• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ท้องร่วงทำอย่างไรดี


ว๊าก.......ไอ้หนูมันขี้ไหลอีกแล้ว
อู้ย.......ย......วันนี้ท้องเดินทั้งวันเลย
นี่ท้องร่วงมาตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว เพลียจัง
หมู่นี้ท้องเสียบ่อยจัง
แหม.......เรียกกันวุ่นเลย ทั้งไหล ทั้งร่วง ทั้งเดิน ทั้งเสีย
ฉันว่าน่าจะเรียกว่าอุจจาระร่วงน่าจะเข้าท่ากว่า
ใครบอก ฉันว่าควรอุจจาระไหลมากกว่า เพราะมันไหลมากกว่าร่วง
เอาละ.......เอาละ........ช่วยบอกวิธีรักษาทีเถอะ ฉันทั้งร่วงทั้งไหลจนเพลียแล้ว
ครับ......กำลังจะพาท่านมาพบกับ

โรคน่ารู้เรื่อง “ท้องร่วง ทำอย่างไรดี” เดี๋ยวนี้
น.พ.ประเสริฐ ทองเจริญ หัวหน้าภาพวิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ท่านจะมาว่าเรื่องนี้ให้เราท่านทราบกัน

เมื่อไรสงสัยว่า “ท้องเดิน”

เราถือว่าท้องเดินนั้นต้องมีลักษณะถ่ายบ่อย และอุจจาระเป็นน้ำ เพียงสองอย่างนี้เราก็ถือว่าท้องเดิน แต่ก็ต้องดูนะครับว่า ถ้าถ่ายเหลวเพียงหนเดียว ก็ไม่ถือว่าท้องเดิน ถ้าถ่ายวันละสามหน สี่หน แต่ยังเป็นก้อนๆ แข็งๆ อยู่ เราก็ไม่ถือว่าท้องเดินเช่นกัน ยกเว้นในเด็ก เด็กแม้ว่าจะถ่านอุจจาระเป็นก้อนแข็งแต่มีมูกมีเลือดปนออกมาหน่อย และถ่ายบ่อย เพียงสามหนเราก็ถือว่าท้องเดิน เพราะน้ำในตัวเด็กมีน้อย เราต้องระวังไว้ถ้าเผลอไปเด็กอาจเป็นอันตรายได้

ท้องเดินเกิดจากอะไร

สาเหตุที่ทำให้ท้องเดินนั้น เราอาจแบ่งออกได้ง่ายๆ เป็น 2 อย่าง คือ แบบติดเชื้อและแบบไม่ติดเชื้อ
แบบติดเชื้อ เกิดจากการกินเชื้อหรือการกินผลิตผลของเชื่อที่มีสารพิษบางครั้งเชื้อโรคตายไปแล้ว แต่ได้ทิ้งสารพิษเอาไว้ เรากินเข้าไปก็ทำให้ท้องเดิน สำหรับเชื่อโรคที่ทำให้ท้องเดินนั้นมีหลายอย่าง เช่น ไวรัส แบคทีเรีย พยาธิ

แบบไม่ติดเชื้อ ผู้ป่วยโรคท้องเดินแบบนี้มีส่วนน้อยเกิดจากกินสารพิษของโลหะหนักเข้าไป

ผู้ป่วยท้องเดินในบ้านเราพบแบบไหนบ้าง

ผู้ป่วยท้องเดินในบ้านเรา พบประมาณร้อยละ 30 เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ที่พบบ่อยในบ้านเราคือ เชื้อซัลโมเนลลา เป็นเชื้อกลุ่มเดียวกับทัยฟอยด์ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4-500 ชนิด เชื้อที่ทำให้เกิดทัยฟอยด์เราเรียกว่า ซัลโมเนลลา ไทฟี่ ส่วนซัลโมเนลลาอื่น ๆ ไม่ทำให้เกิดทัยฟอยด์ แต่จะทำให้เกิดท้องเดินได้

