• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกลือ : เครื่องปรุงรสธรรมดาที่มีคุณค่ามหาศาล

อาหารสมุนไพรที่ใช้รักษาอาการหรือโรคที่นำมาเสนอนี้ เป็นการศึกษาของประเทศจีน หากท่านผู้อ่านท่านใดได้เคยใช้ในการรักษาอาการ หรือโรคใดและได้ผล กรุณาแจ้งมายัง “หมอชาวบ้าน ”เพื่อรวบรวมไว้เป็นข้อมูลศึกษา และเผยแพร่เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป 

                                               

ทุกชีวิตที่เกิดมาจะขาดเกลือไม่ได้ โดยเฉพาะการดำรงและการพัฒนาของชีวิตมนุษย์ ไม่ว่าในชีวิตประจำวันหรือในการผลิตทางเกษตร ตลอดจนถึงอุตสาหกรรม เกลือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เช่นกัน จนมีผู้กล่าวว่า เกลือนั้นเป็นของธรรมดาที่มีค่ามหาศาล

ชาวจีนมักกล่าวไว้ว่า “ เปิดประตูตื่นขึ้นสิ่งจำเป็นเจ็ดอย่างคือ ไม้ฟืน ข้าว น้ำมัน เกลือ ซีอิ้ว น้ำส้ม ชา " จะเห็นได้ว่า เกลือเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในชีวิตประจำวันที่ขาดเสียมิได้ ของมนุษย์

อดีตเกลือเคยมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง ทางการจีนในสมัยโบราณได้ตั้งหน่วยงานเพื่อควบคุมการซื้อขายเกลือโดยเฉพาะดังที่ ซือหม่าเชียน ได้บันทึกไว้ในหนังสือ สื่อจี้ (บันทึกประวัติศาสตร์) ในสมัยหมิงและชิง การได้ตำแหน่งข้าราชการที่มีอำนาจควบคุมเกลือนั้น จะต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อตำแหน่งนี้มา
ในยุโรปก็เคยเกิดสงครามแย่งชิงเกลือกัน อย่างเช่น สงครามชนชาติเยอรมัน ในปี ค.ศ 98 เนื่องจากแย่งชิงแม่น้ำสายหนึ่งซึ่งสามารถนำเอาน้ำมาทำเกลือได้ ผลของสงครามคือ ชนเผ่าที่แพ้ถูกฆ่าตายหมด ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่าเศร้าสลดใจยิ่ง

ในฝรั่งเศสก็เช่นกัน ในสมัยโบราณ กษัตริย์ฝรั่งเศสในสมันนั้นก็เคยเก็บภาษีจากเกลือในราคาสูง โดยกำหนดให้ประชาชน 3 คน ซื้อเกลือได้ครั้งเดียว และราคาเกลือที่ซื้อในแต่ละครั้งนั้นแพงมาก คือเท่ากับรายได้ของคนๆหนึ่งในหนึ่งปี

ในโรมันสมัยโบราณก็เคยให้เงินเดือนแก่ทหารโดยให้เป็นเกลือ

ชาวกรีก สมัยโบราณก็เช่นกัน ในการเซ่นไหว้พระเจ้า สิ่งที่ขาดไมได้คือเกลือ ทั้งนี้เพื่อเป็นเครื่องแสดงความจริงใจต่อพระเจ้า

ที่กล่าวมาทั้งหมด พอจะเป็นเครื่องแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเกลือในสมัยโบราณ ในแง่ของสังคมและเศรษฐกิจ
สำหรับบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงความสำคัญของเกลือในแง่ที่มีต่อสุขภาพเป็นหลัก

 

⇒ทำไมชีวิตจึงจำเป็นต้องมีเกลือ
มนุษย์และสัตว์ชอบกินเกลือและขาดเกลือไม่ได้ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ? เหงื่อ น้ำตาของมนุษย์ ถ้าเราใช้ปลายลิ้นแตะจะรู้สึกเค็ม รสเค็มนี้คือเกลือนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าในร่างกายมนุษย์นั้นมีเกลืออยู่ พูดไปแล้วก็เหลือเชื่อ บรรพบุรุษของสัตว์บกนั้นแต่เดิมอาศัยอยู่ในทะเล ดังนั้นของเหลวในร่างกายสัตว์บกจึงมีรสเค็มของเกลืออยู่เหมือนก่อนที่สัตว์เหล่านั้นจะขึ้นจากทะเลมาอยู่บนบก

