• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

สิว


สิวเป็นความผิดปกติของผิวหนังที่พบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว บางรายมีอาการเพียงเล็กน้อย และอาจไม่จำเป็นต้องรักษา แต่ส่วนมากมักจะเป็นมากพอควรและเป็นอยู่นาน ซึ่งนำไปสู่การเกิดรอยแผลเป็น ทำให้เสียโฉมไปตลอดชีวิต เรื่องจากสิงมักจะเป็นมากในวัยรุ่น ดังนั้นจึงอาจส่งผลถึงการพัฒนาบุคลิกภาพ ทำให้วัยรุ่นบุคลิกภาพเสีย กลายเป็นคนขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่กล้าเข้าสังคม และไม่กล้าแสดงออกซึ่งความสามารถของตนได้

สิวเกิดขึ้นได้อย่างไร?
ในการเกิดสิวนั้น สิ่งสำคัญก็คือการเกิดหัวสิว ที่เราเรียกว่า “โคมีโดน” ในท่อของต่อมน้ำมันการเกิดหัวสิวนี้ เนื่องมาจา

1. มีการจับตัวของชั้นหนังกำพร้า ชั้นขี้ไคลบริเวณท่อน้ำมัน เกิดเป็นหัวสิว
2. เกิดการเจริญของเชื้อแบคทีเรียในท่อไขมันนำไปสู่การอักเสบเป็นตุ่มแดงหรือตุ่มหนอง
3. มีการสร้างไขมันจากต่อมน้ำมันมากกว่าธรรมดา

จะเห็นว่าเหตุผลที่วัยรุ่นเป็นสิวกันมากเนื่องมาจากเริ่มมีฮอร์โมนเพศ ออกมามาก และฮอร์โมนเพศนี้จะกระตุ้นให้ต่อมน้ำมันสร้างน้ำมันออกมามากกว่าธรรมดา ในปัจจุบันมีการใช้เครื่องสำอางและยาหลาย ๆ ชนิดมากขึ้น จึงพบว่าเกิดสิงจากเครื่องสำอางหรือยาที่ใช้บริเวณใบหน้ามากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดสิวโดยทำให้เกิดการจับตัวกันของหนังกำพร้า หรือชั้นขี้ไคล ในท่อน้ำมันเป็นหัวสิวขึ้น

สิวจะหายไปเองไหม?

สิวตามธรรมชาติ ซึ่งพบในวัยรุ่นนั้น ถ้าเป็นไม่มากนักมักจะหายไปเองได้ เมื่ออายุมากว่า 25 ปี แต่อาจเหลือรอยแผลเป็นอยู่ แต่ถ้าเป็นมากๆ แล้วมีโอกาสเป็นได้จนแม้จะอายุ 40 – 50 ปี โดยไม่เคยหายเลย

แล้วเราจะรักษาสิวอย่างไร?

เราจำเป็นต้องแบ่งสิวออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ
1. สิวที่เป็นเองในวัยรุ่น
2. สิวที่เกิดจากการใช้เครื่องสำอาง หรือยาต่างๆ

ในประเภทแรก
เราพบว่ากรรมพันธุ์มีส่วนมากในการกำหนดว่าเราจะเป็นสิวหรือไม่ ถ้าคุณพ่อก็เป็นคุณแม่ก็เป็น เราจะมีโอกาสเป็นสิวสูงมาก

การรักษาสิวประเภทนี้มีจุดมุ่งหมายสำคัญคือ
1. ป้องกันการเกิดรอยแผลเป็น
2. ทำให้สิวหายหรือยุบไปโดยเร็ว
3. ป้องกันการเกิดสิวอีก
4. การรักษารอยแผลเป็นให้ดีขึ้น

การป้องกันการเกิดรอยแผลเป็นได้แก่

- หยุดแกะ บีบ นวด ซึ่งจะทำให้เกิดรอยได้มาก
- ใช้ยากินหรือยาทาที่ทำให้สิวอักเสบหยุดโดยเร็ว

