• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

108 ปัญหายา


ทุกอย่างย่อมมีทั้งด้านดีและด้านเสีย การทำความเข้าใจทั้งสองด้านย่อมทำให้สามารถแก้ไขและป้องกันเหตุการณ์ต่างๆ ได้ทันท่วงที

ยาก็เช่นเดียวกัน หากเรารู้แต่ด้านดีโดยไม่รู้ด้านเสีย (ด้านอันตราย) ย่อมเกิดโทษมากกว่าคุณ
หากท่านผู้อ่านต้องการถามปัญหาเรื่องยาผ่านคอลัมน์นี้ โปรดวงเล็บมุมซอง "108 ปัญหายา" ทางนิตยสารจะทยอยนำคำตอบข้อสงสัยของทานลงตีพิมพ์ในหน้านี้


ยุงตามตื้อต้องฉีดยากันยุงทุกคืน จะเป็นอันตรายต่อ สุขภาพมาก น้อย แค่ไหน

บ้านเรามียุงมาก แม้จะมีมุ้งลวดอยู่ก็ตาม แต่เจ้ายุงก็ยังเล็ดลอดเข้ามาในห้องนอน ห้องทำงานจนได้และก็กัดเนื้อด้วยเราเป็นโรคแพ้ยุงกัดด้วย ทำให้ยาลายและเป็นแผลเป็น วิธีที่เราแก้คือ จุดยากันยุงไล่และฉีดน้ำยาดีดีที (เชลล์ท็อกช์และไบเออร์) ก่อนเข้าห้องนอน 1 ช.ม. แทบทุกคืน แต่ก็พยายามหลีกเลี่ยงการสูดเข้าจมูกและดูเหมือนว่าเจ้ายุงจะดื้อต่อยาดีดีทีด้วย เราแก้ปัญหาอีก โดยการกางมุ้งในห้องมุ้งลวด แต่ทำไม่ได้เสมอเพราะอาการร้อนอบอ้าว

ขอเรียนถามว่า การที่ต้องฉีดยากันยุงแบบสเปรย์ทุกๆ วัน คืนก่อนนอนนี้ จะทำอันตรายให้สุขภาพมากน้อยแค่ไหน และยากันยุงชนิดจุดไล่ยุงมีอันตรายต่อสุขภาพมากน้อยแค่ไหนความจริงเราพยายามหลีกเลี่ยงการใช้แต่ก็สุดจะทำได้
ทัศนีย์

ยาฆ่าแมลงชนิดฉีดจะมีอันตรายมากน้อยอย่างใดขึ้นอยู่กับสูตรส่วนประกอบ เดี๋ยวนี้รู้สึกว่ามีการแข่งขันกันทำยาแรงๆ ซึ่งก็อันตรายมากยิ่งขึ้น และแมลงดื้อยามากขึ้นด้วย มีข้อสังเกตว่ายาฆ่าแมลงที่มีตัวยาที่ลงด้วยคำว่า "ไธออน" "คาร์บาเมต" "ฟอสเฟต" และประเภท "คลอโร" เป็นยาแรงสลายตัวได้ยาก ถ้ารับเข้าร่างกายจะมีการสะสมพิษและเกิดอันตรายภายหลังได้

ยาที่คุณทัศนีย์ใช้อยู่มีทั้ง "ฟอสเฟต" "คลอโร" จัดได้ว่าอันตรายมากและถ้าซื้อผิดเอายาฆ่าแมลงสาบซึ่งมี "คาร์บาเมต" ไปใช้จะยิ่งอันตรายมากขึ้น

ยาฆ่ายุงที่จัดได้ว่ามีอันตรายน้อยที่สุดในตลาดขณะนี้ คือยาฆ่ายุงที่ใช้ตัวยา "อัลเลธริน" ส่วนยาจุดกันยุงมีหลายยี่ห้อที่ใช้ "ไพเรธริน" หรือ "อัลเลธริน" จัดได้ว่าอันตรายน้อยพอควร ถ้าหากต้องการทราบว่ายี่ห้อไหนเป็นอันตรายมากน้อยกว่ากัน ก็ดูได้จากฉลากข้างกระป๋อง ซึ่งระบุปริมาณของส่วนผสมไว้

ขอแนะนำให้คุณทัศนีย์ทำมุ้งลวดที่ประตูเปิดเข้าออกเป็น 2 ชั้น จะช่วยได้มากที่จะไม่ให้ยุงเข้าห้องได้ตรงๆ
เภสัชกรพิสิฐ วงศ์วัฒนะ

จะเป็นอันตรายมากไหม ถ้ากินยาแอมพิซิลินและเตตร้าซัยคลีนบ่อยนาน
ยาทุกชนิดมีคุณอนันต์ ก็มีโทษมหันต์ได้เช่นกัน ถ้าหากมีการใช้ยาอย่างไม่ถูกต้อง เช่น ในกรณีแอมพิซิลลิน และเตตร้าซัยคลีน ซึ่งเป็นยาปฏิชีวนะ จึงควรใช้ยาเหล่านี้ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่ควรใช้ยาพร่ำเพรื่อ และการใช้ยาพวกนี้ต้องให้ครบ 7-10 วันติดต่อกัน มิฉะนั้นจะทำให้เชื้อโรคดื้อยาได้ ดังนั้นการใช้ยาพวกนี้แต่ละครั้ง ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเสียก่อน

การใช้ยาจะได้ผลดีและปราศจากอันตราย หากรู้ข้อควรระวังในการใช้ยาแล้วแต่ละตัว

ข้อควรระวังในการใช้ยาแอมพิซิลลิน
คือ
1. รับประทานยาก่อนอาหารครึ่งชั่วโมง เพื่อหลีกเลี่ยงกรดในกระเพาะอาหารที่จะทำลายยา
2. ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ควรให้ยาในขนาดที่แน่นอนและแม่นยำ เนื่องจากไตยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ทำให้ปริมาณยาในร่างกายเหลือมากกว่าปกติ
3. อย่ากินร่วมกับยาลดกรด
4. ถ้าเกิดอาการแพ้ คืออาจมีผื่นคัน ท้องเดินให้หยุดกินยาทันทีแล้วปรึกษาแพทย์หรือเภสัช

ข้อควรระวังในการใช้ยาเตตร้าซัยคลีน คือ
1. ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเพนิซิลลิน
2. ห้ามรับประทานพร้อมกับนม ยาลดกรด ยาบำรุงโลหิต เพราะยานี้จะเกิดสารประกอบเชิงซ้อนขึ้น ทำให้การดูดซึมยาลดลง
3. ห้ามใช้ในหญิงที่มีครรภ์และให้นมบุตร และในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี เพราะจะทำให้ฟันของเด็กเป็นสีน้ำตาล นอกจากนี้ทำให้การเจริญเติบโตของกระดูกและสมองผิดปกติด้วย
4. ระวังยาที่หมดอายุ จะเป็นพิษต่อไต และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ วิธีสังเกตว่ายานี้หมดอายุโดยแกะแคปซูลออก ถ้าเป็นยาดีผลจะเป็นสีเหลือง ถ้าเป็นยาหมดอายุจะมีสีน้ำตาล
5. ห้ามใช้ในคนที่เป็นโรคไตเพราะยานี้จะขับออกทางไต
 

ข้อมูลสื่อ

53-006
นิตยสารหมอชาวบ้าน 53
กันยายน 2526
108 ปัญหายา
กลุ่มเภสัชกรชุมชน