• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ตอน หมอรักษากระดูก

ในปัจจุบัน โลกทั้งโลกได้หมุนไปตามทิศทางแห่ง“ สุขภาพดีทั่วหน้าภายในปี 2543” ได้เกิดความตื่นตัวและการเคลื่อนไหวในวงการแพทย์และสาธารณสุขใหม่ๆ ผู้เขียนขอทำหน้าที่คอยนำเอาเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง และยินดีรับฟังความคิดเห็นและข้อเท็จจริงจากผู้อ่าน มีข้อเสนอแนะประการใด โปรดจดหมายมาได้

                                         


เมื่อเร็วๆ นี้ผู้เขียนมีโอกาสแวะเยี่ยมหลวงพ่อรูปหนึ่งผู้ซึ่งมีชื่อเสียงในการรักษาโรคกระดูก วัดของท่านอยู่เลยชานเมืองกรุงเทพออกไปไม่ไกลนัก
ที่วัดแห่งนี้ มีเรือนไม้หลังหนึ่งจัดทำเป็นเรือนคนไข้ ให้คนไข้และญาติพักค้างแรมเป็นประจำวันหนึ่งๆ จะมีคนไข้พักอยู่ราว 5-10 คน

ผู้เขียนได้พูดคุยกับคนไข้ถึงการเจ็บป่วยและการรักษาตัวของเขา
ลุงอายุ 50 ปีเศษ บ้านอยู่กรุงเทพฯเล่าให้ฟังว่า “แขนข้างซ้ายของลุงถูกชะแลงตี กระดูกปลายแขนหัก ไม่ได้เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯกลัวหมอเขาจะตัดแขนทิ้ง จึงขึ้นรถมารักษากับหลวงพ่อที่วัดนี้ ต่อไปถึงกระดูกแขนจะโก่งหน่อยก็ไม่เป็นไร ขอให้ใช้งานได้ก็แล้วกัน...ลุงบอกตรงๆ ว่าที่ไม่ได้เข้าไปรักษาในโรงพยาบาลไม่ใช่ว่ากลัวจะเสียเงิน หรือกลัวเจ็บ แต่กลัวหมอจะตัดแขนกลายเป็นคนพิการ “

ชายหนุ่มอายุ 20 ปีเศษอีกคนหนึ่ง ถูกท่อนไม้ทับ กระดูกต้นขาข้างขวาหัก ได้เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลจังหวัดตั้งแต่แรก เล่าว่า “ผมพักรักษาที่โรงพยาบาลอยู่ 15 วัน ไม่เห็นหมอเขาทำอะไรให้ มีแต่ให้นอนแล้วให้น้ำหนักถ่วงขาไว้เฉยๆ กับให้กินยาวันละ 3 ครั้ง ญาติก็เลยพามาที่นี่ หลวงพ่อใช้เฝือกไม้ไผ่ใส่ให้ ตอนนี้พอจะหัดเดินได้แล้ว “

คนไข้รายที่ 3 เป็นชายอายุ 40 ปีเศษ ตกต้นไม้ กระดูกหน้าแข้งข้างซ้ายหัก เล่าว่า “ ไม่อยากไปรักษาที่โรงพยาบาลเพราะกลัวหมอใช้เฝือกปูนพอกขาเดี๋ยวขาเป็นแผลเน่า เพราะเคยเห็นญาติไปเข้าเฝือกปูนที่โรงพยาบาลจนเกิดแผลเน่ามาแล้ว “

คนไข้รายที่ 4 เป็นหญิงอายุ 50 ปีเศษ หกล้ม ข้อต่อสะโพกข้างซ้ายเคลื่อนได้เข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลในกรุงเทพฯหลายวัน เล่าว่า “ ทนพยาบาลสาว ๆ ดุว่าไม่ไหว ญาติก็เลยพามาที่วัดนี้ อยู่อย่างนี้สบายใจกว่ามาก ญาติก็อยู่เฝ้าได้ตลอดเวลา ไม่เหมือนอยู่โรงพยาบาลเขาอนุญาตให้ญาติเยี่ยมได้เป็นบางเวลาเท่านั้น “

จากการพูดคุยกับคนไข้รายแล้วรายเล่า ทำให้ทราบว่าพวกเขามีความนิยมในวิธีการรักษากระดูกแบบไทย ๆ มากกว่าแพทย์สมัยใหม่ และชอบพักอยู่ที่วัดมากกว่าพักอยู่ในโรงพยาบาล
คนไข้มากกว่าครึ่งหนึ่ง เคยเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลมาแล้ว แต่เกิดความไม่พึงพอใจ บางคนเพราะได้รับความไม่สะดวกและขาดการเอาใจใส่อย่างเป็นกันเอง บางคนเพราะไม่เข้าใจถึงวิธีการรักษาของหมอในโรงพยาบาล เช่น ทำไมต้องตัดแขน ตัดขาทิ้ง หรือทำไมให้นอนแล้วจึงใช้น้ำหนักดึงถ่วงไว้เฉยๆ ( เหมือนกับไม่ได้ทำอะไรให้ )

บางคนมีความเข้าใจอย่างผิด ๆว่า ใส่เฝือกปูนแล้วจะทำให้เกิดเป็นแผลเน่าตรงกันข้าม การรักษาโรคกระดูกแบบไทยๆ นั้น คนไข้และญาติล้วนได้รับความสะดวกเป็นกันเอง และเห็นว่าได้ผล ถึงแม้ว่าบางคนกระดูกจะต่อกันไม่สนิท ทำให้แขนโก่งขาโก่งไปบ้าง ก็ยังรู้สึกว่าไม่เป็นไรความจริงหลักการรักษาโรคกระดูกนั้น อยู่ที่การดึงกระดูก ให้เข้าที่และใส่เฝือกตรึงให้กระดูกอย่าเคลื่อนที่ แล้วปล่อยให้กระดูกสมานกันเองอย่างธรรมชาติ ซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 เดือน