เกลือเป็นสิ่งที่ร่างกายมนุษย์จะขาดเสียมิได้ คนที่มีน้ำหนัก 70 กิโลกรัมในร่างกายจะมีเกลือประมาณ 150 กรัม เลือดในร่างกายมนุษย์มีเกลืออยู่ประมาณ 5 ใน 1,000 ส่วน สำหรับในน้ำเหลืองไขสันหลัง และเหงื่อ ปริมาณของเกลือก็ยิ่งมีมากกว่า ถ้าหัวใจขาดเลือด ก็จะทำให้การเต้นของหัวใจผิดปกติ กล้ามเนื้อขาดเกลือ จะทำให้เกิดอาการชัก ถ้าในกระเพาะอาหารขาดเกลือ ก็จะทำให้ระบบการย่อยไม่ดี หากขาดเกลือเป็นระยะเวลานานๆ จะทำให้ไม่มีแรง

ผลวิจัยทางการแพทย์พบว่า ผู้ที่กินเกลือมาก อัตราการเกิดโรคความดันโลหิตสูงก็จะเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น ประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่น กินเกลือเฉลี่ยคนละ 26 กรัม/วัน ทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูงถึงร้อยละ 39 และส่วนใหญ่จะตายเพราะเส้นเลือดในสมองแตก สำหรับชาวเอสกิโมกินเกลือเฉลี่ยคนละ 4 กรัม/วัน อัตราส่วนของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงต่ำมาก

สำหรับปริมาณของเกลือที่กินในแต่ละวัน ควรที่จะควบคุมในปริมาณที่ต่ำกว่า 10 กรัม / วัน ถ้าต่ำกว่า 5 กรัม/วัน จะทำให้ความดันโลหิตลดลง เป็นการป้องกันโรคความดันโลหิตสูงได้อีกด้วย ในกรณีของผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงควรควบคุมการกินเกลือให้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 3 กรัม/วัน ในภาวะที่กินเกลือน้อย ขณะเดียวกันเกิดมีอาการอาเจียน ท้องเสีย เหงื่อออกมาก หรือใช้ยาขับปัสสาวะทำให้เกลือในร่างกายถูกขับออกมามากเป็นผลให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เหนื่อยมึนหัว เบื่ออาหาร มีอาการจะอาเจียน หรืออาเจียน ตามัว เป็นต้น ถ้าเป็นมากจะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งตัว เกิดอาการชักได้ ในภาวะเช่นนี้ควรกินน้ำเกลือเข้าไปชดเชย

 

⇒ สายเคมีที่พบ
สายเคมีสำคัญในเกลือคือ โซเดียมคลอไรด์ (Sodium Chloride) นอกจากนี้ยังมี โปแตสเชียม (Potassium) แมกเนเชียม ( Magnesium) และแคลเซียม (Calcium) ในปริมาณน้อย หลังจากกินเกลือเข้าไปแล้ว โซเดียมก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกาย โซเดียมจะทำให้เกิด Osmotic Pressure ซึ่งมีผลต่อปริมาณน้ำในและนอกเซลล์ ทำให้ระดับน้ำในร่างกายเป็นปกติ

ในภาวะปกติ เกลือในร่างกายจะถูกขับออกนอกร่างกายโดยทางไต ปัสสาวะ และผิวหนัง เช่น เหงื่อ เป็นต้น เมื่อร่างกายขาดเกลือ กรดในกระเพาะอาหารก็จะลดน้อยลง ทั้งนี้เพราะเกลือเป็นสารสำคัญในการสร้างกรด

ในฤดูร้อนเนื่องจากเหงื่อออกมาก เกลือในร่างกายถูกขับออกมาก ถ้าร่างกายไม่ได้รับเกลือเสริมในปริมาณที่เพียงพอก็จะทำให้เป็นลมหรือชักได้ ในภาวะที่เป็นอหิวาต์ อาหารเป็นพิษ กระเพาะอาหาร ลำไส้อักเสบชนิดเฉียบพลันเป็นต้น ทำให้มีอาการอาเจียน ท้องเสีย ปริมาณน้ำและเกลือในร่างกายสูญเสียอย่างมาก สภาพกรดและด่างในร่างกายขาดความสมดุล ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะอันตราย จำเป็นต้องให้น้ำเกลือ การให้น้ำเกลือนี้คือ การให้โซเดียมคลอไรด์ ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยมีชีวิตรอดพ้นจากภาวะวิกฤตนั่นเอง

