• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

เกลื้อน

               

เกลื้อน เป็นโรคผิวหนังซึ่งเกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ชื่อว่า มาแลสซิเซีย เฟอร์เฟอร์ (Malassezia furfur) เป็นเชื้อราที่ชอบไขมันบนผิวหนังคน ไม่พบในสัตว์ คนที่เป็นมักไม่ค่อยมีอาการอะไร บางคนมีอาการคันยุบยิบบ้างเวลาเหงื่อออก แต่ก็พอทนได้ไม่รำคาญนัก เจ้าตัวเลยมักทิ้งไว้จนลุกลามเป็นดวงด่างๆ ขาวๆ ทั่วไป เกลื้อนมักเป็นในผู้ที่เหงื่อออกมาก พวกที่ทำงานหนักใส่เสื้ออบเช่น ทำงานแบกหาม ทำงานกลางแดด หรือขับรถยนต์ เหงื่อออกมากหมักหมมทั้งวัน การทายารักษาเกลื้อนต้องอดทนทาติดต่อกัน 3-6 สัปดาห์ และเมื่อหายแล้วก็มักจะกลับเป็นอีกได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าคนนั้นมีสุขภาพผิวหนังไม่ดีหรือมีเหตุสนับสนุนอื่นๆ ให้เป็นซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น การมีเหงื่อออกมากผิดปกติ ระยะตั้งท้อง เป็นโลหิตจาง ขาดอาหารเป็นโรคเรื้อรัง เช่น วัณโรคปอด หรือคนที่ได้รับยาสเตียรอยด์อยู่ จำเป็นที่จะต้องรักษาหรือกำจัดเหตุสนับสนุนเหล่านี้เสียก่อน จึงจะรักษาเกลื้อนได้ผลดี เกลื้อนนี้อาจถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ด้วย แต่การติดต่อโดยการสัมผัสจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งนั้นยาก

เกลื้อนมักเป็นมากตามลำตัว เช่นหน้าอก หลัง ไหล่ คอ แขนขา หรือตามหน้า ลักษณะนั้นดูออกได้ง่าย เป็นจุดหรือดวงกระจายทั่วไป มักมีสีจางหรือขาว อาจมีสีน้ำตาลหรือแดงเรื่อ ๆ ก็ได้ เอาเล็บขูดจะเป็นขุย เมื่อเป็นเกลื้อนไม่ควรซื้อยาทาเองเพราะอาจไปได้ยาสเตียรอยด์มาทา เกลื้อนจะเจริญลุกลามรวดเร็วยิ่งขึ้น หรืออย่ามัวหลงซื้อยาขี้ผึ้งเบอร์ต่าง ๆ ตามที่โฆษณาในวิทยุมาทาเลย เพราะนอกจากยาเหล่านี้จะรักษาเกลื้อนไม่ได้ผลแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดการแพ้ ผิวหนังอักเสบได้อีกด้วย

การรักษาเกลื้อนทุกชนิดเป็นยาทาภายนอก ยังไม่มียากินชนิดใดใช้รักษาเกลื้อนได้เลย มีบางคนแนะนำให้ใช้หมากสดรักษาเกลื้อนก่อน โดยให้ขูดบริเวณที่เป็นเกลื้อนก่อน แล้วจึงนำหมากสดทาบริเวณที่เป็น เช้าหนเย็นหน ว่ากันว่าจะทำให้เร็วยิ่งขึ้น

 

ยาทาภายนอกที่นิยมใช้รักษาเกลื้อน

1.สารละลายโซเดียมไธโอซัลเฟต 20% ละลายในน้ำสะอาดหรือใช้น้ำเดือดเย็นก็ได้ ทาแล้วไม่แสบ แต่ยานี้เมื่อละลายน้ำแล้วเก็บไว้ไม่ได้นาน เพราะมันจะสลายตัวได้ง่าย ยานี้เมื่อเตรียมขึ้นใหม่ ๆจะมีประสิทธิภาพดี แต่จะเสื่อมคุณภาพเร็วภายในประมาณ 2-3 สัปดาห์ หลังจากเตรียมขึ้น จึงต้องเก็บยานี้ในที่พ้นแสง และใช้ยาทาให้หมดใน 2 สัปดาห์ เมื่อได้สารโซเดียมไธโอซัลเฟตมาแล้วก็ทำเป็นสารละลาย 20% ทาติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ก็หาย

วิธีใช้
1. อาบน้ำถูสบู่ให้สะอาด และเช็ดตัวให้แห้ง รอสักพักแล้วจึงทายานี้ เช้าหนเย็นหน

2. อาจใช้น้ำส้มสายชูในครัวทาทับ น้ำส้มจะเร่งการสายตัวของไธโอซัลเฟตไปเป็นผงกำมะถันที่มีขนาดเล็กมาก ซึ่งเป็นตัวที่ให้ผลในการรักษา

3. ถ้าเป็นที่หลัง การทายาลำบากหรือทาได้ไม่ทั่วถึง ควรให้คนอื่นช่วยทาให้ จะได้หายเร็วขึ้น

4. เมื่อเห็นว่าเกลื้อนหายแล้ว ควรทายาต่อไปอีกอาทิตย์ละครั้ง ติดต่อกันไป 3-4 สัปดาห์ เพื่อให้แน่ใจว่าเชื้อราหมดไปจริง ๆ

2.แชมพูสระผมซึ่งมีตัวยา ซิลิเนียมซัลไฟด์ 2.5% เป็นน้ำสีเหลืองเข้มขุ่น และระคายผิวได้ ใช้ทาหลังจากอาบน้ำเสร็จและเช็ดตัวแห้งแล้ว เขย่าขวดให้ยาเข้ากัน แล้วจึงทาบริเวณที่เป็นเกลื้อนทิ้งไว้ 15-30 นาที แล้วจึงล้างออก ทำวันละครั้งติดต่อกัน 3-4 สัปดาห์ ในขณะที่ใช้น้ำยาทาเกลื้อนนี้ ถ้าทีอาการแพ้เกิดขึ้น เช่น ปวดแสบปวดร้อนบริเวณที่ทา คันและบวมแดง ต้องหยุดใช้ และใช้ตัวยาอื่นแทน เวลาทาต้องระวังไม่ให้เข้าตา ปาก หรือถูกผิวอ่อน เพราะจะเกิดบวมแดงขึ้นได้

3. ขี้ผึ้งวิทฟีล หรือยารักษากลากเกลื้อน ขององค์การเภสัชกรรม ที่กล่าวในเรื่อง “กลาก” ใช้ทาหลังจากอาบน้ำ เสร็จ แต่คนใช้อาจไม่ค่อยชอบใจนักเพราะเหนียวเหนอะหนะ โดยเฉพาะถ้าต้องทาเป็นบริเวณกว้าง ใช้ทาบาง ๆ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น และควรระวังบริเวณผิวอ่อน เพราะยานี้จะระคายทำให้คันเป็นผื่นแดงได้

4.ครีมโคลทรัยมาโซล (clotrimazole) ยาเหล่านี้บรรจุหลอด ราคาแพงกว่า 3 ชนิดดังกล่าวข้างตนจึงไม่เหมาะสำหรับการเป็นเกลื้อนมาก ๆ ในบริเวณกว้างเพราะจะใช้เปลือกมากเหมาะสำหรับเวลาเป็นไม่มากนัก หรือเก็บไว้ใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่หาย หรือไม่สะดวกที่จะใช้ยา 3 ชนิดดังกล่าวแล้ว


สิ่งสำคัญที่สุดในการรักษาเกลื้อนคือต้องอดทนทายาติดต่อกันจนกว่าจะหาย ซึ่งอาจกินเวลานาน 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป และเมื่อหายแล้ว อาจป้องกันการกลับเป็นใหม่อยู่เรื่อย ๆ ได้โดยการทายาตัวใดตัวหนึ่งดังกล่าวข้างต้น วันละ 2 ครั้ง เช้า –เย็น ติดต่อกัน 2 วัน เดือนละครั้ง และควรรักษาความสะอาดเนื้อตัวและเสื้อผ้า อย่าปล่อยให้หมักหมมอับชื้น

 

ข้อมูลสื่อ

69-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 69
มกราคม 2528
ภกญ.ธิดา นิงสานนท์