คนไข้กระดูกหักส่วนมากจะเป็นแบบไม่ยุ่งยากซับซ้อน ผู้ที่มีความชำนาญไม่ว่าจะเป็นหมอไทย หรือแพทย์แผนปัจจุบัน ก็สามารถรักษาให้กระดูกติดกันและใช้งานได้ ถ้ากระดูกเข้าที่ได้ดีก็ไม่มีร่องรอยความพิการ แต่ถ้าเข้าที่ไม่ดีก็เกิดแขนโก่ง หรืออาจใช้งานได้แต่ไม่ถนัด เช่นอาจเดินได้ แต่กระเผลก
แต่คนไข้กระดูกหักจำนวนหนึ่งที่อาจเป็นแบบมีอันตราย เช่น มีบาดแผลเหวอะวะ กระดูกโผล่ออกนอกเนื้อ ซึ่งอาจทำให้ติดเชื้ออักเสบ เน่าเปื่อย เป็นอันตรายถึงชีวิตได้ แพทย์มักจะรีบทำการตัดแขนขาส่วนนั้นทิ้ง ยอมให้พิการเพื่อรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ และอาจใส่แขนขาเทียมให้ในภายหลัง


การรักษาของแพทย์ในลักษณะเช่นนี้แหละ ที่ทั้งคนไข้และญาติพี่น้องกลัวและยอมรับไม่ได้ ยอมหนีออกมาจากโรงพยาบาลไปรักษากันเองตามบ้านตามวัด ถ้าโชคดีก็รอดชีวิตมาได้แต่แขนขาก็มักจะใช้การไม่ได้เสียส่วนมากถ้าโชคร้ายก็อาจติดเชื้อกลายเป็นโลหิตเป็นพิษ และตายไปอย่างน่าเสียดาย
ข้อที่แพทย์ของเรารู้สึกเป็นห่วงใยก็คือ ทำอย่างไรชีวิตของคนไข้จึงจะปลอดภัย ถ้าปลอดภัยแล้ว ทำอย่างไรจึงจะช่วยให้แขนขากลับเป็นปกติ โดนเกิดความพิการน้อยที่สุด

เมื่อปีที่แล้ว นายแพทย์ยงยุทธ์ วัชรดุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกแห่งภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์และกายภาพบำบัด คณะแพทย์ศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ได้ทำวิจัยเรื่อง “สถานภาพหมอแผนโบราณที่ทำการรักษาโรคกระดูกและข้อในประเทศไทย”
โดยทำการสำรวจหมอแผนโบราณทั่วประเทศ ( 66 จังหวัด ) พบว่ามีหมอแผนโบราณที่ให้รักษาโรคกระดูกและข้อรวมทั้งสิ้น 5,926 คน ( เป็นหมอพระ 222 รูป ) ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในชนบทอย่างทั่วถึงเขาเหล่านี้แหละที่เป็นที่พึ่งอันใกล้ชิดของคนไข้ทางโรคกระดูก

คุณหมอมีความเห็นว่า การจะห้ามปรามมิให้หมอโบราณเหล่านั้นรักษาคนไข้นั้นเป็นเรื่องยาก ทางที่ดีควรจะเรียกพวกเขามาอบรมให้ความรู้ ให้ทราบถึงข้อดีและข้อจำกัดของการรักษาที่กระทำกันอยู่และทราบถึงวิทยาการใหม่ๆ ในการรักษานี้ ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น

ผู้เขียนรู้สึกเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้เป็นอย่างยิ่ง
ถ้าแพทย์เรายอมรับบทบาทของหมอเหล่านี้ ผมเชื่อว่าพวกเขาก็ยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อให้คนไข้ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมที่สุดอย่างแน่นอน
ในการแวะเยี่ยมหลวงพ่อรักษากระดูกที่วัดดังกล่าวข้างต้น มีแพทย์รุ่นน้องที่ทำงานอยู่อยู่ที่โรงพยาบาลอำเภอซึ่งตั้งอยู่ติดกับวัดนี้ได้ไปเป็นเพื่อนด้วย แพทย์ผู้นี้เพิ่งจบออกมาทำงานที่นี่ได้ไม่ถึงปี เล่าว่าทุกๆ วัน จะมีคนไข้นั่งรถวิ่งผ่านโรงพยาบาลไปรักษาโรคกระดูกที่วัด ตอนแรกเขาก็รู้สึกแปลกใจแต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร ต่อมาหลวงพ่อเคยให้คนตามไปช่วยดูแลคนไข้ที่พักอยู่ในวัด เขาก็ยินดีไปดูให้ทุกครั้ง
ในที่สุดทั้งหลวงพ่อและนายแพทย์ผู้นี้ ก็เกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน สามารถแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการดูแลคนไข้อย่างตรงไปตรงมา

เมื่อเห็นว่าคนไข้รายใดควรจะไปรักษาที่โรงพยาบาล เขาก็จะช่วยแนะนำผ่านทางหลวงพ่อ เมื่อหลวงพ่อเอ่ยปากกับคนไข้เอง คนไข้ก็ยินดีไปรักษาที่โรงพยาบาล มีแต่การยอมรับซึ่งกันและกันเช่นนี้เท่านั้น การร่วมมือประสานงานเพื่อประโยชน์สูงสุดของคนไข้ย่อมเกิดขึ้นในที่สุด

 

 


ข้อมูลสื่อ

71-013
นิตยสารหมอชาวบ้าน 71
มีนาคม 2528
รศ.นพ.สุรเกียรติ อาชานานุภาพ