• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ยาแก้ปวดภาวะจำยอมของคนจน


ยาแก้ปวด ลดไข้ ยาที่ใช้สำหรับบรรเทาอาการปวดหรือลดไข้ในทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ จนเป็นยาที่มีปริมาณการใช้สูงที่สุดตัวหนึ่ง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้ชนิดที่เป็นผงบรรจุซองได้ถูกใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วทุกมุมเมือง ยิ่งในคนจน คนที่ทำงานหนัก เช่น ชาวนา ชาวไร่ กรรมกร ต่างใช้ยาชนิดนี้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกิดจากการทำงานหนัก แต่ชีวิตคนจนย่อมนี้ไม่พ้นจากการทำงานหนัก ยาแก้ปวดชนิดนี้จึงดูเหมือนเป็นขอองคู่กับชีวิตคนจนต้องมีการใช้เป็นประจำทุกวัน เมื่อมีการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เกิดการสะสมพิษของยามาบ่อนทำลายชีวิต สุขภาพ และเงินทอง ทำให้ชีวิตคนจนต้องย่ำแย่ลงไปอีก การใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้ จึงเป็นภาวะจำยอมที่คนจนต้องเผชิญตราบเท่าที่ยังจน


ยาแก้ปวดชนิดนี้ได้ฝังรากในชนบทเป็นเวลานานนับสิบๆ ปี จากการโฆษณาขายถึงบ้าน ประกอบกับสภาพชาวบ้านทั่วไปนอกจากยากจนแล้ว ยังขาดการศึกษาง่ายต่อการหลงเชื่อคำโฆษณาและการไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ทำให้มีการใช้ยาชนิดนี้อย่างเกินความจำเป็นเวลาไม่ปวดก็ต้องกินยานี้ มีการนำไปใช้ทางที่ผิดๆ เช่น ใช้เป็นยาสารพัดประโยชน์ หรือนำไปใช้กับเด็กทารกเล็กๆ เป็นต้น


ยาแก้ปวดชนิดนี้แม้ว่าจะมีอยู่มากมายหลายชนิดในท้องตลาด แต่เกือบทั้งหมดจะมีลักษณะที่เหมือนกัน คือเป็นยาผงบรรจุซองประกอบด้วยตัวยา 3 ชนิดคือ
1. แอสไพริน (Aspirin) (บางยี่ห้อก็ใช้ ซาลิซัยลาไมด์ (Salicyla-mide) แทน) ในปริมาณ 450 มิลลิกรัม

2. เฟนาซีติน (Phenacetin) 150 มิลลิกรัม

3. คาเฟอีน (Caffeine) 30-50 มิลลิกรัม (บางแห่งใช้เป็นคาเฟอีนซิตเตรด (Caffeine citrate) โดยน้ำหนักของคาเฟอีน ซิตเตรด 100 มิลลิกรัม จะเท่ากับคาเฟอีน 50 มิลลิกรัม


คุณสมบัติของยาทั้ง 3
แอสไพริน เป็นยาแก้ปวดลดไข้ที่ีปลอดภัยและใช้ได้ผลดีที่สุดตัวหนึ่ง อาการข้างเคียงหรือพิษที่เกิดจากยานี้มีน้อย ที่พบมากๆ มักพบในกรณีที่ใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ และกินยาเวลาท้องว่างบ่อยๆ ทำให้เกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร ถ้าเป็นมากๆจะเป็นโรคโลหิตจาง (เลือดน้อย) และกระเพาะอาหารทะลุ อาจทำให้ตายได้ เราจะสังเกตอาการเริ่มต้นของแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยอุจจาระจะมีสีดำ นอกจากนี้ การใช้ยานี้ติดต่อกันนานๆ จะทำให้มีอาการหอบหืดขึ้นมาได้ บางรายอาจรุนแรงถึงขั้นหายใจไม่ออก ตัวเขียว ทำให้ตายได้ถ้าช่วยเหลือไม่ทัน (การช่วยเหลือโดยการฉีด ยาขยายหลอดลมเพื่อให้หายใจได้) แต่การแพ้แบบนี้พบได้น้อยมาก