การทำให้สิวหายหรือยุบโดยเร็ว ได้แก่

- การกินยาปฏิชีวนะ ประเภท เตตร้าซัยคลีน หรืออิริโธรมัยซิน ในขนาด 500 – 1,000 มก. ต่อวัน (วันละ 2-4 เม็ด) นาน 6 เดือน
- การทายาซึ่งช่วยการยุบตัวของสิว เช่น ยาประเภทโลชั่นที่เข้ากำมะถัน ยาประเภทเบนซอยด์เปอร์ออกไซด์ขนาด 5- 10 เปอร์เซ็นต์
การป้องกันการเกิดสิวอีกได้แก่
- หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางหรือครีมทาผิวต่างๆ
- ใช้ยาทาประเภทกรดวิตามินเอ ในขนาด 0.25 – 0.5 มก.% วันละครั้งก่อนนอน

การรักษารอยแผลเป็น เป็นวิธีการพิเศษซึ่งต้องอาศัยกรรมวิธีพิเศษบางอย่างเพื่อทำให้รอยแผลเป็นดีขึ้น วิธีการนี้จะทำได้เฉพาะแพทย์ทางโรคผิวหนังหรือศัลยแพทย์ตกแต่งบางท่านซึ่งได้ฝึกฝนมาเป็นพิเศษเท่านั้น ซึ่งมีวิธีการยุ่งยาก มีปัญหาหลายๆ อย่างและค่าใช้จ่ายสูง

ส่วนวิธีซึ่งทำกันตามร้านเสริมสวย เช่น ขัดหน้า ลอกหน้า นวดหน้า กรอหน้า ตามที่มีการโฆษณา กันตามสื่อมวลชนนั้นไม่ได้ผล และยังอาจเกิดปัญหาแทรกซ้อนจนเสียโฉมได้

สิวที่เกิดจากเครื่องสำอางมีวิธีรักษาและป้องกันอย่างไร?

เครื่องสำอางที่เป็นสาเหตุของสิวมากที่สุดในปัจจุบันได้แก่ ครีมทาฝ้า ลอกฝ้าทั้งหลาย ซึ่งมีการใช้แพร่หลายกันมากขึ้น นอกจากนี้ก็พบจากครีมบำรุงผิว ครีมรองพื้น แป้งขัดหน้า

การรักษาสิวชนิดนี้สำคัญที่สุดคือ
- จะต้องหยุดสาเหตุ เช่น เครื่องสำอางนั้นเสีย
- อาจจำเป็นต้องใช้ยาทาหรือยากิน เหมือนอย่างในสิวประเภทแรก

การกินยาคุมกำเนิดมีผลต่อสิวอย่างไร?

ยาคุมกำเนิดในปัจจุบันมีหลายประเภท มีทั้งชนิดฮอร์โมนเพศหญิงน้อย ปานกลาง และมาก และยังมียาคุมบางชนิดซึ่งมียาต้านฮอร์โมนเพศชายด้วย

ยาคุมชนิดที่มีฮอร์โมนเพศหญิงปานกลางและมาก มักจะทำให้การรักษาสิวดีขึ้น แต่เนื่องจากต้องกินติดต่อกันนาน จึงมักเกิดปัญหาจากฮอร์โมนเพศหญิงมากเกินไป เช่น อ้วนขึ้น หรืออาจเป็นฝ้า ส่วนยาคุมชนิดมียาต้านฮอร์โมนเพศชายนั้น ได้ผลดีมากในการรักษาสิว แต่อาจจะมีผลเสียได้ เช่นเดียวกับยาคุมที่มีฮอร์โมนเพศหญิงสูงๆ
แพทย์บางท่านจะให้ฮอร์โมนในการรักษาสิว แต่จะกระทำต่อเมื่อใช้วิธีการอื่นๆ แล้วไม่ได้ผลเท่านั้น

อาหารอะไรบ้างที่ทำให้เกิดสิว?

ความเชื่อเรื่องอิทธิพลของอาหารต่อการเกิดสิวมีมานานมาก แต่จากการศึกษาเปรียบเทียบในปัจจุบัน พบว่า ไม่มีอาหารกลุ่มใดซึ่งมีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเกิดสิว

สบู่ยารักษาสิวได้จริงหรือ?

เนื่องจากยาที่จะได้ผลในการรักษาสิว ต้องทาที่ผิวหนังเป็นระยะเวลานาน การเอายามาผสมในสบู่ซึ่งฟอกหน้าชั่วระยะเวลาสั้นๆ และล้างออกย่อมไม่ก่อให้เกิดผลในการรักษา นอกจากนี้ในกรณีที่ล้างบ่อยเกินไป อาจเกิดการระคาย หน้าแห้ง ลอก และคันได้

 

ข้อมูลสื่อ

60-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 60
เมษายน 2527
นพ.นิวัติ พลนิกร