• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ต้อกระจก

                                       
ก่อนอื่นต้องขอให้คำจำกัดความ หรือความหมายของคำว่า “ต้อกระจก” เสียก่อน ต้อกระจกหมายถึงภาวะที่เลนส์ภายในลูกตาเกิดภาวะขาวขุ่นขึ้นเนื่องจากสาเหตุอะไรก็ได้ ตามปกติแล้วเลนส์ภายในลูกตามีภาวะใสโปร่งแสง มีหน้าที่ปรับแสงที่ผ่านเข้าตา ทำให้เราสามารถเห็นภาพวัตถุต่าง ๆ ได้ชัดเจน
การเกิด “ต้อกระจก” นั้น หมายถึงตัวเลนส์ขาวขุ่นขึ้น ทึบแสง ไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอประสาทรับภาพได้ชัดเจน ผู้นั้นจึงมองอะไรไม่ชัด ตาฝ้า มัว แล้วในที่สุดถ้าขาวขุ่นมากขึ้น จะมืด มองอะไรแทบไม่เห็นจากตาข้างนั้น

 

สาเหตุของการเกิดต้อกระจกคือ

1. เป็นมาแต่กำเนิด พบได้เมื่อเด็กแรกเกิดเลย พอทารกลืมตาขึ้นบิดามารดาหรือแพทย์ จะสังเกตว่าตรงกลางตาดำของลูกตัวเองหรือเด็กที่มาตรวจ มีจุดขาวด้านในลึกลงไป
เด็กพวกนี้มักมีความเกี่ยวพันธ์กับการที่มารดาตั้งครรภ์ใน 3 เดือนแรก เกิดอาการออกผื่นหรือออกหัดที่เรียกว่า หัดเยอรมัน เชื้อไวรัสตัวนี้มีส่วนในการเกิดต้อกระจกในทารกได้มาก เรียกว่า ต้อกระจกชนิดเป็นมาแต่กำเนิด พบได้บ่อยพอสมควร

2. เกิดจากภาวะแรงกระแทกที่ลูกตา ก็ทำให้เลนส์ตาขวาขุ่นได้ โดยเฉพาเมื่อโดนสิ่งมีคมทิ่มทะลุเข้าตา เข้าไปโดนเลนส์ตา เกิดภาวะต้อกระจกได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง หรือถ้าโดนวัตถุไม่มีคมกระแทก ก็อาจจะเกิดต้อกระจกตามมาทีหลังได้ ถ้าความแรงนั้นมากพอให้เยื่อเลนส์ตาแตกแยก

3.จากภาวะการอักเสบภายในลูกตาอยู่นาน หรือเป็น ๆ หาย ๆ มานานเลนส์ตาเกิดภาวะขาวขุ่น ก่อตัวให้เป็นต้อกระจกได้

4. เกิดจากโดนรังสีเอกซเรย์ บริเวณลูกตาอยู่เสมอ ๆ ได้แก่ พวกที่มีมะเร็งบริเวณเบ้าตา และรักษาด้วยรังสี ซึ่งรังสีนี้อาจลึกลงไปโดนเลนส์ตาทำให้ขุ่นได้ และเกิดต้อกระจกตามมา

5. เกิดจากภาวะเป็นพิษของยาหรือสารบางอย่าง เป็นต้นว่า การใช้ยาที่เข้าสเตียรอยด์นาน ๆ ทำให้เกิดต้อกระจกได้

6. เกิดจากภาวะเสื่อมถอยตามวัย คือเป็นไปตามวัยที่มากขึ้น ต้อชนิดนี้พบได้มากกว่าเพื่อน เพราะจะมีจำนวนเกือบเท่า ๆ จำนวนคนที่เข้าสู่วัยชรานั่นทีเดียว หมายถึง คนที่เกษียณอายุแล้วนับวันต้องเตรียมตัวได้เลยว่า จะต้องมีต้อกระจกมาเยี่ยมกรายเข้าสู่ลูกตาได้ ถ้าไม่วายชีวาเสียก่อนจะถึงภาวะต้อสุกงอม ทุกคนต้องเป็นต้อกระจกแน่นอน

7. นอกจากสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว อาจจะมีอิทธิพลมาจากอย่างอื่นได้ เป็นต้นว่า อาหารพวกที่มีสภาพทุโภชนา หรือพวกอาหารการกินไม่ถูกสุขอนามัย ขาดโปรตีน และวิตามินทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าธรรมดา
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นที่มาหรือต้นกำเนิดของการเกิดต้อกระจก ที่พบเป็นประจำทุกวันของจักษุแพทย์

 