เฟนาซีติน ประสิทธิภาพในการลดไข้แก้ปวดของยานี้ไม่ได้ดีไปกว่าแอสไพรินเลย ซ้ำยังมีพิษที่รุนแรงกว่า (ในปัจจุบันประเทศสหรัฐอเมริกาเตรียมศึกษาเพื่อเลิกใช้ยาตัวนี้แล้ว) ยานี้ถ้าใช้ติดต่อกันนานๆ จะทำอันตรายต่อตับและไต สังเกตอาการได้จากปัสสาวะมีเลือดปนออกมาและขามีการบวมแบบบวมน้ำพิษอีกอย่างหนึ่งคือ มีการทำลายเม็ดเลือดแดง ทำให้ไม่สามารถพาก๊าซอ๊อกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้ถ้าหากอวัยวะสำคัญ เช่นสมองและหัวใจไม่ได้รับอ๊อกซิเจน จะเป็นอันตรายต่อชีวิตได้ จะสังเกตของพิษนี้ได้จากเล็บและเนื้อเยื้ออ่อน เช่น ริมฝีปาก เหงือก จะมีสีม่วงคล้ำ


คาเฟอีน เป็นสารที่พบได้ในกาแฟ ชา ยานี้ไม่ได้มีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการปวดแม้แต่น้อย แต่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาททำให้ร่างกายมีการตื่นตัวตลอดเวลา หลังจากที่ยาหมดฤทธิ์แล้วร่างกายจะต้องการพักผ่อนเพื่อชดเชยการไม่ได้พักผ่อนในระหว่างที่ยาออกฤทธิ์ จุดประสงค์ที่ใส่สารนี้เข้าไปก็เพื่อไปต้านฤทธิ์กดสมองที่เกิดจากยาสองตัวแรก (แอสไพรินและเฟนาซีตินจะมีฤทธิ์กดสมองอย่างอ่อนๆ ) แต่ในยาแก้ปวดเหล่านี้มีการใส่คาเฟอีนมากเกินความต้องการจึงเกิดการกระตุ้นประสาททำให้ไม่ง่วงนอนกระชุ่มกระชวยอยู่เสมอ แต่หลังจากที่ยาหมดฤทธิ์ (ประมาณ 6 ชั่วโมงหลังจากที่กินยา) จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย ง่วงนอน ถ้าเป็นมากๆ แขนขาไม่มีแรง ใจสั่น หงุดหงิด เป็นต้น อาการเหล่านี้เองที่ทำให้ชาวบ้านเชื่อว่า ถ้าไม่กินจะไม่มีแรงทำงาน จึงมีการกินติดต่อกันจนกลายเป็นการเสพติดไป


สรุปแล้ว อันตรายที่เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้ติดต่อกันนานๆ จะมีดังนี้

1.เป็นแผลในกระเพาะอาหาร เนื่องจากพิษของยาแอสไพริน

2. เกิดโรคโลหิตจาง ร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย เล็บและเปลือกตาจะขาวซีดซึ่งมีสาเหตุจากการเสียเลือด และพิษ ของ ยาเฟนาซีตินโดยตรง

3.เป็นโรคตับและไต เนื่องจากพิษของยาเฟนาซีติน

4.เสพติดทางจิตใจ เกิดจากฤทธิ์ของยาคาเฟอีน ประกอบกับสภาวะทางจิตใจ และความเชื่อของชาวบ้านที่มีสาเหตุมาจากการที่ไม่ได้รับการศึกษา

แม้ว่าการใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้ติดต่อกันเป็นเวลานานๆ อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นทันตาเห็นจะค่อยๆ สะสมอาการผิดปกติเป็นเวลานานนับปีๆ จึงจะปรากฏอาการออกมาให้เห็นเด่นชัดกว่าจะถึงเวลานั้นร่างกายก็ถูกทำลาย ไปมากแล้ว อาจจะกลายเป็นโรคอื่นแทรกซ้อนขึ้นมา และถ้าหากมีการเสียชีวิตของยาเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ก็ยากที่ชาวบ้านจะรู้เห็นได้เพราะต้องอาศัยเทคนิคและเครื่องมือในการพิสูจน์


