• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ฟัก : ลดความอ้วน

 

ฟัก เป็นอาหาร (ผัก) อีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาต้มทำแกงจืด เป็นอาหารที่ช่วยแก้ร้อนใน กระหายน้ำได้เป็นอย่างดี ถิ่นกำเนิดดั้งเดิมของฟักอยู่ที่ประเทศจีน เป็นพืชที่ชาวจีนรู้จักนำมาเป็นอาหารและยาสมุนไพรมานาน ดังมีบันทึกไว้ในตำราเภสัชเล่มแรกของจีน “เสินหนงเปิ่นฉ่าวจิง” (Shen nong ben cao jing) ตั้งแต่โบราณมาฟักถูกนำมาใช้เป็นอาหารสำหรับลดความอ้วนที่ดีชนิดหนึ่ง ดังบันทึกในหนังสือเหลียวเปิ่นฉ่าวว่า “สำหรับผู้ที่อยากให้ร่างกายผอมแต่แข็งแรงให้กินเป็นประจำ ถ้าอยากอ้วนก็อย่ากิน” ในประวัติศาสตร์ของชาวจีนที่อพยพมายังเอเซียอาคเนย์เล่าว่า ในเรือที่บรรทุกชาวจีนมานั้น อาหารสำคัญที่ขาดไม่ได้คือฟัก ทั้งนี้เพราะคนที่มากับเรือสมัยนั้น ต้องกรำแดดกรำฝนเป็นเวลาหลายวัน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง นอกจากนี้ผลฟัก (ลูกใหญ่)ยังเป็นทุ่นลอยน้ำได้เป็นอย่างดีในยามเรือล่ม

 

⇒ ฟักมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Benincasa hispida (Thumb) Cogn. วงศ์ Cucurbitaceae

 

⇒ สารเคมีที่พบ
ฟัก 1 กก. มีโปรตีน 3 กรัม น้ำตาล 16 กรัม เส้นใย 30 กรัม แคลเซี่ยม 154 กรัม ฟอสฟอรัส 90 กรัม เหล็ก 2.2 กรัม คาโรทีน 0.08 มก. วิตามิน บี 1 0.08 มก. วิตามิน บี 2 0.16 มก. นิโคตินิค แอซิค 2.2 มก.วิตามินซี 122 มก.

 

⇒ สรรพคุณ
ฟักมีรสจืด คุณสมบัติเย็น (จัดเป็นพวกยิน) มีสรรพคุณ ดับร้อนถอนพิษ ขับปัสสาวะ แก้พิษสุราหรือปลา แก้อาการฝีอักเสบ เบาขัด คอแห้ง หน้าแดง กระหายน้ำ ร้อนอึดอัด

 

⇒ ตำรับยาในทรรศนะจีน
1. แก้ร้อนใน ไข้สูง หรือไตอักเสบเรื้อรัง : ใช้ฟัก ½ กก. ต้มน้ำให้ได้ประมาณ 3 แก้ว แบ่งกิน 3 ครั้ง ใน 1 วัน

2. สตรีเบาขัดในระหว่างตั้งครรภ์ : คั้นน้ำฟัก 1 แก้ว ผสมน้ำผึ้งให้พอมีรสหวาน ดื่มบ่อย ๆ

3. ผิวหนังมีอาการแพ้เป็นผด: ต้มเปลือกฟัก ล้างบริเวณที่เป็น

4. ผลัดตกหกล้ม เอวเคล็ด : ใช้เปลือกฟักผิงไฟให้แห้ง บดเป็นผงผสมเหล้ากินครั้งละ 6 กรัมจะช่วยลดความเจ็บปวดได้

5. ไตอักเสบบวมน้ำ : ใช้เปลือกฟัก 120 กรัม หนวดข้าวโพด 30 กรัม ต้มกิน แบ่งน้ำที่ต้มได้เป็น 3 ส่วน กินใน 1 วัน

6. ไออักเสบเรื้อรัง : ใช้เมล็ดฟัก 15-30 กรัม ต้มกินน้ำ

7. ระดูขาว : ใช้เมล็ดฟัก 30 กรัม บดเป็นผง เติมน้ำตาลกรวด 30 กรัม ตุ๋นกินวันละ 2 ครั้ง

8.เบาหวาน : ให้ต้มฟักที่ปลอกเปลือกแล้ว ต้มน้ำกินครั้งละ 60-90 กรัมเป็นประจำ จะทำให้เบาหวานลดลง

9.ริดสีดวงทวาร : อาการอักเสบเจ็บบริเวณทวารหนัก ให้ต้มฟักแล้วเอาน้ำล้างจะลดการอักเสบลงได้

 

⇒ อาหาร
ถ้าอากาศร้อนมีอาการคอแห้ง ร้อนอึดอัด ไอมีเสลดสีเหลือง ปัสสาวะเหลือง ปากเป็นแผล ให้ต้มแกงจืดฟักกินกับข้าว หรือกินเฉพาะแกงจืดก็ได้ แกงจืดนี้จะมีสรรพคุณดับร้อนแก้กระหายน้ำ ขับปัสสาวะ ถ้ากินบ่อย ๆในฤดูร้อนก็จะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอาการดังกล่าวข้างต้นได้

1. ฟักและใบบัว : ใช้ฟักสด ½ กก. ใบบัว 1 ใบ ใส่น้ำต้ม และใส่เกลือเล็กน้อยกินเนื้อฟักและน้ำ หรือจะใส่เนื้อหมูแดงหรือกุ้งลงไปเล็กน้อยก็ได้ จะได้เพิ่มรสชาติอาหาร

2. ฟัก 200-400 กรัม ลูกเดือย 30-50 กรัม ต้มน้ำจะเติมเกลือแล้วใส่กุ้งหรือเนื้อหมูแดงลงไปเล็กน้อยก็ได้ หรือจะเติมน้ำตาลทำเป็นขนมหวานก็ได้

การศึกษาของการแพทย์สมัยใหม่พบว่า สิ่งที่ฟักไม่เหมือนกับพืชผักส่วนใหญ่คือ ฟักไม่มีไขมันและมีโซเดียมน้อย นอกจากจะใช้เป็นอาหารสำหรับลดความอ้วนที่กินได้นาน ๆ แล้ว ฟักยังเหมาะกับผู้ที่เป็นโรคไต ซึ่งมีอาการบวมน้ำ และผู้ที่เป็นเบาหวานอีกด้วย

 

⇒ ข้อควรระวัง
1. ผู้ป่วยนานๆ มีอาการยินพร่อง (มีอาการกลัวหนาว แขนขาเย็น ไม่กระหายน้ำ ชอบดื่มของร้อน ปวดท้อง ท้องร่วง ปัสสาวะใสและมาก ชั้นฝ้าบนลิ้นขาว ) ห้ามกิน

2. ระหว่างกินยาบำรุง (ยาบำรุงของจีนมี 4 จำพวกใหญ่ ๆ คือยาบำรุงพลัง เลือด ยิน และหยาง) ให้หยุดกินฟักชั่วคราว จนกว่าจะหยุดยาบำรุง.
 

ข้อมูลสื่อ

68-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 68
ธันวาคม 2527
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล