• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาดูแลตรวจปากและฟันตนเองกันเถอะ (ตอนที่ 1)


"โอย! โอย! ไม่ไหวแล้ว ตายแน่ๆ"
คุณผู้อ่านที่รักครับ หากเสียงร้องดังกล่าวนี้ดังอออกมาจากห้องทันตกรรม ในโรงพยาบาลสักแห่งหนึ่ง ลองทายซิครับว่า เป็นเสียงใคร ผมเชื่อว่าคุณผู้อ่านส่วนใหญ่คงจะคิดว่า เป็นเสียงคนไข้ที่กำลังทุกข์ทรมานด้วยความเจ็บปวด ปวดฟันกระมัง บางคนก็อาจจะบอกว่า หมอฟันนี่คงจะแผลงฤทธิ์อะไรกับคนไข้เข้าให้แล้ว เล่นซะร้องลั่นเชียว แต่จะมีใครสักกี่คนจะนึกถึงว่าเสียงแบบนี้ก็ดังออกมาจากหมอฟันได้เหมือนกัน วันหนึ่งๆ ทันตแพทย์ที่ทำการอยู่ตามสถานบริการทันตกรรม โดยเฉพาะของรัฐนั้น ต้องทำงานกันตั้งแต่เช้าจนเย็น เพื่อให้การบำบัดรักษาผู้ป่วยที่มาด้วยโรคต่างๆ ในช่องปาก ซึ่งนับวันแต่จะมีมากขึ้น มากขึ้น ทำกันจนเกือบไม่ไหว

บางแห่งก็ต้องใช้วิธีเข้าคิวกันเพื่อรอรับการรักษากันเป็นเดือนเป็นปีที่เป็นดังนี้ก็เพราะอัตราการเป็นโรคในช่องปากเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา และจำนวนประชากรของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่จำนวนทันตแพทย์นั้นกระเถิบขึ้นปีละนิด ปีละหน่อย แล้วอย่างเราจะทำยังไงกันดีละครับ

                                        

ช่องปากของคนเรา เป็นอวัยวะส่วนเล็กๆ อันหนึ่งของร่างกาย ที่ทำหน้าที่ได้สารพัด เช่นใช้รับประทาอาหาร ใช้แสดงสีหน้า ใช้พูด (ด่า ซุบซิบนินทา) บางคนยังใช้เป็นอวัยวะป้องกันตัวได้อีกด้วย และอวัยวะส่วนเล็กๆ นี้ นี่แหละที่เป็นทางผ่านของสิ่งต่างๆ จากภายนอกเข้าสู่ภายในร่างกาย โดยเฉพาะอาหาร ลองเปรียบเทียบกับถนนหนทางหรือแม่น้ำลำคลองที่เป็นทางผ่านของสิ่งต่างๆ มากมายก็มักจะมีสิ่งสกปรกเหลือใช้หรือไร้ประโยชน์ตกค้างอยู่เป็นสิ่งสกปรกหรือขยะมูลฝอยตกค้างอยู่ ช่องปากก็เช่นกันเมื่อมีอาหารต่างๆ ผ่านเข้าออกทุกๆ วันๆ ละหลายๆ ครั้ง ก็มักที่จะมีเศษอาหารตกค้าง ก่อให้เกิดความสกปรกในช่องปากของเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากมีแต่เพียงความสกปรก ไม่น่าดู เหมือนเศษขยะตกข้างถนนเพียงอย่างเดียวก็ยังดูไม่เดือดร้อนสำหรับบางคน แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้นความสกปรกเหล่านี้นี่แหละที่ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย ก็โรคในช่องปากของท่านทั้งหาลายนั้นแหละครับ คุณผู้อ่านที่รัก

                                     

ท่านผู้อ่านก็คงพอจะทราบกันอยู่แล้วว่า โรคในช่องปากของคนเราที่มักจะพบกันอยู่เสมอๆ ก็ได้แก่ โรคฟันผุ และโรคเหงือกหรือโรคปริทันต์ (รำมะนาด) ก็ที่เรามักจะรู้จักกันในลักษณะของฟันเป็นรู ปวดฟันเหลือกบวม หรือเป็นหนองนั่นแหละครับ ซึ่งโรคในช่องปากต่างๆ นี้ มักจะมีลักษณะอาการตั้งแต่เริ่มต้นแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป และทวีความรุนแรงขึ้นทีละน้อย จนกระทั่งต้องสูญเสียฟันอันเป็นอวัยวะสำคัญอย่างหนึ่งของร่างกายไปในที่สุด และยังจะมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ทั้งด้านการบดเคี้ยว และความสวยงาม และการใส่ฟันปลอมเพื่อทดแทนฟันที่สูญเสียไปนั้น ก็ต้องสิ้นเปลืองเงินทองอีกไม่ใช่น้อย เพราะฟันปลอมชิ้นหนึ่งๆ ราคาเป็นพัน ของบางคนที่แทบจะเท่ากับเงินเดือนทั้งเดือนเลยทีเดียว

โรคที่พบบ่อยๆ ในช่องปากและเป็นปัญหาสำคัญของสุขภาพช่องปากของประชาชน อยู่โดยทั่วไปในขณะนี้ ก็คือโรคของฟันหรือฟันผุและโรคของเหงือก เช่น เหงือกอักเสบ โรครำมะนาด หรือโรคปริทันต์ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นโรคที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายคลึงกัน ได้แก่ มีลักษณะการเริ่มเป็นอย่างไม่มีอาการแต่อาการจะค่อยๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็คือการเริ่มเป็นอย่างไม่รู้ตัว และประกอบกับการดำเนินของโรคนั้นค่อนข้างเชื่องช้า กว่าจะปรากฏการให้เรารู้สึกตัวได้ ก็มักจะเป็นมากแล้ว จึงให้การรักษายุ่งยากมาก สิ้นเปลือง และบางครั้งผู้ป่วยก็จะได้รับความเจ็บปวดจากการรักษาด้วย หากได้รับการรักษาช้าเกินไป

ดังนั้นการหมั่นตรวจสุขภาพช่องปากตนเองอยู่เสมอ ก็จะเป็นวิถีทางหนึ่งในการให้หลักประกันกับช่องปากของตัวท่านเองให้รอดพ้นจากโรคภัยต่าง ๆ แต่การที่ท่านทั้งหลายจะไปรับการตรวจสุขภาพช่องปากจากทันตแพทย์อย่างเป็นประจำอยู่เสมอนั้นก็คงเป็นเรื่องยกลำบากสำหรับบางท่าน ดังนี้ก็ถึงเวลาแล้วที่เราๆ ท่านๆ ทั้งหลายน่าจะลองมาฝึกตรวจสุขภาพช่องปากของตนเอง หรืออาจรวมไปถึงผู้ใกล้ชิดในครอบครัว ถึงแม้ว่าการตรวจด้วยตนเองนั้นอาจขาดความละเอียดรอบคอบไปบ้าง แต่อย่างไรก็ตามท่านสามารถที่จะกระทำได้ตลอดเวลา อาจจะทำได้ทุกสัปดาห์หรือทุกวันเสียด้วยซ้ำ

วิธีการตรวจช่องปาก

วิธีที่ค่อนข้างง่ายและสะดวกที่สุดก็คือ การยืนอ้าปากส่องกระจกที่มีขนาดใหญ่พอสมควร โดยจะเห็นส่วนประกอบของช่องปากดังภาพหน้า 2
1. ริมฝีปากล่าง บน
2. ฟันล่าง บน
3. เหงือก
4. ลิ้น
5. เพดานปาก

                              

                                                

ในที่นี้จะเน้นให้ท่านผู้อ่านตรวจดูฟันและเหงือกเป็นส่วนสำคัญ ทั้งนี้เพราะค่อนข้างสะดวกมองเห็นชัดเจน

ฟันปกติของคนเรานั้น ในผู้ที่อายุตั้งแต่ 12 ปี ขึ้นไป จะเป็นฟันแท้ทั้งหมด 28 ซี่ และจะขึ้นครบเมื่อยายุ 21 ปี คือประมาณ 32 ซี่ แต่อย่างไรก็ตาม บางคนก็อาจจะมีไม่ครบ 32 ซี่ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 28 ซี่ ซึ่งจะมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันไปตามหน้าที่ ลักษณะภายนอกของฟันปกตินั้น ควรจะมีลักษณะสะอาดสดใส สะท้อนแสงเล็กน้อย ส่วนสีของฟันนั้นอาจจะมีลักษณะแตกต่างกันไปได้บ้างในแต่ละคนตั้งแต่ สีขาว ขาวเหลือง ขาวอมน้ำตาล หรือสีเทา ฯลฯ

เอาล่ะครับ ก่อนที่จะมาฝึกตรวจความผิดปกติของฟันนั้นก็หมดหน้ากระดาษพอดี เอาไว้ค่อยติดตามต่อฉบับหน้ากันต่อไปนะครับ

 

ข้อมูลสื่อ

55-003
นิตยสารหมอชาวบ้าน 55
พฤศจิกายน 2526
ฟันดีมีสุข
ทพ.เฉลิมพงษ์ ชิตไทสง