⇒ อาการ
อาการของต้อกระจก และมีอยู่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นคือ ตาจะค่อย ๆ มัวลงเรื่อย ๆทีละน้อย ๆ
อาการอันแรก บางคนอาจจะสังเกตว่า มีจุดดำ ๆ ลอยขวางอยู่ข้างหน้า ลอยไปมา บางคนจะบอกว่าตาข้างที่มีต้อกระจก มองภาพเป็นภาพซ้อน หรือภาพผิดปกติไป

  

 

ถ้าในเด็ก ๆ อาจจะบอกไม่ได้เพียงแต่เด็กจะมอง จับหรือเล่นของเล่นไม่ถนัด ตาอาจส่ายไปมา หรือเขไปทางไปทางใดทางหนึ่งได้
ในผู้ใหญ่ก็มัวลง ๆ จนในที่สุดตาข้างนั้นมองแทบไม่เห็นอะไร จนรู้สึกรำคาญ แรก ๆ อาจจะช่วยด้วยการใช้แว่นตา พอประทังไปได้บ้าง ครั้งเลนส์ตาขาวขุ่นมากขึ้น แว่นตาช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะทึบแสงไม่ยอมให้แสงผ่านเข้าไปได้ แสดงว่าเข้าระยะต้อใกล้จะสุกแล้ว ข้อสังเกตอีกประการคือ ต้อกระจกจะสุกไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ถ้าเป็นแบบวัยชรา

 

⇒ การป้องกัน
การป้องกันมิให้เกิดต้อ ต้องดูก่อนว่าจะป้องกันต้อกระจกแบบไหน ? บางครั้งเป็นเรื่องค่อนข้างยาก และสุดวิสัยมาก เป็นต้นว่า ต้อกระจกชนิดที่เป็นมาแต่กำเนิด ชนิดนี้อาจจะพอป้องกันไว้ก่อนได้ คือมารดาที่ตั้งครรภ์ 3 เดือนแรก ถ้ามีผื่น หัดเยอรมัน ต้องรีบปรึกษากุมารแพทย์ หรือสูติแพทย์เพื่อหาทางป้องกันอย่างใดอย่างหนึ่ง จนบางครั้งต้องตัดไฟแต่ต้นลมเลย คือทำแท้งเสียก็มี หรือถ้าเป็นไม่มากหรือไม่แน่ใจ ต้องให้ยารักษามารดาให้เต็มที่

ส่วนต้อชนิดอื่นที่เกิดตามสาเหตุเช่น จากแรงกระแทก จากรังสี จากยาและจากการอักเสบ เป็นต้น ก็พยายามเลี่ยงมิให้กระทบสิ่งที่จะเป็นสาเหตุเสียก็พอจะได้ แต่ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ต้อจะดำเนินต่อไปจนกระทั่งต้อสุก คือขาวขุ่นทั้งเลนส์เท่านั้นเอง ยับยั้งไม่ได้ ยิ่งต้อแบบวัยชรา ยิ่งยากที่จะป้องกัน ถ้าท่านป้องกันหรือหยุดความแก่ท่านได้ ท่านก็อาจจะหยุดการเกิดต้อกระจกได้กระมัง ยังไม่มีใครป้องกันมิให้เกิดต้อชนิดนี้ได้เลย แม้แต่ตัวหมอเองก็ยังเป็นต้อกระจก

 

⇒ การรักษา
การรักษาต้อกระจก มีวิธีเดียวตามแพทย์แผนปัจจุบันสมัยใหม่คือ “การผ่าตัดเอาต้อกระจกออก” เท่านั้น ส่วนกำหนดเวลาจะรักษาโดยวิธีผ่าตัดที่ว่านี้ เมื่อไรนั้น ก็ขึ้นอยู่กับว่าต้อขาวขุ่นทั่วกันหมดทั้งเลนส์ หรือที่เรียกว่า “ต้อสุกงอม” หรือยังเท่านั้น เพราะการผ่าตัดเอาเลนส์ที่เป็นต้อ ไม่ว่าชนิดไหน แพทย์จะรอให้เลนส์ขาวขุ่นหมดเสียก่อน

ยกเว้นในพวกต้อกระจกชนิดเป็นมาแต่กำเนิด พวกนี้เลนส์ตาจะมีภาวะขาวขุ่นมาตั้งแต่ทารกลืมตาให้เห็นเลย การผ่าตัดควรทำได้เลยเมื่อทารกมีอายุถึง 6 เดือน เพื่อกันภาวะประสาทตาเสื่อม แล้วตาบอดในที่สุด ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ส่วนพวกต้ออย่างอื่น การขาวขุ่นของเลนส์จะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นทีละน้อย ๆ จนขาวขุ่นหมดตลอดทั้งเลนส์ จึงค่อยผ่าตัดเอาออก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

