• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

มาดูแลตรวจปากและฟันตนเองกันเถอะ (ตอนที่ 3) ต่อ


ฉบับที่แล้วได้พูดถึงวิธีรักษาอาการปวดฟันว่า สามารถจะทำได้ 2 ทาง คือ รักษาโดยยังสามารถเก็บฟันซี่นั้นไว้ และอีกวิธีหนึ่งคือ ถอนออกเสีย และผมคิดว่าหลายๆ ท่าน คงสนใจวิธีที่ไม่ต้องถอนแน่ๆ เลย
เอาหล่ะ ผมจะขอกล่าวถึงก่อนเลยนะครับ

วิธีดังกล่าวนี้เราเรียกกันว่า การรักษาโพรงประสาทฟัน หรือการรักษารากฟัน ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะกำจัดเชื้อโรคในโพรงประสาทฟัน, รากฟันและปลายฟัน ให้สะอาดปราศจากเชื้อ แล้วจึงค่อยอุดรากฟัน และตัวฟัน โดยเริ่มแรกทันตแพทย์จะต้องใช้เครื่องมือคล้ายเข็มแหลมๆ ใส่เข้าไปในรากฟัน และดึงเอาเนื้อเยื่อภายในโพรงประสาทฟันออกมาให้ได้ก่อน (รูปที่ 1) ในขั้นตอนนี้หากฟันซี่นั้นตายแล้ว กล่าวคือเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันถูกทำลายจนหมดสิ้นแล้ว ผู้ป่วยก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไรเลย แต่ถ้าก่อนรักษาผู้ป่วยยังมีอาการเจ็บปวดอยู่ ก็ต้องใช้ยาชาช่วยลดอาการเจ็บปวดเหล่านี้ โดยการฉีดยาชาให้ก่อนดึงเอาเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันออกมา จากนั้นทันตแพทย์ก็จะใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้าย ๆกับที่ใช้ดึงเนื้อเยื่อประสาทฟัน นั้นใส่เข้าไปในรากฟันอีก และขูดทำความสะอาดภายในรากฟัน เพราะว่าขณะที่มีการติดเชื้อหรือมีการอักเสบของโพรงประสาทฟันนั้น บางครั้งเนื้อฟันรอบๆ รากฟัน ก็พลอยติดเชื้อไปด้วย จึงต้องขูดทำความสะอาดเสียก่อน และอีกประการหนึ่งก็เพื่อขยายให้ขนาดของรูภายในรากฟันกว้างขึ้น ทำให้การอุดรากฟันทำได้สะดวกด้วย (รูปที่ 2)

                                                         

เมื่อเตรียมฟันได้อย่างนี้แล้ว ก็ยังต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคฉีดเข้าไปในรากฟัน เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่ยังอาจหลงเหลืออยู่ เพราะไม่ใช่ว่าดึงเนื้อเยื่อโพรงประสาทฟันออกมาแล้ว จะสะอาดหมดจดดี เชื้อโรคตัวเล็กๆ อาจหลบซ่อนอยู่ภายใน และที่สำคัญคือมีหนองหลงเหลืออยู่ก็ต้องล้างด้วยยาฆ่าเชื้อโรคด้วย (รูปที่ 3) จากนั้นก็จะมียาฆ่าเชื้ออีกชนิดหนึ่งใส่เข้าไปในรากฟันแล้วอุดชั่วคราวไว้ จากนั้นผู้ป่วยก็สามารถกลับบ้านได้ โดยระหว่างนี้ตัวยาดังกล่าวจะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อโรคไปเรื่อยๆ (รูปที่ 4)



อีกประมาณ 2-3 วัน ทันตแพทย์จะนัดให้ผู้ป่วยกลับมาหาอีก เพื่อใช้น้ำยาล้างและใส่ยากลับไปอีก ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งจะใช้เวลานานเท่าใดนั้นก็สุดแต่ว่าอาการของฟันซี่นั้นมากน้อยเพียงใด ถ้าเป็นไม่มาก อาจจะล้างประมาณ 3-6 ครั้ง แต่ถ้าเป็นมากๆ อาจจะต้องมาล้างถึง 7-8 ครั้ง ก็มี จากนั้นจึงทำการอุดรากฟันและตัวฟันให้ (รูปที่ 5) เมื่อทันตแพทย์คิดว่าภายในโพรงประสารทฟันและรากฟันนั้นสะอาดดีแล้ว

                                                   

จะเห็นว่าการรักษารากฟันนั้นมันจะยุ่งยากและเสียเวลาอยู่บ้าง แต่ก็เป็นการเสียเวลาที่คุ้มค่า เมื่อแลกกับการที่ไม่ต้องสูญเสียฟันไป อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ก็มีผู้พยายามคิดค้นหาตัวยาที่ช่วยย่นระยะเวลาการล้างรากฟันให้สั้นลง เพื่อเป็นการประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายด้วย ซึ่งในกรณีที่เป็นไม่มาก ถ้าถอนจะเสียเวลาเพียง 1-2 ครั้งก็.....