เชื้อแบคทีเรียตัวที่สองที่พบบ่อยก็คือเชื้อบิด พวกชิเกลล่า นอกจากนั้นก็มีเชื้ออื่นๆ ที่เราพบใหม่ๆ อีก 3-4 ตัว แล้วก็ยังมีพวกเชื้ออหิวาต์ซึ่งบ้านเราก็พบน้อยลงมากแล้ว และก็อหิวาต์เทียม สำหรับเชื้ออหิวาต์เทียมจะอยู่บริเวณน้ำกร่อย น้ำเค็ม พวกที่ชอบกินอาหารทะเลมักจะเป็นพวกนี้

อีกประมาณร้อยละ 60
เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น พวกโรต้าไวรัส และอื่นๆ

อีกประมาณร้อยละ 10 อาจเกิดจากสารพิษหรืออื่นๆ สารพิษอาจเกิดจากแบคทีเรียหรือโลหะหนัก แลคทีเรียที่ทำให้เกิดพิษคือ พวก สแต๊ฟฟัยโลคอคคัส ซึ่งอยู่ตามสิ่งแวดล้อมธรรมดา และบางตัวมันอยู่ในอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่มีแป้งมากๆ มันจะปล่อยสารพิษออกมา เวลาต้มให้เดือดตัวมันจะตาย แต่สารพิษจะคงอยู่ เวลาคนเรากินเข้าไปก็ทำให้ท้องเดินได้ หรือพวกคลอสตริเดี่ยม ก็มีพิษ โดยพิษจะปนอยู่ในอาหารกระป๋องที่ผลิตไม่ได้มาตรฐาน นอกจากนั้นก็เป็นสารพิษจากโลหะหนัก

ท้องเดินแล้วทำอย่างไรดี

ก่อนที่จะพูดถึงการรักษาตัวเอง ผมจะขอกล่าวถึงอาการท้องเดินก่อนในฐานะที่ผมเป็นหมอ ผมแบ่งอาการออกเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่ 1 เป็นประเภทที่ทั้งถ่ายทั้งอาเจียน อาจอาเจียนทุกครึ่งชั่วโมง ถ่ายทุกครึ่งชั่วโมง ลักษณะแบบนี้เป็นลักษณะที่เขาขาน้ำมาก ถ้าใครก็ตามที่มีอาการดังกล่าว ไม่ว่าจะมีไข้หรือไม่มีไข้ร่วมด้วย จะต้องรับการรักษาที่โรงพยาบาลชั่วคราว ชั่วคราวหมายความว่า เข้าไปให้น้ำเกลือทดแทนให้เข้าเส้นเลือด แปลว่าให้น้ำแระแร่ธาตุทดแทนที่เสียไป อันนี้ผมถือว่าเป็นลักษณะที่รุนแรงที่สุด ใครก็ตามที่มีลูกหลานหรือตัวเองเป็น จะต้องได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เพราะเส้นแบ่งความตายกับรอด มันไม่ห่างกันมาก ขาดน้ำมากๆ ช็อคตายได้

กลุ่มที่ 2 เป็นขั้นปานกลางอาจมีอาเจียนบ้าง มีถ่ายอุจจาระถี่บ้างแต่ว่าอาเจียนยังมีน้อย ในลักษณะอย่างนี้เราอาจจะไม่จำเป็นต้องไปให้น้ำเกลือเข้าเส้น เราอาจให้จิบพวกน้ำเกลือ น้ำอัดลมที่เขย่าเอาฟองออกก็พอที่จะรักษาตัวเองได้ แต่ว่าลักษณะอย่างนี้ต้องบอกให้คนไข้รู้ตัวว่า ถ้ามันเปลี่ยนแปลงอาการรุนแรงขึ้น เป็นกลุ่มที่ 1 ก็อย่ารีรอ ควรรีบพบแพทย์