การผ่าตัดก็ต้องนอนโรงพยาบาลให้ยาชาเฉพาะที่ฉีดเข้าไปหลังลูกตาและบริเวณใกล้เคียงไม่มากนัก แล้วผ่าตัดใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงก็เสร็จ จากนั้นนอนนิ่ง ๆ ประมาณ 12-24 ชั่วโมงก็ให้ลุกนั่งได้ เข้าห้องน้ำเองได้แล้ว สะดวกมาก ผิดกับสมัยก่อนต้องนอนนิ่งๆ บนเตียงเกือบอาทิตย์
สมัยใหม่นอนอยู่โรงพยาบาลประมาณ 5-7 วัน ก็กลับบ้านได้แล้ว ถ้าไม่มีโรคแทรกอะไร จากนั้นก็นัดไปให้แพทย์ตรวจ 2 อาทิตย์ ต่อครั้งประมาณ 3 เดือนแผลผ่าตัดหายเป็นปกติ ก็มาวัดแว่น เพื่อใส่แว่นตาคือ แว่นเฉพาะ หลังผ่าตัดต้อจะเห็นดีเกือบเป็นปกติ บางคนอาจใช้เลนส์สัมผัสใส่ก็ได้

แพทย์สมัยใหม่อาจผ่าตัดใส่เลนส์เทียมเข้าไปในตาได้เลย แบบนี้ยังทำกันไม่มากนัก ทำแล้วก็ได้ผลดีเลวประการใด ขึ้นอยู่กับความชำนาญและฝีมือของแพทย์เป็นหลัก

 

⇒ ผลจากการรักษา
ต้อกระจก ถ้ารักษาด้วยการผ่าตัดแบบสมัยใหม่ตามที่กล่าวแล้ว แทบจะไม่มีอะไรน่าวิตก คือสามารถจะใช้ตาข้างนั้นได้ เกือบเหมือนตาปกติ โดยเฉพาะต้อกระจกชนิดแต่กำเนิดและชนิดวัยชรา
ส่วนต้อชนิดอื่นแล้วแต่ภาวะสาเหตุการเกิดเป็นหลัก อาจได้ผลไม่ดี 100% เช่น 2 ชนิดดังกล่าว

ยกเว้น ในต้อกระจกชนิดแบบวัยชราเท่านั้น ที่ตัวเองหลงผิดหรือญาติรู้เท่าไม่ถึงการณ์ พาไปหาหมอพื้นเมืองผ่าตัด ซึ่งพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ใช้คำว่า “ผ่าตัด” แต่จะใช้คำว่ารักษาให้เห็น หรือย้ายต้อ ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล โดยที่เขาจะเขี่ยเลนส์ต้อกระจกนั้นให้ตกลงไปด้านหลังลูกตา ทำให้แสงผ่านเข้ารูม่านจนคนไข้มองเห็นได้ทันที แต่จะมีโรคแทรกซ้อนภายหลัง เพราะเลนส์ตาที่ตกไปด้านหลัง จะก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้หลายอย่าง ที่พบบ่อย ๆ และมาให้จักษุแพทย์รักษาคือต้อหิน และเลือดภายในวุ้นลูกตาหรือประสาทตาเสื่อมบอดไปหลายราย จึงควรระวังให้มาก ก่อนจะรักษาต้อกระจกชนิดวัยชราควรศึกษาดูให้ดีก่อน ก่อนจะเสียตาไป แล้วค่อยมารำพึงรำพันทีหลังว่า ...ไม่น่าเลย เข็ดแล้วต่อไปนี้ ไม่ไปทำอีกแล้ว เป็นต้น

 

⇒ อันตรายที่เกิดขึ้นหากไม่รักษาหรือรักษาผิด
ถ้าไม่รักษา ตาข้างนั้นก็จะบอดมองไม่เห็น และอาจมีโรคแทรกซ้อนตามมา เป็นต้นว่า เกิดการอักเสบหรือมีต้อหินตามมาได้ อันตรายถึงตาบอด

หรือถ้ารักษาผิด เป็นต้นว่าไปรักษากับหมอพื้นเมือง หรือหมอหม่องทั้งหลาย อาจเกิดภาวะได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น จึงควรคิดและชั่งใจให้ดี ก่อนตัดสินใจพาตัวเอง หรือญาติปู่ย่าตายาย ไปรักษาแบบพื้นเมือง จะตื่นเต้นกับผลการรักษาช่วงระยะ 2-3 เดือนแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีแต่อาการแทรกซ้อนตามมาแทบทุกรายแล้วบอดในที่สุด
 

ข้อมูลสื่อ

70-004
นิตยสารหมอชาวบ้าน 70
กุมภาพันธ์ 2528
โรคตา
นพ.สุรพงษ์ ดวงรัตน์