• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาสเตียรอยด์

"ทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย การทำความเข้าใจทั้งสองด้านย่อมทำให้สามารถแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที

ยาก็เช่นเดียวกัน หากเรารู้แต่ด้านดีโดยไม่รู้ด้านเสีย(ด้านอันตราย) ย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ
หากท่านผู้อ่านต้องการถามปัญหาเรื่องยาผ่านคอลัมน์นี้ โปรดวงเล็บมุมซอง "108 ปัญหายา" ทางนิตยสารจะทยอยนำคำตอบข้อสงสัยของทานลงตีพิมพ์ในหน้านี้"

การซื้อยาแก้สิวที่เข้ายาพวกสเตียรอยด์เอามาทาสิวจะเป็นผลเสียอย่างไร
ยาแก้สิวประเภททาที่ขายในท้องตลาดมีหลายประเภท บางประเภทเข้ายาพวกสเตียรอยด์ ซึ่งจะมีฤทธิ์ลดอาการการอักเสบได้ชะงัดจริง แต่ถ้าใช้เป็นเวลานานๆ จะเกิดผลเสียตามมา คือ จะเกิดสิวอีกชนิดหนึ่งขึ้นมา เรียกว่า สิวสเตียรอยด์ ซึ่งจะรักษายากยิ่งกว่าสิวธรรมดา และมองดูน่าเกลียดด้วย

เวลาเป็นโรคกระเพาะหรือท้องอืดเฟ้อ เราจะกินโซดามินท์ดีไหม
เวลาเป็นโรคกระเพาะหรือท้องอืดเฟ้อ อันเนื่องมาจากมีกรดมากเกินไป เราควรกินยาลดกรด หรือยาขับลมถ้าไม่มี อาจกินขิง หรือตะไคร้เพื่อขับลมก็ได้

แต่กรณีที่เป็นแผลในกระเพาะอาหารแล้ว (สังเกตจากอุจจาระมีสีดำ แดง หรือสีดำ โดยที่ไม่ได้กินยาบำรุงเลือด) เราควรกินยาลดกรดที่ให้ผลค่อนข้างปลอดภัย คือ พวกที่เข้ายาอลูมินั่มกับแมกนีเซียม ซึ่งจะไม่ดูดซึมหรือดูดซึมเข้าร่างกายได้น้อย จึงไม่มีผลต่อระบบความเป็นกรดด่างของเลือด ไม่เหมือนยาพวกโซดามิ้นท์ ซึ่งเป็นยาแรงและสามารถดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด

ยาโซดามิ้นท์ถ้ากินมากๆ และนานๆ จะทำให้เกิดสภาวะเป็นด่างในกระเพาะอาหาร และยังทำให้เลือดมีสภาวะเป็นด่างมากเกินไป อาจเป็นพิษตามมาได้

กินวิตามินแล้วทำให้อ้วนจริงหรือไม่ กินนานจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไร

วิตามินนั้นใช้กินเพื่อเสริมส่วนที่ร่างกายขาดแคลนเท่านั้น ไม่มีสรรพคุณทำให้อ้วนแต่อย่างใด นอกจากว่าอาจมีผลทำให้เจริญอาหารบ้างเล็กน้อยเท่านั้น

ส่วนอาหารที่ทำให้อ้วนจริงๆ คือ อาหารประเภทแป้งและไขมัน ซึ่งอาหารทั้งสองหมู่นี้เราจะพบในพวก กะทิ นม เนย มันหมู ก๋วยเตี๋ยว แป้ง ของหวาน น้ำตาล ข้าว ข้าวเหนียว เป็นต้น ดังนั้น จึงควรเข้าใจให้ถูกต้อง

ยาที่กินให้อ้วนที่ขายตามท้องตลาด มีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง
ยาที่กินให้อ้วนที่มีขายในท้องตลาดจะมีตัวยาสำคัญ 2 ประเภท คือ
1. พวกสเตียรอยด์ เช่น เพรดนิโซโลน หรือ เด็กซ่าเมธาโซน
2. ไซโปรเฮปตาดีน

ยาตัวที่ 1 นั้นมีอันตรายสูง ใช้นานๆ จะเป็นโรคกระเพาะ ทำให้กระเพาะทะลุตัวบวม เพราะน้ำคั่ง ใบหน้าบวมกลมโต ภูมิต้านทานต่ำ กล้ามเนื้อลีบและกระดูกผุได้ในที่สุด

ยาตัวที่ 2 นั้นอาจช่วยเจริญอาหารได้จริง แต่ถ้าใช้ในเด็กเล็กอาจมีผลไปกดการเจริญเติบโตของเซลล์สมองทำให้เด็กไม่เติบโตตามควร จึงควรระมัดระวังในเด็กเล็ก
 

ข้อมูลสื่อ

50-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 50
มิถุนายน 2526
108 ปัญหายา
กลุ่มเภสัชกรชุมชน