• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาดูแลตรวจปากและฟันตนเองกันเถอะ (ตอนที่ 2)

“สวัสดีอีกครั้งหนึ่ง ”
หลังจากตอนที่หนึ่งได้จบลงไปอย่างกะทันหัน อาจจะทำให้ผู้อ่านหลายท่านเกิดอารมณ์ค้างและรู้สึกหงุดหงิดอยู่ในใจ บางท่านอาจจะต้องอ้าปากค้างอยู่หน้ากระจก และก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไปดี ผมจึงได้รีบจัดแจงเขียนตอนต่อมา เป็นตอนที่ 2 ซึ่งท่านกำลังอ่านอยู่ในขณะนี้

สำหรับในตอนนี้เราจะมีฝึกตรวจฟันกัน การตรวจดูฟันที่ว่านี้ สามารถตรวจดูด้วยตนเองก็ได้ หรืออาจจะตรวจให้กับคนที่ใกล้ชิด เพื่อน ๆ ญาติพี่น้องก็สามารถทำได้ การตรวจดูฟันนั้นหากเป็นในฟันล่างค่อนข้างสะดวกและเห็นได้ชัดเจน แต่ในกรณีของฟันบนนั้น อาจจะลำบากอยู่บ้างในผู้ที่มีปากเล็กหรืออ้าปากได้ไม่กว้าง จึงต้องใช้เครื่องมือบางอย่างช่วง ได้แก่ กระจกส่องปาก (mouth mirror) ราคา ประมาณหนึ่งร้อยบาท ซึ่งมีเพียงอันเดียวสามารถใช้กันได้ทั้งบ้าน เพราะสามารถล้างทำความสะอาดได้

                                  

กระจกเงาส่องปากนี้สามารถซื้อได้ตามร้านจำหน่ายวัสดุอุปกรณ์ทางทันตกรรม ทั่วไป หรืออาจจะซื้อผ่านทางทันตแพทย์ที่ท่านสามารถติดต่อได้ กระจกเง่าองปากจะช่วยสะท้อนภาพส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ลึกหรือดูจากกระจำโดยตรงแล้วเห็นไม่ชัดได้ดีมาก โดยใช้กระจำเงาส่องปากใส่เข้าไปในช่องปากแล้วสะท้อนภาพจากกระจกเงาใหญ่อีกครั้งหนึ่ง

ดังได้กล่าวแล้วถึงลักษณะของฟันที่ปกติในส่วนท้ายของตอนที่แล้วฟันใช่องปากของคนเรานั้น แต่ละซี่จะมีลักษณะรูปร่างแตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าธรรมชาติได้กำหนดให้ฟันแต่ละซี่ทำหน้าที่แตกต่างกัน

โรคของฟันที่เป็นปัญหาและพบอยู่เสมอ ๆ ก็ได้แก่โรคฟันผุ (tooth decay) เคยมีผู้ทำการสำรวจช่องปากของคนไทย พบว่ามีประชากรเป็นโรคนี้อยู่ถึงแปดสิบกว่าเปอร์เซ็นต์

                   

            

โรคฟันผุ เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากอาหารบางชนิด โดยเฉพาะอาหารหวาน ร่วมกับการที่ไม่ค่อยรักษาความสะอาดช่องปาก หรือรักษาความสะอาดช่องปากได้ไม่ดีพอ กล่าวคือ เมื่อรับประทานอาหารหวานแล้ว มีเศษหรือมีคราบอาหารหวานตกค้างอยู่ตามตัวฟันหรือซอกฟัน ก็จะมีเชื้อโรค (bacteria) บางชนิดซึ่งอาศัย ในช่องปากของเรา เข้ามาทำปฏิกิริยากับคราบ อาหารหวานเหล่านั้น เกิดเป็นกรดขึ้น และกรดเหล่านี้แหละจะเข้าไปละลายเนื้อฟัน ทำให้ฟันผุเป็นรู และลึกลงไปเรื่อย ๆ จนทำให้ปวดฟันได้ภายหลัง

โรคฟันผุมีลักษณะการดำเนินไปของโรคค่อนข้างช้า ค่อย ๆ เป็น ค่อยๆ ไป มักจะไม่ค่อยปรากฏอาการโดยในขั้นแรกจะเริ่มมีจุดหรือรอยสีดำเล็ก ๆ เกิดขึ้นตามหลุมหรือร่องของตัวฟัน โดยเฉพาะที่ด้านบดเคี้ยวของฟันกรามน้อยและกรามใหญ่ก่อน ( ดังรูปที่ 6 ) หรืออาจปรากฏขึ้นตรงบริเวณซอกฟัน (ด้านข้าง) ของฟันหน้าและฟันเขี้ยว (รูปที่ 7)

        

ในบางครั้งรอยดำที่เกิดขึ้นบนตัวฟันอาจจะไม่ใช่เป็นรอยฟันผุก็ได้ เช่น คราบสี จากอาหารหรือคราบบุหรี่ แต่รอยฟันผุจะมีลักษณะพิเศษ คือ จะต้องเป็นรูบุ๋มลงไปในตัวฟัน หากใช้เครื่องมือแหลม ๆ เขี่ย ก็จะสะดุดติดได้ และถ้าหากว่าเป็นมากขึ้นก็จะเห็นลักษณะเป็นรูได้ชัดเจน