กลุ่มที่ 3 มีอาการพอสมควร
เช่น ผู้ใหญ่อาจถ่ายมาแล้ว 3 หน เด็กอาจถ่ายออกมาแล้ว 3-4 หน มีมูกมีเลือดมีน้ำมาก มีอาเจียนบ้างหรือไม่มี แต่กลุ่มที่สามนี้ผมอยากแบ่งเป็นสองพวก เป็นพวกที่ไม่มีไข้ และพวกที่มีไข้ พวกมีไข้เราคงจะต้องดูแลให้เป็นพิเศษกว่าพวกที่ไม่มีไข้ พวกที่มีไข้แสดงว่ามีอาการอักเสบมากว่าพวกที่ไม่มีไข้ พวกที่ไม่มีไข้บางทีกินซัลฟา 2 เม็ดอาจหายได้ แต่ต้องเตือนว่า ถ้าหากว่ากินยาไปแล้ว 12 ชั่วโมง 18 ชั่วโมง 24 ชั่วโมง ถ้าอาการไม่ดีขึ้น ต้องไปหาหมอ โดยเฉพาะพวกที่มีไข้ผมไม่อยากให้กินยารักษาตัวเอง เพราะว่าต้องมีการติดเชื้อ ควรมีการวินิจฉัยให้ถูกต้องและวางแผนการรักษาให้รัดกุมจึงจะหาย

สำหรับกลุ่มที่มีอาการปานกลางและพอสมควรที่ไม่มีไข้ ผมขอแนะนำให้ซื้อผงน้ำตาลเกลือแร่เก็บไว้เวลาท้องเดินก็ผสมกับน้ำต้มสุก ที่สำคัญต้องเป็นน้ำที่ทิ้งให้เย็น ค่อยๆ ใส่ผงเกลือแร่ลงไป วิธีกินก็ค่อยๆ จิบ ไม่ต้องดื่มทีเดียวหมด เพราะถ้าดื่มทีเดียวจะอาเจียน ส่วนยาสามัญประจำบ้านถ้าจะใช้ เราก็อาจจะใช้ซัลฟากัวนิดีน ยาหลายอย่างที่มีราคาแพงหรือบอกว่าคุณภาพสูง อาจให้ผลเท่ากับซัลฟากัวนิดีน เพราะว่าร้อยละ 30 เท่านั้น เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เราจึงใช้ยาฆ่าเชื้อได้ ส่วนอีกร้อยละ 60 เกิดจากเชื้อไวรัส ไม่มียาฆ่าเชื้อ กินยาฆ่าเชื้อหรือไม่กิน มีผลเท่ากัน อีกร้อยละ 10 เกิดจากสารพิษ ก็ไม่มีอะไรฆ่าและอันที่จริง ตามธรรมชาติหากมีเชื้ออยู่ ร่างกายก็จะพยายามขับมันออกมาเองอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่ไม่มีผงน้ำตาลเกลือแร่ เราก็อาจทาขึ้นเองได้ง่าย ๆ โดยใช้น้ำตาลทราย 2 กำมือกับเกลือ 1 ถึง 2 หยิบมือ ผสมน้ำต้มสุก 1 ขวดแม่โขง หรือขวดน้ำปลา จิบดื่มทีละนิดเช่นกันได้

อีกอย่างหนึ่งคือ ผมมักถูกถามว่าท้องเดินจะกินอะไรได้บ้าง ผมก็มักบอกว่า ขาดอาหารไม่ตายหรอก แต่ถ้าขาดน้ำขาดแร่ธาตุตายได้ ถ้ากินอาหารเข้าไปมาก ท้องมันแน่นมันก็ไม่ย่อย ซึ่งจะไปเพิ่มภาระให้แก่ลำไส้ที่กำลังอักเสบอยู่ ถ้าจะกินก็อาจเป็นโจ๊กรองท้องเล็กน้อย แต่สิ่งสำคัญคือ น้ำและแร่ธาตุ เรื่องนี้เราก็สามารถทาขึ้นได้เอง โดยอาจใช้เกลือแกงผสมน้ำส้มดื่ม และก็ตามด้วยน้ำต้มสุก ก็พอช่วยได้ เมื่อเรามีผลไม้ โดยเฉพาะส้มตลอดปี เราใช้น้ำส้มคั้นเองประหยัดกว่า และช่วยเกษตรกรของเราให้ขายผลผลติได้ด้วย เมื่อทำแล้วใส่เกลือเล็กน้อย และถ้าเหลือ เก็บใส่ตู้เย็น จะเก็บเอาไว้กินเย็นๆ ก็ได้ มีคนมักเข้าใจผิดเรื่องกินของเย็นๆ เสมอ อันที่จริงความเย็นจะช่วยไม่ให้คลื่นไส้ ไม่รู้สึกระคายเคืองถ้าร้อนจะไปกระตุ้นให้เกิดอาเจียนท้องเดินก็กินเย็นๆ ได้

