• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

แครอท : หัวผักกาดแดง

 

   


พูดถึงหัวผักกาดแดง หรือโสมน้อย หลายคนคงไม่คุ้นหู แต่ถ้าพูดว่าหัวแครอท หลายคนคงร้องอ๋อ !
หัวผักกาดแดงมีต้นกำเนิดอยู่ที่บริเวณที่ราบสูงอันหนาวเย็นและแห้งแล้วในยุโรป ในเมืองไทยปลูกมากทางภาคเหนือ เพราะมีอากาศหนาวเย็น

หัวผักกาดแดงเป็นผักที่ชาวตะวันตกถือว่าเป็นอาหารชั้นดี โดยเฉพาชาวฮอลันดา ได้จัดเป็นผักประจำชาติ โดยมีประวัติศาสตร์ตอนหนี่งว่า ในวันที่ 26 พฤษภาคม ปี 1794 กองทัพของโปรตุเกสได้ยกไปล้อมเมืองแห่งหนึ่ง ทหารที่รักษาเมืองได้ทำการต่อต้านอย่างเหนียวแน่น แต่เนื่องจากเสบียงในเมืองหมด ทหารเหล่านั้น ก็ได้กินหัวผักกาดแดง หัวมัน และหัวหอมประทังชีวิต และสามารถตรึงกำลังศัตรูไว้ได้ จนกระทั่งวันที่ 3 ตุลาคม จึงมีกำลังทหารจากเมืองหลวงมาช่วยและขับไล่สัตรูออกไป เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรชนเหล่านั้น รัฐบาลฮอลแลนด์จึงได้ประกาศให้ผักทั้ง 3 ชนิดนี้ เป็นผักประจำชาติ
3 ตุลาคม ของทุกปี ชาวฮอลแลนด์ทั่วประเทศจะกินผักประจำชาติเพื่อเป็นการระลึกถึงวีรกรรมในครั้งนั้น

หัวผักกาดแดง ชาวพื้นบ้านจีนเรียกว่า โสมน้อย สำหรับชาวญี่ปุ่นเรียกว่า โสม สาเหตุที่ถูกขนานนามเช่นนี้มีสาเหตุ 2 ประการ คือ ประการแรกหัวผักกาดแดงมีคุณค่าทางอาหารมากมาย ราคาก็ไม่แพง นอกจากนี้ยังใช้เป็นยารักษาโรคได้ และมีรสชาติหอมหวาน ประการที่สอง หัวผักกาดแดง มีรูปร่างคล้ายโสมเกาหลี

หัวผักกาดแดงมีทั้งที่เกิดเองตามธรรมชาติและปลูกในสวนผัก มีสีแดง สีส้ม สีเหลือง เป็นต้น สามารถนำมากินเป็นอาหาร ตากแห้ง บดเป็นผงทำเป็นอาหารกระป๋อง นอกจากนี้คนจีนยังมีการนำหัวผักกาดแดงมาทำเป็นซอส (พวกซีอิ้ว) มีรสชาติ สี และกลิ่นที่น่ารับประทาน

หัวผักกาดแดงหรือหัวแครอทมีชื่อวิทยาศาสตร์ Daucus Carota Linn Subsp Sativus thell วงศ์ Umbelliferae

 

⇒ สารที่พบในหัวผักกาดแดง
หัวผักกาดแดงมีจุดเด่นกว่าผักชนิดอื่น ประการแรกคือ มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าผักชนิดอื่นๆ มีรสหวาน กลิ่นหอม ประการที่สอง มีคาโรทีน (carotenes) มาก
ในหัวผักกาดแดง 100 กรัม จะมีคาโรทีนถึง 3.62 มก. คาโรทีนจะเปลี่ยเป็นวิตามินเอ ซึ่งช่วยบำรุงสายตาและบำรุงผิวหนัง ความจริงผักต่าง ๆ มีคาโรทีนอยู่ในปริมาณที่ต่างกันแต่ก็ไม่มากเท่าหัวผักกาดแดง และถูกทำลายง่ายกว่า ทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมได้ทั้งหมด สำหรับคาโรทีนในหัวผักกาดแดง แม้อยู่ในอุณภูมิสูงก็ไม่ถูกทำลาย และร่างกายยังสามารถดูดซึมได้ง่าย สีของหัวผักกาดแดงยิ่งเข้ม ปริมาณของคาโรทีนก็ยิ่งมีมาก

 

⇒ รายงานการศึกษาวิจัยของแพทย์สมัยใหม่
หัวผักกาดแดงสามารถขับปรอทในร่างกายออกมาได้ ปรอทเมื่ออยู่ในร่างกายถ้าสะสมไปมากจนถึงระดับหนึ่งจะเกิดเป็นพิษได้ จากการศึกษาพบว่าสารที่มีลักษณะคล้ายกาวในหัวผักกาดแดงจะรวมตัวกับปรอท ทำให้สามารถลดความเข้มข้นของปรอทในกระแสเลือดลงได้ วงการแพทย์เชื่อว่าผู้ที่รับปรอทเข้าไปในร่างกายมาก ถ้ากินหัวผักกาดแดงเป็นประจำจะมีประโยชน์อย่ายิ่ง
สรรพคุณ หัวผักกาดแดงมีรสหวาน เผ็ดคุณสมบัติร้อนเล็กน้อย (จัดเป็นหยาง) บำรุงม้าม ช่วยย่อย แก้บิดเรื้อรัง แก้ไอ

 

⇒ ตำรับยาในทรรศนะจีน

โรคตาฟางกลางคืนหรือตาบอดไก่ (Nyctalopia or night blindness)
ใช้หัวหัวผักกาดแดง 3 หัว ล้างให้สะอาด ต้มน้ำกินหรือกินสด ๆ ติดต่อกัน 10 วัน หรือหั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ เติมขิง เกลือ เล็กน้อย ใส่ตับหมูทำให้สุกกิน

อาหารไม่ย่อยในเด็ก ใช้หัวผักกาดแดงสด 250 กรัม เกลือ 3 กรัม ต้มเอากากทิ้ง แบ่งเป็น 3 ครั้ง กินติดต่อกัน 2 วัน หรือจะต้มกับน้ำตาลแดงกินก็ได้

เด็กไอร้อยวัน ใช้หัวผักกาดแดง 120 กรัม พุทรา 10 ลูก น้ำ 3 ชาม ต้มให้เหลือ 1 ชาม กินไปเรื่อย ๆ กินติดต่อกัน 10 วัน

ท้องผูก ใช้หัวผักกาดแดง 500 กรัม คั้นน้ำเติมน้ำผึ้งพอควร กินวันละ 2 ครั้ง เช้า และค่ำ

ความดันโลหิตสูง น้ำคั้นจากหัวผักกาดแดง 100 กรัม กินวันละ 2-3 ครั้ง

 

⇒ หมายเหตุ
ถ้ากินหัวผักกาดแดงมากเกินไปอาจทำให้ผิวหนังเหลืองได้ แต่ตาขาวจะไม่เหลือง (ซึ่งต่างกับโรคตับที่เกิดอาการดีซ่าน) เพียงแต่หยุดกิน อาการผิวเหลืองก็จะหายไปอาการผิวเหลืองแบบนี้จะไม่มีผลต่อความแข็งแรงของสุขภาพเลย                     

                                                       

ข้อมูลสื่อ

67-008
นิตยสารหมอชาวบ้าน 67
พฤศจิกายน 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล