• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ไข้เลือดออก


ที่แผนกผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ หญิงสาวผู้หนึ่งเดินเข้ามาพบแพทย์เพื่อถามปัญหาที่น่าสนใจดังนี้

สมศรี (มารดาผู้ป่วย) : หมอคะ ลูกดิฉันเป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 7 และค่ะ ดิฉันจึงต้องพามารักษาที่กรุงเทพฯ สักทีเผื่อว่า จะหายขาดบ้าง

หมอ : คุณว่าอะไรนะ เป็นไข้เลือดออกครั้งที่ 7 หรือ ?


สมศรี : คืออย่างนี้ค่ะ ดิฉันอยู่ต่างจังหวัด มีลูกชายอายุ 8 ขวบ ในช่วง 3 ปีมานี้เวลามีไข้ไปตรวจกับหมอ หมอบอกว่าเป็น ไข้เลือดออก ต้องฉีดยาและให้ยามากินทุกที ดิฉันเสียค่ายาครั้งละร้อยกว่าบาท บางครั้งถ้าให้น้ำเกลือด้วยก็สองร้อยกว่า นี่ก็เพิ่งไปให้น้ำเกลือมา หมดไป 219.50 บาท คุณหมอคนนี้เป็นคนดีมากค่ะ ท่านเป็นคนตรงไปตรงมา ไม่เคยคิดค่าตรวจเลย ท่านคิดแต่ค่ายาเท่านั้น ฉะนั้นบางครั้งดิฉันจึงได้เสียค่ายาเป็นเศษสตางค์บ่อย เช่นสองร้อยสิบเก้าบาทห้าสิบสตางค์เป็นต้น แทนที่คุณหมอจะคิดเป็น 220 บาทถ้วน ท่านก็ไม่คิดพวกคนไข้ติดใจกันมากในนิสัยใจซื่อของท่านนี้ละค่ะ

แต่ครั้งนี้ดิฉันต้องมากรุงเทพฯ เพื่อมาถามให้แน่ใจสักครั้งว่า ไข้เลือดออกนี้เป็นได้คนละกี่ครั้ง คือเป็นแล้วเป็นอีกปีละ 1-2 ครั้งแบบลูกชายนี่ได้หรือเปล่าคะ และอีกอย่างหนึ่ง เพื่อนดิฉันฝากถามคือลูกเขาอายุขวบเดียว หมอก็บอกว่าเป็นโรคไข้เลือดออก เป็นได้เหมือนกันหรือคะ



หมอ : ผมว่าที่คุณเล่ามาทั้งหมดนี่ก็แปลกดี ผมจะอธิบายและให้ความเห็นเป็นข้อๆ ดังนี้
เรื่องยาฆ่าเชื้อไวรัส ไข้เลือดออกเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ซึ่งขึ้นชื่อว่าเชื้อไวรัสแล้ว ส่วนใหญ่ไม่่มียาฆ่าเชื้อนี้ หมอให้ยาสำหรับลดอาการเท่านั้น บางคนมีคลื่นไส้อาเจียนก็ให้ยาแก้อาเจียนเป็นต้น
เรื่องอายุกี่ขวบจึงเริ่มเป็นไข้เลือดออก และเป็นแล้วเป็นอีกได้หรือไม่นั้น ผมจะเล่าให้ฟังว่าไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัส 2 ชนิด คือ

1.ชิกุนคุนย่า (Chigunkunya) ชนิดนี้อาการไม่รุนแรง ในวันท้ายๆ ของไข้มักมีผื่นแดงตามแขนขา และมักจะมีจุดเลือดแดงๆเล็กๆ บนผื่นสีชมพูนั้นด้วย พวกนี้มักจะไม่ทำให้อาการรุนแรงถึงช็อกเหมือนชนิด เด็งกี่ (Dengue)

2.เด็งกี่ (Dengue) ชนิดนี้เกิดจากเชื้อไวรัส 4 อย่าง โดยเรียกเป็นหมายเลขว่า เด็งกี่ ชนิด 1, 2, 3, และ 4 ชนิดที่ 2 ทำให้เกิดโรคได้บ่อย

โดยทั่วไปเมื่อคนเป็นโรคไวรัสแล้วก็มักจะมีความต้านทานของไวรัสชนิดนั้นในร่างกาย ถ้าเป็นในผู้หญิง ความต้านทานนั้นจะถ่ายทอดไปยังลูกที่เกิดใหม่ในช่วงอายุ 6 เดือนแรกหลังคลอดด้วย ยกตัวอย่างเช่นเชื้อโรคหัด โรคอีสุกอีใส เรามักไม่พบกับเด็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน ทั้งนี้เนื่องจากความต้านทานเชื้อไวรัสเหล่านั้นผ่านรกมายังตัวลูกขณะอยู่ในท้องแม่ แม้กระทั่งคลอดมาแล้ว ความต้านทานนั้นก็ยังสูงอยู่ และค่อยๆ จางหายไปเมื่อลูกโตขึ้น เมื่อแรงต้านไวรัสชนิดนั้นๆ ลดลงก็เริ่มติดเชื้อนั้นง่ายขึ้น


ไข้เลือดออกก็เหมือนกัน เมื่อยุงนำเชื้อโรคชนิดหนึ่งมากัดเด็กอายุปลายขวบแรก บังเอิญขณะนั้นความต้านทานจากแม่ต่ำลง และเด็กเริ่มสร้างความต้านทานได้เองบ้าง โดยยุงมีเชื้อกัดเข้าครั้งแรก เด็กก็เริ่มมีปฏิกิริยาโต้ตอบและมีอาการของไข้เลือดออกได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนไปแล้ว แต่พวกนี้อาการไม่รุนแรงเท่ากับการถูกกัดครั้งต่อๆ มาในเด็กที่โตขึ้นซึ่งเราพบได้บ่อยในเด็กอายุ 4, 5 ปี ถึง 10 ปี

 

การเป็นไข้เลือดออกหนึ่งครั้ง จะมีความต้านทานสูง ซึ่งสามารถต้านเชื้อ เด็งกี่ ชนิดที่มิได้เป็นตอนนั้นด้วย เช่นครั้งแรกเป็นไข้เลือดออกอาการรุนแรงถึงช็อกโดยเกิดจากเด็งกี่ ชนิด 3 ได้บ้าง ครั้งต่อไปถ้าเป็นจากชนิด 3 ก็มักไม่รุนแรง เป็นต้น ดังนั้น การบอกว่าเป็นโรคไข้เลือดออก 7 ครั้ง จึงเป็นไปไม่ได้ ในเมื่อเชื้อของไข้เลือดออกมีไม่ถึง 7 ชนิด


เรื่องยาฉีด จำเป็นหรือไม่สำหรับไข้เลือดออก ถ้าลูกคุณอาเจียนมากและบังเอิญท้องเดิน (จากสาเหตุอื่น) หมอเขาออาจจำเป็นต้องฉีดยาแก้อาเจียนให้ โดยทั่วไปในเด็กๆ ถ้าอาเจียนเรามักจะใช้ยาเหน็บกันแทนการฉีดแต่ถ้าบังเอิญท้องเดินด้วยก็ใช้ยาเหน็บก้นไม่ได้

เรื่องการให้น้ำเกลือในโรคนี้ ใครก็ตามที่ตัวร้อนเป็นไข้ น้ำก็จะระเหยออกจากตัวได้ง่าย บุคคลนั้นก็จะขาดน้ำ ปากแห้ง ตาโรย ตาโบ๋ เป็นต้น จึงมีเป็นกฎไว้ว่าตัวร้อนจากโรคอะไรก็ตามให้กินน้ำมาก ปัสสาวะจะได้มาก เป็นการช่วยระบายความร้อนด้วย คนไข้นอกจากขาดน้ำแล้วยังขาดเกลือด้วย ดังนั้นถ้าใส่เกลือบ้างจะช่วยให้ไม่เพลียนัก กะไดัคราวๆ คือ น้ำขนาดขวดน้ำปลานำไปต้ม เติมน้ำตาลทราย 2 ช้อนโต๊ะ เติมเกลือครึ่งหรือเกือบครึ่งช้อนชา ก็จะพอเหมาะสำหรับให้คนมีไข้กิน

 

ในเด็กที่เป็นโรคไข้เลือดออกบางรายจะมีไข้สูง เด็กไม่ยอมกินน้ำหรืออาเจียนมาก จะทำให้ร่างกายขาดน้ำหรือแห้งมากประกอบกับโรคนี้เส้นเลือดไม่ปกติอยู่แล้ว น้ำเหลืองในเส้นเลือดมักจะซึมออกนอกเส้นไปอยู่ตามท้อง ตามปอด ยิ่งทำให้ช็อกได้ง่ายขึ้น คนไขที่มีอาการอาเจียนจึงได้ประโยชน์จากการให้น้ำเกลือใขระยะวันท้าย ๆ ของไข้แต่ถ้าให้มากและนานเกิน 1-2 วันก็เป็นผลเสีย อาจทำให้คนไข้ตายได้เหมือนกัน 

 

สมศรี : มักจะมีคนพูดกันว่า ถ้าสงสัยไข้เลือดออก ห้ามกินยาลดไข้นั้นหมายความว่าอย่างไรค่ะ

หมอ :  ความจริงคำกล่าวนั้นพูดกว้างเกินไป ความจริงมีอยู่ว่า ถ้ามีไข้เลือดออกแถว ๆ หมู่บ้านแล้วคุณมีเด็กอายุตั้งแต่ขวบขึ้นไปมีไข้ก็ให้นึกบ้างว่าอาจจะเป็นไข้เลือดออกได้ด้วย โดยทั่วไปเด็กอายุ 6 เดือนถึง 6 ปีเวลาตัวร้อนจัดต้องให้ยาลดไข้ก่อนพาไปหาหมอด้วยซ้ำ ยาลดไข้ต้องมีติดบ้าน เพราะเด็กเล็กในอายุดังกล่าวนี้จะชักง่ายเวลาไข้สูง จะชักก่อนไปถึงหมออีกด้วย ให้ยาลดไข้ยังไม่พอครับ ต้องเช็ดตัวด้วยน้ำธรรมดา หรือน้ำอุ่นผสมเหล้าสักช้อนเล็กๆยิ่งช่วยให้ความร้อนระเหยจากตัวเด็กได้ดี ยาลดไข้ที่ราคาถูกคือ แอสไพริน แต่เราไม่แนะนำให้ใช้ แอสไพรินในไข้เลือดออก เนื่องจาก

1.ถ้ากินขณะท้องว่าง อาจกัดผิวบุกระเพาะช่วยให้เลือดออกง่ายขึ้น

2.แอสไพรินอาจทำให้เกร็ดเลือด (Platelet) ซึ่งเป็นตัวห้ามเลือดนั้น ทำหน้าที่ห้ามเลือดไม่ได้ดี เลือดจะออกง่าย ดังนั้นในไข้เลือดออก หมอจึงมักให้ยาลดไข้ชนิดที่ไม่ใช่แอสไพริน คือพาราเซตาม่อลแทน และที่ว่าไข้เลือดออกไม่ควรกินยาลดไข้ คงเป็นเพราะถ้าบังเอิญไปกินยาขณะที่คนไข้กำลังช็อก (ซึ่งจะมีอาการตัวเย็น) ก็อาจคิดว่าตัวเย็นเพราะยาลดไข้ได้ ที่แท้แล้วคนไข้ตัวเย็นจากอาการช็อกต่างหากถ้าไม่รู้หรือไม่เฉลียวใจปล่อยให้มีอาการช็อกโดยไม่ทันได้แก้ไข เด็กอาจจะตายได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง

แต่อาการตัวเย็นจากยาลดไข้กับการช็อกก็พอจะแยกกันได้ คือ เด็กที่มีไข้ เมื่อกินยาลดไข้ ไข้ลงและตัวเย็นจากยานั้นละก็เด็กจะสบายขึ้นเป็นปกติชั่วคราว แต่ถ้าตัวเย็นจากช็อกละก็ เด็กจะกระสับกระส่าย แม้แต่เวลาหลับก็กระสับกระส่าย ซึ่งถ้าสงสัยก็ควรจะไปหาหมอทันที ไม่ว่าจะดึกดื่นปานใดก็ตาม


สมศรี : เมื่อกี้คุณหมอพูดว่าไข้เลือดออกระบาด หมายความว่าติดต่อกันได้เหมือนอหิวาต์หรือคะ
หมอ : ไม่ใช่ครับ ที่ว่าระบาดนั้นก็คือ โรคไวรัสบางชนิดมีคนเป็นกันมากในบางปี เช่น พวกหัดเยอรมันเคยระบาดที่บางแห่งทุก 4 ปี คือระบาดปีเว้นไป 3 ปี ซึ่งไข้เลือดออกก็ทำนองเดียวกัน แต่ในระยะท้ายนี้เราก็พบคนเป็นโรคนี้ทุกปี เราพบมากในฤดูฝน ในปีท้ายๆ นี้พบประปรายตลอดปีอีกเหมือนกัน และเวลาไปหาหมอด้วยเรื่องไข้ หมอเขาอาจจะถามว่า แถวบ้านมีคนเป็นไข้เลือดออกไหม อันนี้มิได้หมายความว่าโรคนี้ติดต่อจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งแบบอหิวาต์ แต่กล่าวกันว่ายุงที่นำเชื้อไข้เลือดออกนี้บินได้ไม่ไกล ไม่ค่อยจะเกิน 400 เมตรดังนั้นยุงจะนำเชื้อไข้เลือดออกจากคนหนึ่งไปสู่คนใกล้เคียงที่ยุงตัวนั้นไปกัดได้ แต่การที่เราไปจับเนื้อต้องตัวคนเป็นไข้เลือดออก แล้วเราจะติดโรคนั้นไม่ใช่ 

                            

 


สมศรี : ดิฉันพอใจในคำตอบแล้วค่ะ แล้วลูกดิฉันก็ไม่ควรจะเป็นไข้เลือดออกถึง 7 ครั้ง แต่ดิฉันยังข้องใจอยู่นิดที่ว่า คนเป็นไข้เลือดออก เวลาไปหาหมอได้ยาแก้ไข้และอาจมียาแก้อาเจียนมาด้วยนั้น ทำไมเสียเงินร้อยกว่าบาททุกที และถ้ายาฉีดนั้นไม่ได้แก้อาเจียน จะฉีดแก้อะไรได้อีกคะ

หมอ : หมอบางคนนิยมให้วิตามินซีหรือฉีดด้วย ซึ่งการกินวิตามินซีก็ไม่เสียหายอะไร แต่อาจจะไม่จำเป็นและราคาถูกมาก ด้วย แต่ถ้าจะฉีดวิตามินซีด้วยแล้วยิ่งไม่จำเป็นในไข้เลือดออก
ถ้าจะให้ผมสรุปอย่างกลางๆ ก็คือ ค่ายาที่รักษาเมื่อสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออกนั้น ยังไงๆ ก็ไม่ควรถึงร้อยบาทและถ้าจะให้น้ำเกลือหนึ่งขวดด้วยยิ่งไม่เกินสองร้อยบาท ยกเว้นว่าจะคิดค่าบริการ และการคิดเป็นเศษสตางค์ เช่น 219.50 บาท ก็นับว่าเป็นความพยายามที่จะแสดงความบริสุทธิ์ใจที่แนบเนียนของคุณหมอคนนั่นนั้นเอง


 

ข้อมูลสื่อ

26-005
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
มิถุนายน 2524
โรคน่ารู้
พญ.พงษ์จันทร์ หัตถีรัตน์