ส่วนยาอื่นๆ เช่น ยาโลโมติล ยานี้ไปทำให้ลำไส้หยุดการเคลื่อนไหว ถ้าเป็นเชื้อบางอย่างที่เราต้องการขับออกไปจากตัว เช่น อหิวาต์เทียมหรือเชื้อบิด แทนที่จะหายภายใน 10 ชั่วโมง เมื่อกินยาเข้าไปอาจหายภายใน 2-3 วัน เพราะไปกลั้นเชื้อไว้ไม่ให้ออกในกรณีที่ท้องเดินจากแพ้สารพิษ ยานี้ก็อาจใช้ประโยชน์ได้

ส่วนอีกขนานหนึ่งคือ อิโมเดี่ยม เป็นยาประเภทหยุดการเคลื่อนไหวลำไส้เช่นกัน ยานี้ไม่ควรใช้กับเด็กเล็ก เพราะไปกดการทำงานของระบบหายใจ เคยมีคนแย่เพราะยานี้มาแล้วเหมือนกัน แต่ที่เขาหายจากยานี้ก็มี อย่ามาว่าผมทับถมนะครับ

ในกรณีที่มีอาการปวดท้องมากๆ ผมเห็นว่ายาสามัญประจำบ้านก็ใช้ได้ เช่น พวกยาเหล้าสาระแหน่ กฤษณากลั่น ก็ใช้ได้

ส่วนสมุนไพร ก็ใช้เปลือกมังคุดต้ม เปลือกทับทิมต้ม พวกนี้มีสารรสฝาด หรืออย่างน้ำชาใส่เกลือนิดหน่อยแล้วดื่ม ถ้ามีอาการอักเสบสารรสฝาดนี้จะช่วยการสมานแผล แต่ชาผมไม่ขอแนะนำให้เด็กเล็กกิน เพราะเด็กจะไม่ง่วงและกวน พ่อแม่เลยไม่ต้องหลับต้องนอนกัน

ส่วนยาปฏิชีวนะ ที่จะไปฆ่าเชื้อเรามักจะให้ในกลุ่มที่เป็นไข้ มีการอักเสบในการติดเชื่อ หรือรายที่เป็นบิด เช่นบิดมีตัว บางที่มีอาการท้องเดินถ้าเราตรวจได้ก็ควรจะให้ยาฆ่าเชื้อ

พยาธิบางอย่างอาจทำให้เกิดท้องเดินได้ เช่น พยาธิไจอาเดีย พยาธิแส้แม้ พยาธิอีกตัวที่พบบ่อยในภาคเหนือ เรียกว่า ทริคิโนสิส มีอยู่ในหมูพวกชาวเขาชอบเอาหมูมาทำลาบกินกันสดๆ เสร็จแล้วก็ท้องเดิน พยาธิส่วนใหญ่ตาย ส่วนที่ไม่ตายก็จะเข้าไปฝังเป็นถุงในกล้ามเนื้อ อันนั้นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อาจตายเอาง่ายๆ

และอีกประการหนึ่งเราต้องพิจารณาว่าเป็นโรคท้องเดินในลักษณะระบาดหรือเป็นรายๆ ถ้าเกิดในลักษณะระบาด อย่ารักษาเอง ต้องส่งโรงพยาบาลพวกนี้ร้ายแรง ถ้าระบาดอยู่ตามภาพเหนือมักจะเป็นทริคิโนสิส ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปมักจะเป็นพวกแอนแทร็กซ์ ซึ่งชาวบ้านมักเรียกว่า โรคห่าของวัวควาย เคยมีข่าวผู้ใหญ่บ้านแล่เนื้อวัวที่ตายในหมู่บ้านแจกชาวบ้านกินกันทั้งหมู่บ้าน แล้วก็ท้องเดินกันทั้งหมู่บ้าน ถ้าเกิดในลักษณะนี้ต้องไปโรงพยาบาล

