ภาวะภูมิแพ้, การติดเชื้อของทางเดินหายใจ, การออกกำลังกายมากเกินไป, ความเครียดทางอารมณ์, การระคายเคืองต่อหลอดลมจากควันบุหรี่ หรือควันพิษอื่น ๆ เป็นต้น

ยาบรรเทาอาการหืดในปัจจุบัน มี 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ยาขยายหลอดลม (BRONCHODILATORS)
2. ยาป้องกันการหอบ
3. ยาคอร์ติโคสตีรอยด์
4. ยาอื่น ๆ

ยาขยายหลอดลม แบ่งได้เป็น 3 จำพวกคือ
1. ยากระตุ้นระบบประสาท ซิมพาเทติก (อะดรีเนอร์จิก) (ADRENERGIC DRUGS)
2. ยากลุ่มแซนทีน (XANTHINES)
3. ยาต้านระบบประสาท พาราซิมพาเทติก หรือยาต้านโคลิเนอร์จิก(ANTICHOLINERGIC DRUGS)

 

1. ยากระตุ้นระบบประสาท ซิมพาเทติก ยาประเภทนี้ ชนิดที่ได้ผลดีและแพทย์นิยมใช้คือ
1.1 อะดรีนาลีน เป็นยาฉีดเข้ากล้ามหรือใต้ผิวหนัง ใช้ในรายที่เกิดอาการหอบเฉียบพลัน ออก
ฤทธิ์เร็วและได้ผลดี แต่ทำหั้วใจเต้นเร็วขึ้น ความดันเลือดสูงขึ้น จึงห้ามใช้ในคนที่มีโรคหัวใจ, โรคความดันเลือดสูง, โรคคอพอกเป็นพิษ และคนชรา

1.2 เทอร์บิวทาลีน (TERBUTALINE) มีชื่อการค้า เช่น บริคานิล (BRICANYL), เทอร์บิวลิน
(TERBULIN), อะทาลีน (ATALINE), บรองโคดิล (BRONCODIL) เป็นต้น
มีทั้งชนิดสูดดม, ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง และชนิดกิน ชนิดสูดดม และชนิดฉีดออกฤทธิ์เร็วกว่าชนิดกิน
ชนิดสูดดมก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าอีก 2 ชนิด เพราะตัวยาซึมเข้าสู่ร่างกายน้อย ออกฤทธิ์ที่
หลอดลมเป็นส่วนใหญ่
อาการข้างเคียง ได้แก่ มือสั่น, ใจสั่น (หัวใจเต้นเร็ว), นอนไม่หลับ พบว่าคนส่วนใหญ่สามารถทน
อาการข้างเคียงที่กล่าวมานี้ได้ดี และปรับตัวได้ใน 2-3 สัปดาห์ หลังจากใช้ยา อย่างไรก็ตามหากทนอาการข้างเคียง ไม่ได้ก็ยังมียาขนานอื่นให้เลือกอีก ดังจะกล่าวต่อไป

1.3 ซาลบิตามอล (SALBUTAMOL) ชื่อการค้าเช่น เวนโทลิน (VENTOLIN) มีประสิทธิผล
และผลข้างเคียงเช่นเดียวกับเทอร์บิวทาลีน มีทั้งชนิดสูดดม, ฉีด และกินเช่นกัน สามารถใช้แทนกันได้ เมื่อทนผลข้างเคียงของยาอีกชนิดหนึ่งไม่ได้

1.4 ฟีโนทีรอล (FENOTEROL) ชื่อการค้า เช่น บีโรเทก (BEROTEC) รายละเอียดเหมือน 1.2 และ 1.3

 

2. กลุ่มแซนทีน (XANTHINES) เป็นยาที่มีใช้กันมานานกว่า 40 ปี มีกลไกการขยายหลอดลมที่ยังไม่ทราบแน่ชัด พอจำแนกได้เป็น 3 ชนิดคือ
2.1 อะมิโนฟิลลีน (AMINOPHYLLINE)
2.2 ทีโอฟิลลีน (THEOPHYLLINE)
2.3 อ็อกทริฟิลลีน (OXTRIPHYLLINE)
2 ขนานแรกเป็นยาที่มีราคาถูกกว่าขนานที่ 3 และถูกกว่ายาในข้อ 1.2-1.3 สามารถใช้ร่วมกับยาในกลุ่มที่ 1 ทุกตัว เพราะเสริมฤทธิ์กัน แต่ไม่ได้ทำให้ผลข้างเคียงรุนแรงขึ้น
ยากลุ่มแซนทีน มีเฉพาะชนิดกินและฉีด ถ้าใช้เกินขนาดจะเกิดพิษได้ อันได้แก่ อาการคลื่นไส้ อาเจียน, ปวดศีรษะ, ใจสั่น, หัวใจเต้นเร็ว, ชัก, หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเสียชีวิตได้ ความรุนแรงของอาการพิษขึ้นกับขนาดยาที่ได้รับ ปัญหาจากพิษยาเช่นนี้มักเกิดขึ้นในกรณีที่ฉีดยาเข้าเส้นเลือด เนื่องจาการฉีดยามีโอกาสได้รับยาเกินขนาดมากกว่าการกินยา

โดยทั่วไป ต้องกินหรือฉีดยาแซนทีนทุก 6 ชั่วโมง อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการสังเคราะห์ทีโอฟิลลีนชนิดกินที่ออกฤทธิ์ได้นานถึง 12 ชั่วโมง จึงกินเพียงวันละ 2 ครั้งก็พอ คือ ตอนเช้า กับก่อนนอน ทำให้คนไข้ไม่ต้องตื่นกลางดึกเพื่อกินยา และช่วยป้องกันอาการหืดในระหว่างนอนหลับได้

 

3. ยาต้านระบบประสาท พาราซิมพาเทติก
ที่มีใช้กันในปัจจุบันเป็นอนุพันธ์ของอะโทรพีน มีชื่อทางการแพทย์ว่า ไอพราโทรเพียม โบรไมด์ (IPRATROPIUM BROMIDE) นิยมใช้ในรูปสูดดม เพราะทำให้เกิดอาการข้างเคียงน้อย ในขณะที่ออกฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ดี สามารถใช้ร่วมกับยากลุ่มที่ 1 โดยอาจเสริมฤทธิ์กันได้ดี หรือจะใช้ยาทดแทนยากลุ่มที่ 1 ก็ได้
อาการข้างเคียงของยาชนิดนี้ คือ คอแห้ง, เสมหะข้นเหนียว ซึ่งพบน้อยมากในคนที่ใช้ชนิดสูดดม
 

ข้อมูลสื่อ

112-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 112
สิงหาคม 2531
108 ปัญหายา