• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

กดจุดเพิ่มความสูง จริงหรือ?

ปัจจุบันนี้โฆษณากลายเป็นสิ่งที่เราได้ดูได้เห็นได้ยินได้ฟังกันอยู่ทุกวัน เรียกว่า เกือบจะตลอดเวลาก็ว่าได้ ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาเปิดวิทยุฟังข่าวฟังเพลง ก็ได้ยินเสียงโฆษณาคั่นรายการ จะอ่านหนังสือพิมพ์ก็จะเห็นรูปโฆษณาเกือบทุกหน้า ยิ่งหนังสือพิมพ์บางฉบับก็เล่นโฆษณาเต็มหน้ามันจะจะ ลูกนัยน์ตาซะเลย พอนั่งรถไปทำงานก็เห็นป้ายโฆษณาตามถนนตามตึกเกลื่อนไปหมดทั้งสองฟากทาง ก็มันเล่นกรอกหูกรอกตาเราอยู่ตลอดวันตลอดเวลาอย่างนี้นะซิ ถึงได้มีผู้คนจำนวนมากซื้อของเพราะหลงเชื่อคำโฆษณา โดยไม่คำนึงว่าสินค้าที่ตนซื้อนั้นมันดีจริงตามคำโฆษณาหรือไม่

"เห็นหนังสือพิมพ์โฆษณาว่ามีเครื่องช่วยเพิ่มความสูงของญี่ปุ่น ใช้ใส่ไว้ใต้ส้นเท้าเวลาเดิน เขาบอกว่ามันมีผลกับต่อมพิทูอิทารี ใช้ได้ตั้งแต่อายุ 12-35 ปี ถ้าใส่ไว้จะทำให้สูงประมาณ 3-8 ซม. ใน 1 ปี"


"ก็เพราะโฆษณาอย่างนี้แหละ กระทรวงสาธารณสุขถึงเล่นงานและสั่งไม่ให้ขายเลยไงล่ะ"
"แล้วเธอว่าเค้าโกหกหลอกลวงหรือเปล่า วิธีนี้มันทำให้คนสูงขึ้นอย่างที่โฆษณาไหม"

"ในทรรศนะของผมนั้นแบ่งออกเป็น 2 ด้าน คือ ด้านหนึ่งเห็นด้วย แต่อีกด้านหนึ่งไม่เห็นด้วย"
"อื้อหือ พูดอย่างกับปรัชญาลัทธิเต๋าแน่ะ ไหนลองบอกหน่อยซิว่า 2 ด้านนั้นเป็นอย่างไรบ้าง"

"ที่ผมบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการนำเอาวิชาการซึ่งยังไม่มีการทดลองที่แน่นอนไปทำเป็นธุรกิจ และที่เห็นด้วยเพราะ เป็นทรรศนะการมองปัญหาอีกอย่างหนึ่งที่แตกต่างไปจากสิ่งที่เราเข้าใจกันอยู่ทุกวันนี้"
"ไหนลองแปลเป็นไทยให้เป็นไทยหน่อยซิว่ามันยังไงกันแน่"

"ที่ผมบอกว่าเป็นทรรศนะการมองปัญหาอีกแบบหนึ่งนั้น เพราะมันเป็นทรรศนะการมองปัญหาและแก้ปัญหาแพทย์ตะวันออก (จีน) ซึ่งแตกต่างไปจากการแพทย์ตะวันตก ซึ่งเรานิยมใช้กันอยู่ทุกวันนี้"
"อ๋อ เข้าใจละ แล้วมันแตกต่างกันยังไงล่ะ"

"เรื่องนี้เห็นจะต้องพูดกันนานหน่อย ก่อนอื่นเราจะมาพูดกันถึงทฤษฎีแพทย์จีน โดยเริ่มกันที่จุดที่ฝ่าเท้าก่อน"