 

⇒ สรรพคุณ
เกลือมีคุณสมบัติเย็น (ยิน) รสเค็ม มีสรรพคุณดับร้อนถอนพิษ ทำให้เลือดเย็น ช่วยระบาย ระงับอาเจียน

 

⇒ ตำรับยา
1.ในฤดูร้อน เหงื่อออกมากหรือคอแห้งกระหายน้ำ ร้อนกระวนกระวาย ปัสสาวะมาก : ใช้ขิงสด 2 แว่น
เกลือ 4.5 กรัม ชาเขียว 6 กรัม ต้มน้ำ 500 มิลลิกรัม ดื่มต่างน้ำ

2. ท้องผูก : ให้ดื่มน้ำเกลือ 1 แก้ว ขณะท้องว่าง

3. กินเนื้อและดื่มเหล้าแล้วเกิดอาการท้องแน่นไม่สบาย : ใช้เกลือแปรงฟัน แล้วบ้วนปากด้วยน้ำอุ่น
3-4 ครั้ง

4. ตะขาบต่อยหรือผึ้งต่อย : ใช้เกลือป่นพอก หรือน้ำเกลือทา หรือแช่

5. เลือดออกบริเวณเหงือก : ฟัน: ใช้เกลือป่นแปรงฟันทุกเช้าและค่ำ

6. อาการคันบริเวณผิวหนังหรือบาดแผล : ใช้น้ำเกลือล้างทำความสะอาดบริเวณที่เป็น เป็นประจำ

7. เจ็บคอ : ใช้เกลือเล็กน้อยผสมน้ำ 1 แก้ว กินทุกเช้า ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ หรือใช้น้ำเกลือกลั้วคอเป็นประจำ วันละหลายๆ ครั้ง

8. ตาแดง : ใช้น้ำเกลือล้างตาหรือใช้ผ้าแช่น้ำเกลือ แล้วพอกบริเวณตา

9. เลือดไหลไม่หยุดหลังถอนฟัน : ใช้สำลีปั้นเป็นก้อนแช่น้ำเกลือเข้มข้น อุดตรงรูที่ถอนฟันหลังจากนั้นประมาณ 1 ชั่วโมงให้เอาสำลีออก

10. ป้องกันผมร่วง : ใช้น้ำเกลือเจือจางล้างหัวทุกวัน ทำเป็นประจำจะช่วยป้องกันผมร่วง

11. ก่อนร้องเพลงหรืออภิปราย : ดื่มหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลือเจือจางสักแก้ว จะทำให้เสียงดี ช่วยให้เสียงไม่แตก

12. ไก่ 1 ตัว เอาเครื่องในออกหมด แขวนให้น้ำแห้ง แล้วใช้เกลือหยาบ 2-3 กิโลกรัม คั่วในกระทะจนร้อน เอาไก่ใส่ลงในกะทะ แล้วใช้เกลือที่ร้อนๆ หมก แล้วครอบฝาชี จะได้ไก่อบเกลือที่อร่อย เป็นยาบำรุงร่างกายที่ดีอย่างหนึ่ง

13. นอกจากนี้ เกลือยังมีประโยชน์ในการล้างแผล ล้างตา บ้วนปากเป็นต้น เกลือมีคุณสมบัติในการยับยั้งและทำลายเชื้อโรค ดังนั้น อาหารไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์จึงมักจะดองเก็บไว้นานได้

 

⇒ หมายเหตุ
ผู้ที่มีอาการบวมน้ำ หรือเป็นโรคไต หัวใจ ตับแข็ง ควรงดเกลือ เพราะจะทำให้อาการโรครุนแรงขึ้น

 

ข้อมูลสื่อ

72-007
นิตยสารหมอชาวบ้าน 72
เมษายน 2528
อาหารสมุนไพร
วิทิต วัณนาวิบูล