ในขั้นเริ่มต้นนั้น ผู้ที่มีฟันผุจะไม่มีอาการใด ๆ ยกเว้นในกรณีที่เกิดเป็นรูขึ้น ก็อาจจะทำให้มีเศษอาหารเข้าไปติด อุดรูผุ ทำให้เกิดความรำคาญหรือมีกลิ่นปากได้บ้าง การที่ยังไม่รู้สึกเจ็บปวดก็เป็นเพราะว่า รอยผุนั้นได้ลุกลามหรือทำลายอยู่เพียงชั้นเคลือบฟัน (enamel) เท่านั้น (ตามรูปที่ 8) 

                           

ในระยะนี้หากเราสามารถตรวจพบและไปทำการรักษา โดยทันตแพทย์จะทำการอุดฟันให้ จะต้องทำการกรอเนื้อฟันที่ถูกทำลายออกไป และนำเอาวัสดุอุดเข้าไปแทน เพื่อให้ฟันซี่นั้นสามารถใช้งานได้ตามปกติ ซึ่งการกรอฟันเมื่อฟันผุยังไม่ลึกนั้นค่อนข้างง่าย รวดเร็ว และที่สำคัญก็คือไม่เจ็บปวดหรือเสียวเลย
อย่างไรก็ตาม หากการผุของฟันลุกลามไปมากกว่านั้น จนกระทั่งทำลายถึง ชั้นเนื้อฟัน (dentin) ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ว่ารูผุหรือรอยดำอาจจะใหญ่ขึ้น และที่สำคัญก็คือท่านจะเริ่มรู้สึกเสียวฟันซี่ที่ผุ โดยเฉพาะเวลาดื่มน้ำเย็นจัด ๆ ลองดูรูปที่ 9 นะครับ ซึ่งแสดงถึงฟันผุจนถึงชั้นเนื้อฟัน

                                                     

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟันผุจะลุกลามไปถึงชั้นเนื้อฟัน ซึ่งไวต่อความรู้สึก (เพราะในชั้นนี้เนื้อฟันจะมีปลายประสาทรับความรู้สึกอยู่ด้วย) ทำให้เริ่มเกิดอาการบางอย่างขึ้นแล้ว แต่การแก้ปัญหาก็ยังไม่ยุ่งยากนัก เพราะสามารถอุดฟันได้เช่นเดียวกันกับการผุในชั้นเริ่มต้น เพียงแต่ทันตแพทย์อาจต้องกรอเนื้อฟันเน่า ๆ ผุ ออกมาก่อนสักหน่อยและอาจทำให้รู้สึกเสียวฟันได้ในขณะกรอฟัน ซึ่งในกรณีเช่นนี้ ทันตแพทย์ก็จะใช้ยาชาช่วย เพื่อให้ท่านรู้สึกสบายขึ้น และในการอุดฟันก็จะต้องมีการใช้วัสดุที่เป็นฉนวนความร้อน เย็น รองพื้นก่อนอุดด้วยวัสดุอุดถาวร ซึ่งอาจจะเป็นพวกโลหะ หากไม่ทำเช่นนี้ก็จะทำให้รู้สึกเสียวฟันได้ หลังจากอุดฟันไปแล้ว เพราะวัสดุอุดที่เป็นโลหะ (สีเงิน) จะนำความร้อนเย็นได้ดี

การอุดฟันนั้น โดยปกติเราก็ถือว่าเป็นการป้องกันอย่างหนึ่ง แต่เป็นการป้องกันในระยะที่เกิดโรคแล้ว และยับยั้งไม่ให้โรคลุกลามต่อไปเป็นอันตรายต่อตัวฟันและอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกาย แต่ถ้าท่านทั้งหลายได้ปล่อยปละละเลย ไม่ค่อยได้ตรวจตราดูแลความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ในช่องปากจนกระทั่งโรคฟันผุนั้นได้ลุกลามไปมากแล้ว ลักษณะอาการและการแก้ปัญหาก็ยุ่งยากและแตกต่างกันออกไป

ในฉบับต่อไปก็จะเป็นตอนที่เราจะมาดูกันว่า ฟันอย่างไรที่สมควรจะต้องถอนออก หากไม่ถอนจะมีการรักษาวิธีอื่นได้หรือไม่ หวัวว่าท่านผู้อ่านคงไม่ลืมติดตามต่อนะครั้ง และเมื่อท่านได้ติดตามมาจนถึงตอนนี้แล้วคงพอจะทราบกันแล้วว่าตนเองนั้นมีฟันผุหรือไม่ ถ้ามี กี่ซี่แล้ว รีบไปอุดฟันนะครับ ก่อนที่มันจะสายเกินไป

ข้อมูลสื่อ

56-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 56
ธันวาคม 2526
ฟันดีมีสุข
ทพ.เฉลิมพงษ์ ชิตไทสง