• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

รีเฟอร์/ ไม่มีเตียง

แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสถานบริการสาธารณสุข จะมีการใช้ภาษาที่เข้าใจในหมู่หมอด้วยกันเอง หากได้ทำความรู้จัก “ภาษาหมอ” ก็จะทำให้เราสื่อสารกับหมอได้ดียิ่งขึ้น คอลัมน์นี้จึงขอแนะนำ “ภาษาหมอ” เดือนละคำสองคำ

    

“ถ้าไม่จนใจจริง ๆ ผมจะไม่รีเฟอร์คนไข้เข้ากรุงเทพ ฯ เป็นอันขาด เพราะโรงพยาบาลของรัฐบาลแทบทุกแห่งจะบอกว่าไม่มีเตียง คนขับรถและเจ้าหน้าที่ของผมจะต้องตะรอน ๆ พาคนไข้ไปถามหาเตียงว่างจากโรงพยาบาต่าง ๆ ในที่สุดก็ต้องเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลเอกชน นั่นหมายถึงว่า คนไข้จะต้องขายที่นาและทรัพย์สิน แทบสิ้นเนื้อประดาตัว...”

นี่คือคำปรับทุกข์ของแพทย์ผู้อำนนวยการโรงพยาบาลต่างจังหวัดหลาย ๆ แห่ง ที่เคยไปด้ยินได้ฟังมาอยู่เป็นประจำ
 

ในที่นี้ เราคงจะไม่มาถกกันถึงปัญหาความทุกข์ยากต่าง ๆ ของผู้ป่วยที่มารักษาที่โรงพยาบาล เดี๋ยวจะผิดจุดมุ่งหมายของคอลัมน์นี้ไปเสีย
เอาละ เราลองมาดูภาษาหมอในคำปรับทุกข์ดังกล่าวกันดีกว่าครับ
ได้แก่คำว่า รีเฟอร์ กับ ไม่มีเตียง

รีเฟอร์ (Refer) เป็นคำทับศัพท์ภาษาอังกฤษที่แพทย์และบุคลากรสาธษรณสุขนิยมใช้กันจนเคยปาก แปลว่าส่งต่อ หมายถึง ส่งผู้ป่วยไปรักษาต่อที่สถานบริการแห่งหนึ่ง
โดยทั่วไปมักจะมีการส่งต่อ (รีเฟอร์) ผู้ป่วยที่มีปัญหายุ่งยากซับซ้อนจากสถานบริการระดับล่าง (ที่มีขีดความสามารถต่ำกว่า เช่น สถานีอนามัย หรือโรงพยาบาลขนาดเล็ก ) ไปยังสถานบริการระดับกลาง (เช่น โรงพยาบาลประจำจังหวัด ) หรือระดับสูง (โรงพยาบาลในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ ) ที่มีขีดความสามารถสูงกว่า โดยแพทย์จะเขียนหนังสือแนะนำตัวผู้ป่วยไปด้วย
 

บางครั้งบางคราว แพทย์ที่โรงพยาบาลใหญ่เมื่อตรวจรักษาผู้ป่วยจนอาการดีขึ้นแล้ว ก็อาจรีเฟอร์ (ส่งต่อ) ผู้ป่วยกลับไปรับยาต่อที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาลเล็ก ๆ ใกล้บ้าน เพื่อความสะดวกและประหยัด การส่งต่อผู้ป่วยในลักษณะเช่นนี้เราเรียกว่า ระบบการส่งต่อผู้ป่วย (Referral system)
แต่เนื่องจากในบ้านเราขณะนี้ ยังไม่มีการจัดระบบเครือข่ายการบริการให้เป็นขั้นเป็นตอนตามที่ควรจะเป็นและประชาชนเองก็ยังขาดความเข้าใจในการเลือกใช้สถานบริการ เช่น เจ็บป่วยเล็กน้อยแทนที่จะไปหาหมอที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ก็กลับเดินทางเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลใหญ่ในกรุงเทพฯ จึงทำให้เกิดความแออัดสับสนวุ่นวายและเดือดร้อนกันต่าง ๆ นา ๆทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ
 

เรื่องนี้ก็เลยโยงมาถึงคำว่า “ไม่มีเตียง”
เตียงในที่นี้หมายถึง เตียงที่ใช้รับผู้ป่วยไว้พักรักษาตัวในโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลแต่ละแห่งจะมีจำนวนจำกัดที่แน่นอน (เช่น 10, 30 ,60 ,200,500,1000 เตียง) ทั้งนี้ขึ้นกับสัดส่วนจำนวนแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ และเครื่องมือเครื่องไม้ต่าง ๆ
โดยทั่วไป โรงพยาบาลในต่างจังหวัดมักจะไม่มีปัญาเรื่องเตียงเต็ม (มีผู้ป่วยรับไว้เต็มทุกเตียง) หรือถ้าจำเป็นก็อาจใช้เตียงผ้าใบเสริมชั่วครั้งชั่วคราวได้ แต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ที่ต้องรับภาระผู้ป่วยจากทั่วประเทศ (เพราะยังขาดระบบการส่งต่อผู้ป่วยที่ดี ) มักจะเกิดปัญหาเตียงเต็มหรือไม่มีเตียง (ว่าง) เมื่อมีผู้ป่วยฉุกเฉินจึงไม่สามารถรับไว้ได้ ต้องคอยบอกให้ไปหาเตียงที่โรงพยาบาลอื่น หรือในรายที่รอได้ หมอก็จะนัดให้มา “ฟังเตียง” (ฟังข่าวมีเตียงว่างหรือยัง) ทีนี้ก็เลยปรากฏว่ามีชาวบ้านที่พาซื่อนายหนึ่งพาญาติที่ป่วยหนักมาโรงพยาบาล เมื่อได้ฟังว่า “ไม่มีเตียง” ก็รีบบอกหมอทันทีว่า “อย่างนั้นไม่เป็นปัญหา ผมยอมเสียเงินซื้อเตียงแบกมาให้ที่โรงพยาบาลเอง” 

นี่แหละ เรื่องของการไม่เข้าใจภาษาหมอ !!!

ข้อมูลสื่อ

71-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
พูดจาภาษาหมอ