สัญญาณอันตรายที่ควรพบแพทย์

สำหรับเด็ก ถ้าเด็กอาเจียนมากกินอะไรทางปากไม่ได้ ท้องเดินและอาเจียนด้วย ควรพบแพทย์ เพราะว่าหากไม่อาเจียน เรายังพอกรอกน้ำเกลือเข้าปากได้

เด็กเล็กอีกพวกหนึ่ง อาจถ่ายไม่รุนแรง แต่อาจเรื้อรัง ตาโบ๋ กระหม่อมบุ๋ม เด็กหอบซึม ไม่กินน้ำ ไม่กินนม พวกนี้ต้องให้น้ำเกลือ และอาจต้องให้ยาปฏิชีวนะ อันนี้ควรพบแพทย์ด่วน

ส่วนผู้ใหญ่ ที่มีอาการท้องเดินอย่างรุนแรงอย่างที่ผมว่า มักจะมีอาการหน้ามืด จะเป็นลม อ่อนเพลียมาก ซึ่งแสดงว่าความดันกาลังตกต่ำ อาจช็อคได้ หรือว่าลักษณะอุจจาระผิดปกติ เช่น ถ่ายเป็นน้ำซาวข้าว หรือภายในหนึ่งชั่วโมงถ่ายถึง 4-5 ลิตรนี่เป็นอาการรุนแรง เป็นสัญญาณอันตราย

ในรายที่เรื้อรังก็ต้องไปพบแพทย์ ท้องเดินเรื้อรังอาจเกิดจากพยาธิหรือเชื้อบิด ส่วนมะเร็งอาจมีอาการท้องเดินสลับกับท้องผูกได้ พวกนี้ควรจะไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล

ป้องกันโรคท้องเดินได้อย่างไร

การป้องกันนั้น เราจะต้องทำการส่งเสริมด้านบริโภค ส่งเสริมให้มีสุขนิสัยในการบริโภคขณะนี้เรายังชอบกินอาการสุกๆ ดิบๆ อาหารค้างคืนน้ำแข็งก็ไม่สะอาด เช่น เอาน้ำแข็งใส่รถถีบโดยบรรจุในถุงใส่ยาฆ่าแมลง เด็กขายน้ำแข็งก็นั่งอยู่บนนั้น บางรายเอารองเท้าแตะวางาอยู่บนนั้นด้วย

ประการที่สอง ก็เรื่องน้ำกิน น้ำใช้ รัฐคงต้องช่วยกันจัดการให้เพียงพอ หมีน้ำสะอาดใช้ ชาวชนบทคงต้องทำถังกรองน้ำกิน ไม่ใช่เอาน้ำคลองกินกัน
ประการที่สาม การควบคุมพาหะนำโรค เช่น จิ้งจก แมลงสาบ แมลงวัน แมลงหวี่ และหนู
ประการที่สี่ การสุขาภิบาลทั่วไป ส้วม การกำจัดน้ำเสีย พวกนี้เราจะต้องเข้มงวดกวดขัน
ประการที่ห้า โรคใดที่สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน เราก็ต้องส่งเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรคโดยใช้วัคซีน
ประการที่หก เราจะต้องสอบสวนสืบสวน แล้วก็กำจัดแหล่งแพร่ โรค คือให้มีวิธีจะจับคนที่เป็นตัวแพร่โรคมารักษาอย่างไร จึงจะตัดวงจรการระบาดได้
และประการที่เจ็ด คือ สิ่งที่ “หมอชาวบ้าน” กำลังทำอยู่ การสุขศึกษา เรื่องนี้ต้องทำให้ต่อเนื่องสม่ำเสมอ อย่าขาดตอน และทำกันหลายๆ คน ไม่ใช่คุณทำคนเดียวพอหรือผมทำคนเดียวพอ ทุกคนต้องจับมือประสานกัน ช่วยกันคนและไม้คนละมือจึงจะประสบผลสำเร็จ

บ้านเราเป็นเมื่องร้อน เชื้อต่างๆ มันอยู่ได้สบาย มันไม่ถูกจำกัดโดยการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิในระหว่างปี ดังนั้นเมื่อสุขาภิบาลไม่ดี ก็ทำให้แพร่กระจายออกไปได้ง่ายและกว้าง
 

ข้อมูลสื่อ

59-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527
โรคน่ารู้
ศ.นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