• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ห้องแลบ / ห้องชันสูตรโรค

 

เวลาไปหาหมอที่โรงพยาบาลบางครั้งหมออาจจะเขียนใบสั่งยาให้คุณไปตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ หรืออุจจาระ ที่อีกแผนกหนึ่งซึ่งจะขอเจาะเลือดหรือขอให้คุณถ่ายปัสสาวะ หรืออุจจาระ (ตามแต่แพทย์สั่ง ) เก็บไว้ในหลอดแก้วหรือภาชนะ แล้วนำไปตรวจด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์

ห้องที่ทำหน้าที่ดังกล่าว อาจมีชื่อเรียกได้ต่างๆ เช่นกัน “ ห้องชันสูตรโรค “ “ ห้องวิเคราะห์โรค “
“ ห้องตรวจเลือด “ “ห้องปฏิบัติการ “ เป็นต้น
แต่หมอส่วนมากนิยมเรียกจนติดปากว่า “ ห้องแหลบ “ คำว่า แหลบ ( Lab) ในที่นี้เป็นคำเรียก
สั้นๆ จากคำทับศัพท์ ภาษาอังกฤษว่า “ แหลบบอราตอรี่ “ ( Laboratory ) ซึ่งหมายถึงการ
ทดลองวิเคราะห์ หรือชันสูตรทางวิทยาศาสตร์

ห้องแหลบ หมายถึง ห้องทดลองวิเคราะห์ หรือชันสูตรโดยการใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง

ในปัจจุบันการวิเคราะห์โรคหรือการวินิจฉัยโรค ต้องอาศัยห้องแหลบเป็นอย่างมาก เช่น ถ้าคุณเป็น
ไข้หนาวสั่น สงสัยว่าจะเป็นไข้ป่าหรือมาลาเรียหมอก็จะส่งคุณไปห้องแหลบเพื่อตรวจดูว่ามีเชื้อ
มาลาเรียอยู่ในเลือดของคุณหรือไม่

ถ้าคุณเป็นเบาหวาน คุณมักจะต้องไปที่ห้องแหลบ ให้เขาเจาะเอาเลือดไปดูว่า ระดับน้ำตาลในเลือด
ของคุณสูงเพียงใด

ถ้าสงสัยมีก้อนนิ่วหรือมีการติดเชื้ออักเสบในทางเดินปัสสาวะ(ไตหรือกระเพาะปัสสาวะ)หมอก็จะส่งคุณไปที่ห้องแหลบ ตรวจปัสสาวะดูว่ามีความผิดปกติหรือไม่

ถ้าสงสัยมีตัวพยาธิอยู่ในลำไส้ก็จะต้องไปห้องแหลบ ตรวจอุจจาระดูว่ามีไข่พยาธิหรือไม่

ห้องแหลบ
สามารถให้บริการชันสูตรโรคได้ร้อยแปดพันอย่าง แต่ละครั้ง หมอจะสั่งตรวจเฉพาะไม่กี่อย่างที่จะช่วยพิสูจน์โรคที่สงสัยเท่านั้นไม่ใช่ส่งตรวจแบบเหวี่ยงแหไปหมดทุกอย่าง

สำหรับคำอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคำว่าแหลบ ก็มีเช่น
ใบแหลบ  หมายถึง ใบสั่งที่หมอเขียนให้คุณถือไปยังห้องแหลบ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำการชันสูตรในสิ่งที่หมอต้องการรู้

ทำแหลบ หมายถึง ทำการทดลองในห้องแหลบ

ผลแหลบ หมายถึง ผลของการตรวจทางห้องแหลบ

ก่อนจบก็ขอฝากข้อคิดเรื่องแหลบสักเล็กน้อย เพราะท่านผู้อ่านบางท่านอาจเกิดความเข้าใจผิด คิดว่าการวินิจฉัยโรคนั้น การรู้ผลตรวจทางห้องแหลบเป็นสิ่งสำคัญก่อนเพื่อน เพื่อความเข้าใจถูกต้อง จึงขอเน้นให้ทราบว่า ขั้นตอนในการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องนั้นคือ

1. การซักประวัติ

2. การตรวจร่างกาย

3.การตรวจทางห้องแหลบ

( ความสำคัญลดหลั่นเรียงกันมา )
ถ้าซักประวัติให้ดี เพียงซักประวัติอย่างเดียว ยังไม่ทันลงมือตรวจร่างกายก็วินิจฉัยโรคของผู้ป่วยได้กว่าร้อยละ 50 แล้ว

ดังนั้นการที่ไปสนใจแต่ผลจากการตรวจแหลบย่อยทำให้ผิดพลาดและสับสนได้ ดังเช่นที่ปรมาจารย์ทางอายุรศาสตร์ผู้ล่วงลับไปแล้ว ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ ประเสริฐ กังสดาลย์ได้กล่าวไว้ว่า

มัวเบ่งแต่แหลบ บัดซบจริงกู”

 

ข้อมูลสื่อ

72-001
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
พูดจาภาษาหมอ