ดังนั้น ประชาชนที่ติดยาแก้ปวดชนิดนี้ต้องตระหนักถึงอันตรายที่จะเกิดกับสุขภาพของตัวเอง การติดยาแก้ปวดจำพวกนี้เป็นความเคยชินที่กินมาเป็นเวลานานไม่ใช่เป็นการเสพติดเหมือนพวก ฝิ่น กัญชา หรือกระท่อม อย่าไปคิดหรือเชื่อว่า การติดยานี้จะเลิกไม่ได้ เพียงแต่มีกำลังใจที่เข้มแข็งและวิธีการแก้ที่ถูกต้องก็จะเลิกยาพวกนี้ไปได้ เราขอเสนอแนวทางที่ท่านสามารถนำไปปฏิบัติได้ ดังนี้

1.ลดสิ่งบั่นทอนสุขภาพและเศรษฐกิจ เช่น เหล้า บุหรี่ กระแช่ กระท่อม การใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น การพนันทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นหวยรัฐบาล หวยใต้ดิน ชนไก่ กัดปลา ไพ่ ไฮโลว์ เพราะสิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวบ่อนทำลายสุขภาพ และทำให้ฐานะที่ยากจนอยู่แล้วย่ำแย่ลงไปอีก แม้ว่าการเลิกในสิ่งดังกล่าวจะไม่ได้ช่วยถึงขนาดไม่ต้องทำงานหนักหรือทำให้ร่ำรวยขึ้นมา แต่ก็จะช่วยให้สุขภาพทรุดโทรมช้าลง มีเวลาพักผ่อนมากขึ้น เงินทองที่หามาได้จะได้นำไปใช้จ่ายในสิ่งที่มีประโยชน์ต่อไป

2.ควรกินยาเมื่อมีอาการปวดจริงๆ และกินให้ถูกวิธี ถ้าไม่ปวดหรือปวดเล็กน้อยพอทนได้ ก็ไม้ต้องกินยานี้ ควรใช้กำลังใจที่เข้มแข็งมาต่อสู้กับความรู้สึกที่อยากจะกินยาม และถ้าสู้ไม่ไหวและอยากจะกินยาจริงๆ ก็ควรกินเป็นยาพวกวิตามินบีรวม ซึ่งราคาถูก ไม่เป็นพิษ และให้ผลทางจิตใจที่อยากจะกินยา (ราคาวิตามินบีรวมขององค์การการเภสัชกรรม 100 เม็ด ประมาณ 8 บาท) ถ้ามีอาการปวดมากจำเป็นต้องกินยาก็ควรกินให้ถูกวิธี คือ ไม่ควรกินขณะท้องว่างต้อกินน้ำตามมากๆ หรือถ้าจะให้ดีแล้วควรกินหลังอาหารทันที ซึ่งจะป้องกันโรคกระเพาะที่เกิดจากยานี้ได้ นอกจากนี้การพักผ่อนที่ถูกวิธีก็บรรเทาอาการปวดได้คือ หลังจากที่ทำงาน ให้นอนราบลงกับพื้นแล้วเอาขาพาดบนลงเก้าอี้ที่พอดีประมาณ 15-30 นาที

3.เปลี่ยนมาใช้ยาตัวอื่นที่ปลอดภัยกว่า
เช่น แอสไพริน หรือพาราเซตาม่อลแทน ในกรณีนี้อาจจะหาซื้อได้ยากกว่าและราคาอาจจะแพงกว่ายาแก้ปวดชนิดซองนอกจากจะซื้อยาขององค์กรเภสัชกรรมได้ โดยแอสไพริน 100 เม็ด ราคาไม่เกิน 5 บาท พา ราเซตาม่อล 100 เม็ดราคาไม่เกิน 20 บาท ถ้าหากเป็นของบริษัทอื่นราคาอาจจะแพงกว่านี้ เวลาซื้อก็พิจารณาต่อรองราคาอย่าให้แพงกว่านี้มากนัก


 

ข้อมูลสื่อ

26-009
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
มิถุนายน 2524
ยาน่าใช้
เภสัชธรรม