จุดที่กด หย่งเฉวียน
ตำแหน่ง
งอนิ้วเท้าทั้งห้าเข้าหาอุ้งเท้า ที่อุ้งเท้าจะปรากฏรอยบุ๋ม จุดจะอยู่ตรงกลางรอยบุ๋มนี้ (รูปที่ 1)

                                                 

จุดหย่งเฉวียนนี้ การแพทย์จีน อธิบายว่าเป็นจุดบนเส้นขาเส้ายินไต ซึ่งเป็นเส้นที่ทอดจากปลายนิ้วก้อยด้านฝ่าเท้า ผ่านจุดหย่งเฉวียนขึ้นไปตามขาด้านใน ผ่านท่อปัสสาวะไปยังไต แล้วผ่านไปยังปอด ขึ้นไปที่คอด้านหน้าและโคนลิ้น เป็นเส้นที่เชื่อมโยงไตและกระเพาะปัสสาวะ (รูปที่ 2)

                                                 

นอกจากนี้ทฤษฎีแพทย์จีนยังอธิบายว่า หน้าที่ของไต คือ 1 เก็บสารจำเป็นของชีวิต 2. กำหนดน้ำ 3. สัมพันธ์กับการหายใจของปอดและควบคุมการเจริญเติบโตและการเสื่อมถอยของร่างกาย

จากผลการวิจัยของโรงพยาบาลแพทย์แห่งหนึ่งที่เซี่ยงไฮ้ (ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร Shanghai journal of traditional Chinese medicine ฉบับที่ 2 ปี 1979 หน้า 34-37) ซึ่งผู้ศึกษาผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 1960-1979 รวมทั้งสิ้น 358 ราย พบว่าในจำนวนผู้ป่วยที่ไตพร่อง ส่วนใหญ่การทำงาน (activity) ของ ต่อมพิทูอิทารี-ต่อมหมวกไต จะต่ำกว่าปกติ (เมื่อเทียบกับคนปกติที่ไตไม่พร่อง)

ในเมื่อต่อมพิทูอิทารี มีความสัมพันธ์กับไต และไตมีความสัมพันธ์กับจุดหย่งเฉวียน เพราะฉะนั้น จึงพอจะสรุปได้ว่า จุดหย่งเฉวียนก็น่าจะมีความสัมพันธ์กับต่อมพิทูอิทารีเช่นกัน

"อย่างนี้แสดงว่า ทุกตำแหน่งบนร่างกายของเราก็มีความสัมพันธ์กันอย่างลึกซึ้งนะซี"
"ถูกต้อง แม้ทุกส่วนของร่างกายเราจะทำงานโดยแบ่งหน้าที่กัน แต่ก็ยังคงมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ทรรศนะความคิดแบบนี้เราน่าจะลองดูได้โดยใช้วิธีง่ายๆ ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองไปซื้อ"

"แล้วที่โฆษณาว่าใช้ได้กับคนที่มีอายุ 12-35 ปีน่ะ จริงหรือเปล่าล่ะ"
"เรื่องนี้ยังไม่มีผลการศึกษาทดลอง อาจจะเป็นไปได้หรืออาจจะเป็นไปไม่ได้ ว่างๆ คุณลองไปศึกษาดูซิ ดีกว่าอยู่เปล่าๆ นะ"

ท่านผู้อ่าน "หมอชาวบ้าน" อยากจะลองดูก็ได้ โดยใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ตัวหรือหาได้ง่ายโดยไม่ต้องเสียเงินไปซื้อมา ใช้ให้ตางกับตำแหน่งจุหย่งเฉวียน ทำติดต่อกันระยะหนึ่งประมาณ 3 เดือน (หรือกว่านั้น) ถ้าได้ผลอย่างไร
กรุณาสะท้อนกลับมายังหมอชาวบ้านด้วยนะครับ

ข้อมูลสื่อ

53-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 53
กันยายน 2526
สารคดีแพทย์
วิทิต วัณนาวิบูล