อธิบายการรักษารากฟันเสียยืดยาว แต่ยังไม่กล่าวถึงเลยว่า ฟันแบบไหนจึงสามารถรักษารากฟันได้ หรือแบบไหนที่ทำไม่ได้และต้องถอน

คือมันเป็นอย่างนี้นะครับ ถ้าฟันของผู้ป่วยยังมีลักษณะโครงสร้างของตัวฟันที่ดี มีเนื้อฟันเหลืออยู่พอสมควร ที่จะบูรณะซ่อมแซม (อุด) ได้หลังจากรักษาแล้ว และที่สำคัญก็คือ เนื้อเยื่อบริเวณปลายรากไม่ถูกทำลายหรือเป็นหนองมากเกินไป ก็สมควรที่จะทำการรักษาโดยวิธีนี้ได้ แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าเนื้อฟันผุพังจนแทบไม่เหลือเป็นซี่อยู่แล้ว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมีหนองที่ปลายรากมาก หรือเนื้อเยื่อรอบๆ รากฟันถูกทำลายมาก ซึ่งจะเห็นได้โดยการเอกซเรย์ดู (รูปที่ 6) ก็คงจะไม่สามารถรักษารากฟันได้อีกแล้ว เมื่อถึงตอนนี้ ก็คงจะพูดได้ประโยคเดียวว่า “ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องถอน” ซึ่งก็เป็นทางเลือกสุดท้ายสำหรับทันตแพทย์ ถึงแม้การถอนฟันจะฟังดูน่ากลัว แต่ปัจจุบัน วีการทางด้านเครื่องมือหรือตัวยาต่างๆ ก็ช่วยตัดปัญหาความยุ่งยากลงไปมากมาย เช่น ก่อนนี้ยาชาก็ยังมียาชนิดสเปรย์ พ่นลงไปก่อน ขณะฉีดยาชาก็ไม่เจ็บ พอยาชาออกฤทธิ์เต็มที่แล้วก็สามารถถอนฟันได้โดยไม่รู้สึกเจ็บอะไรมากมายเลย จะมีบ้างก็อาจรู้สึกตึงๆ ฟันบ้างเวลาโยกฟันออก

                  

ก็เป็นธรรมดาแหละครับ การถอนฟันหรือการทำฟันก็คงจะไม่ได้สนุกเหมือนกับการไปเที่ยวสวนสนุกหรือไปดูหนังดูละครแน่ๆ


ทีนี้นะครับ ก็มักจะมีผู้ป่วยบางคนที่มักจะเป็นคนขี้รำคาญ พอมีปัญหาเจ็บฟัน เสียวฟัน หน่อย ก็อยากจะถอนออกเสีย คือเหมือนกับเป็นคนที่ไม่เสียดายฟันของตัวเองซะอย่างนั่นแหละ อย่างที่ผมเคยบอกกับท่านผู้อ่านไปแล้วว่า การถอนฟันนั้นน่ะมันง่าย แต่ก็เป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะเลือกทำทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อถอนไปแล้ว ฟันที่อยู่ข้างๆ ก็มักจะล้ม เอียงเข้ามา ฟันบนที่อยู่ตรงกันก็จะงอกย้อยต่ำลงได้ เพราะไม่มีอะไรค้ำไว้ (รูปที่ 7) ก่อให้เกิดปัญหาฟันเกรวนได้ในระยะยาว และที่สำคัญที่สุดก็คือไม่มีฟันไว้ใช้บดเคี้ยวซีครับ ถ้าจะแก้ปัญหาก็ต้องมาทำฟันปลอมใส่ ไหนจะต้องสิ้นเปลืองเงินทองอีก และบางคนพอใส่ฟันแลอมเข้าไปก็รู้สึกรำคาญทนไม่ได้ หรือใช้เคี้ยวไม่อร่อย ทำนอนนั้นแหละ

โธ่ ก็จะให้ของปลอมเหมือนของจริง 100% ได้อย่างไรละครับ
เพราะฉะนั้นทางเดียวที่มีให้เลือกเดินก็คือ หมั่นดูแลรักษาฟันให้ดีเถอะครับ อย่าให้ถึงกับต้องมาถอนฟันกันเลย เริ่มกันเลยเป็นไงครับ!

 

ข้อมูลสื่อ

59-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 59
มีนาคม 2527
ฟันดีมีสุข
ทพ.เฉลิมพงษ์ ชิตไทสง