• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาดูแลตรวจปากและฟันตนเองกันเถอะ (ตอนที่ 3)


สวัสดีปีใหม่ 2527 ครับ ปีใหม่ผ่านไปได้หนึ่งเดือนแล้ว คุณผู้อ่านหลายๆ ท่านก็คงยังสนุกเพลิดเพลินไปกับปีใหม่ปีนี้ ผมเองอยู่เชียงใหม่แต่ถ้าไม่ได้ไปเที่ยวอะไรกับเค้าหรอก อากาศมันหนาวครับ รู้สึกอยากอยู่กับบ้านเฉยๆ เวลาเห็นที่ต่างๆ เค้าจัดงานเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนานแล้วมานั่งคิดว่า ถ้ามีใครสักคนหนึ่งปวดฟันในขณะที่เพื่อนๆ ญาติพี่น้องกำลังสนุกสนานรื่นเริงเบิกบานกันอยู่ ก็คงเป็นเรื่องที่ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจกันอยู่ไม่น้อยทีเดียว

คุณผู้อ่านที่ได้ติดตามอ่านเรื่องราว ของการดูแล ตรวจตราปากและฟันตนเอง ตั้งแต่ตอนที่ 1 และตอนที่ 2 มาถึงตอนนี้แล้วก็คงจะซาบซึ้งกันดีแล้วว่า โรคฟันผุนั้นบั่นทอนพวกเรากันขนาดไหน ในฉบับที่แล้วผมสัญญาไว้ว่า คราวนี้จะมาเล่าให้คุณผู้อ่านฟังว่า ฟันอย่างไรที่สมควรถอน และถ้าไม่ถอนจะมีวิธีการรักษาวิธีอื่นหรือไม่ เวลาผมทำงานรักษาคนไข้อยู่นะครับ มักจะพบเสมอๆ โดยเฉพาะคนไข้ที่ฟันผุ จนปวดฟันมาหาและจะต้องถอนออก ก็มักจะถามว่า ทำไมต้องถอนล่ะ? ไม่ถอนไม่ได้หรือ? ไม่มียาใส่หรือ? อุดฟันเอาไม่ได้หรือ?

ทำไมคนเราถึงไม่ชอบถอนฟันกัน ก็พอจะหาเหตุผลได้ 2 ข้อ คือ
1. กลัวเจ็บ ครับ เพราะการถอนฟันออกนั้นเราลองนึกภาพดูมันก็ไม่สนุกอยู่แล้ว
2. กลัวการสูญเสีย เพราะฟันเป็นอวัยวะส่วนหนึ่งของเราที่มีความสำคัญไม่น้อย พอนึกถึงว่าจะต้องเสียฟันไปสัก 1 ซี่ ก็น่าใจหาย เพราะมันไม่เหมือนกับการไปซอยผม หรือตัดเล็บ ที่งอกใหม่ได้เรื่อยๆ
แต่ถ้าคุณผู้อ่านท่านใดก็ตาม ละเลยไม่ค่อยดูแลสุขภาพช่องปากของตนเอง ปล่อย
ทิ้งไว้จนฟันผุลุกลามจนถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว บางที การถอนฟันก็กลายเป็นความจำเป็นที่ทันตแพทย์จะต้องทำ (แม้ว่าจะไม่อยากทำ)

เวลาที่ฟันมันผุจนลุกลามไปถึงชั้นโพรงประสาทฟันแล้ว ถ้าเราสังเกตดูโดยมากมักจะพบว่า จะมีรูกลวงใหญ่เป็นโพรงที่ฟัน มักจะมีเศษอาหารเข้าไปติดง่าย

ลองดูในรูปที่ 1 และ 2 นะครับ
ทีนี้ถ้าเป็นกันถึงขนาดนี้แล้ว ก็เท่ากับเป็นการเปิดทางให้เชื้อโรคในช่องปากรุกรานเข้าไปถึงปลายรากฟันอาการที่จะเกิดขึ้นได้ก็มีหลายแบบนะครับ อย่างเช่น

               

- ปวด ปวดมาก คือปวดอยู่ตลอดเวลา อาจพบว่าเหงือกรอบๆ ฟันซี่นั้นมีอาการบวมและมีไข้ร่วมด้วย ซึ่งเป็นอาการของการติดเชื้อและการอักเสบอย่างเฉียบพลัน

- ปวดเป็นบางเวลา เช่น ดื่มน้ำเย็น หรือเวลาเคี้ยวอาหารและมีเศษอาหารเข้าไปติดในรูผุ จะรู้สึกปวดจี๊ดขึ้นทันที นี่ก็แสดงว่ามีการติดเชื้อและอักเสบของโพรงประสาทในฟันเช่นเดียวกัน แต่เป็นชนิดเรื้อรัง

- ไม่มีอาการอะไรเลย คือไม่เจ็บ ไม่ปวด ไม่เสียว อันนี้แหละครับที่สำคัญ เพราะเราจะไม่รู้สึกอะไรเลย ทั้งๆ ที่ฟันผุเป็นรูกลวง บางทีเหลือแต่ตอรากฟันก็มี ที่มันเป็นอย่างนี้ก็เพราะว่าเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันถูกทำลายจนหมด เส้นประสาทรับความเจ็บปวดภายในนั้นก็ถูกทำลายลงไปด้วย ทำให้เราไม่มีความรู้สึกอะไรอีก แต่มิได้หมายความว่าการติดเชื้ออักเสบได้หายไปด้วย ตรงกันข้ามมันกำลังลุกลามลงไปตามรากฟันและไปทำลายเนื้อเยื่อที่ปลายราก สามารถทำให้เกิดเป็นหนองที่ปลายรากด้วย เพราะฉะนั้นในบางครั้งเราจะพบว่าที่เหงือกจะมีตุ่มหนอง หรือเป็นรูเปิดและมีหนองไหลซึมออกมาได้ (ดูรูปที่ 3)

                                            

ทีนี้เราลองมาดูถึงการรักษากัน ถ้าหากฟันของเราเป็นโรคฟันถึงขั้นนี้แล้ว ก็อย่างที่ผมเคยบอกไปแล้ว อาจจะสายเกินไปกับการอุดฟันซี่นั้น ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่าเชื้อโรคได้ลุกลามเข้าไปลึกมากแล้ว

แต่การรักษา เราจะทำได้แต่เพียงการถอนฟันเท่านั้นหรือ?
ซึ่งนี่ก็เป็นปัญหาอย่างหนึ่งทั้งของผู้ป่วยเอง รวมทั้งตัวทันตแพทย์ด้วยเพราะทันตแพทย์เองก็ไม่ใช่ว่าอยากถอนฟันนัก ถึงแม้ว่ามันจะง่าย

การพิจารณาให้การรักษาในกรณีเช่นนี้ เราสามารพที่จะทำได้ 2 ลักษณะ คือ รักษาโดยยังสามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ได้ และอีกวิธีหนึ่งก็คือ ถอนออกเสีย ซึ่งผมคิดว่าตอนนี้คุณผู้อ่านคงทำท่าจะสนใจวิธีที่ไม่ต้องถอนฟันกันแน่ๆ เลย จริงไหมครับ
เนื้อที่หมดพอดี ผมก็ขอยกยอดไปว่ากันต่อฉบับหน้านะครับ
 

ข้อมูลสื่อ

58-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 58
กุมภาพันธ์ 2527
ฟันดีมีสุข
ทพ.เฉลิมพงษ์ ชิตไทสง