• ขนาดตัวอักษร  Normal size text | Increase text size by 10% | Increase text size by 20% | Increase text size by 30%

ชุมเห็ดไทย/ชุมเห็ดเทศ

                                             


ชุมเห็ดไทย 

⇒ ชื่ออื่น
กิเกีย, หน่อปะหน่ำเหน่อ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ชุมเห็ดเขาควาย, ชุมเห็ดนา, ชุมเห็ดเล็ก, (ภาคกลาง); พรมดาน (สุโขทัย) ; ลับมืนน้อย (ภาคเหนือ); หญ้าลึกลืน (ปราจีนบุรี); ก๊วกเม้ง, เอียฮวย, แซ (จีน); Foetid Cassia.

 

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Cassia tora L. วงศ์ Caesalpiniaceae

 

⇒ ลักษณะ
เป็นพืชปีเดียวตาย สูง 0.3-1.2 เมตร ขยี้ดมกลิ่นเหม็นเขียว ลำต้นตั้งแข็งแรงแตกกิ่งก้านสาขามาก มีขนอ่อนนุ่มปกคลุมทั่วทั้งต้น ใบเป็นใบประกอบออกสลับกัน มีใบย่อย 3 คู่ บริเวณก้านใบร่วมระหว่างใบย่อยคู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 มีตุ่มนูนขึ้นมา 1 ตุ่ม ย่อยลักษณะเป็นรูปไข่ ปลายป้าน ยาว 2-3 ซม. กว้าง 1.5-3 ซม. ปลายใบมนกลม ส่วนปลายสุดแหลมสั้น ฐานใบมนเอียงไปข้างหนึ่ง ขอบใบเรียบ ด้านหลังใบแทบไม่มีขน ท้องใบมีขนอ่อนนุ่ม ดอกสีเหลือง มักออกเป็นคู่จากง่ามใบ ก้านดอกร่วมในขณะ ที่ดอกบานเต็มที่ยาว 0.6-1 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลางดอกยาวประมาณ 1.5 ซม. กลีบเลี้ยงมี 5 กลีบ ลักษณะรีผิวนอกมีขนอ่อน นุ่ม กลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลือง ปลายมนยาว 0.8-1.2 ซม. เกสรตัวผู้มี 10 อัน, 3 อัน ที่อยู่ด้านบนจะเสื่อมไป อีก 7 อัน ที่อยู่ รอบๆ จะเจริญเติบโตเต็มที่ รังไข่เป็นเส้นยาวงอโค้งเล็กน้อย มีขนสั้นๆ ปกคลุม ปลายก้านเกสรตัวเมียเป็นตุ่มสั้นๆ ฝักเป็นเส้นยาวโค้งเล็กน้อย แบนทั้ง 2 ด้าน ยาว 15-24 ซม. กว้าง 4-6 มม. ปกคลุมด้วยขนอ่อนนุ่มสั้นๆ มีเมล็ดจำนวนมาก (ประมาณ 20-30 เม็ด) เมล็ดทรงกระบอกแบนเล็กน้อย ปลายตัดทั้ง 2 ด้าน ปลายหนึ่งแหลมยาวกว่าอีกด้านหนึ่งผิวนอกเรียบเป็นมัน สีเขียวออกน้ำตาล กว้าง 2.5-3 มม. ยาว 5-8 มม.ชุมเห็ดไทยมักพบขึ้นเองตามริมทาง ริมคลอง ที่รกร้างทั่วไป

 

⇒ ส่วนที่ใช้
เมล็ด ใบ และทั้งต้น ใช้เป็นยา

เมล็ด เก็บฝักแก่จัดในฤดูร้อน ตัดทั้งต้นหรือตัดเฉพาะผักตากแดดให้แห้ง ฟาดเมล็ดให้หลุดร่วงออก ร่อนเอาสิ่งเจือปนและเปลือกทิ้ง นำเมล็ดไปตากแห้งอีกครั้งก่อนนำไปใช้ให้คั่วจนเริ่มพองตัวและมีกลิ่นหอม เมล็ดมีรสขมเล็กน้อย ลื่นเป็นเมือกเมล็ดที่ดีควรเป็นเมล็ดอวบแน่น สีเหลืองออกน้ำตาล

ใบหรือทั้งต้น ใช้สด หรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

 

⇒ สรรพคุณ
เมล็ดคั่ว รสขม ชุ่ม เย็น ทำให้ตาสว่าง ขับอุจจาระและปัสสาวะ แก้ตาแดง ตาฝ้ามัว ตาฟาง ความดันโลหิตสูง ตับอักเสบ ท้องผูกเป็นประจำและเป็นยาบำรุงกำลัง

ใบหรือทั้งต้น รสขม ชุ่ม ใช้เป็นยาระบาย ยาถ่าย แก้ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด และทำให้ตาสว่าง

 

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
เมล็ดแห้ง 5-10 กรัม ต้มน้ำกิน ชงน้ำร้อนกินหรือบดเป็นผงกิน ใช้ภายนอกบดเป็นผงทา

ใบหรือทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม ต้มน้ำกิน ใช้ภายนอกตำพอก

 

⇒ ข้อห้ามใช้
1. คนที่ธาตุอ่อน ท้องเสียง่าย หรือขณะท้องเสียห้ามกิน
2. คนที่ไตไม่ปกติ หรือเป็นโรคเกี่ยวกับไตห้ามกิน

 

⇒ ตำหรับยา
1.ตาฝ้ามัว (ที่ไม่ได้เกิดจากโรคติดเชื้ออื่นใด) ใช้เมล็ด 2 ถ้วยชา บดเป็นผงกินกับข้าวต้มเป็นประจำ ห้ามกินร่วมกับปลา ต้นหอม เนื้อหมู ซิงไฉ่ (Rorippa Montana (Wall.) Small.)

2.ตาฟาง ใช้เมล็ดแห้ง 60 กรัม กับเมล็ดโคเชีย (Kochia scoparia (L.) Schrad.) แห้ง 30 กรัมบดเป็นผงกินหลังอาหารครั้งละ 3 กรัม

3.ใช้ทำให้ตาสว่าง ใช้เมล็ดแห้ง 1 ถ้วยชา มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) แห้ง 1 ถ้วยชา เหล้าอย่างดี 1 ถ้วยชา ต้มจนเหล้าแห้ง นำมาบดเป็นผง กินกับน้ำอุ่นครั้งละ 6 กรัม วันละ 4 ครั้ง หลังอาหารและก่อนนอน

4.แก้เยื่อตาอักเสบอย่างเฉียบพลัน ใช้เมล็ดแห้งและเก๊กฮวยอย่างละ 10 กรัม มั่งเก๊กจี้ (Vitex rotundifolia L.) และบักชัก (Equisetum hiemale L.) อย่างละ 6 กรัม ต้มน้ำกิน

5.ลดความดันเลือด ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม คั่วให้หอม ชงกินแทนน้ำชา

6.แก้เด็กเป็นตานขโมย ใช้เมล็ดแห้ง 10 กรัม ตับไก่ 1 คู่ บดผสมเหล้าขาวเล็กน้อย ปั้นเป็นก้อนนึ่งให้สุกกิน

7.แก้กลาก ใช้เมล็ดจำนวนพอสมควรบดเป็นผง ผสมจุยงิ่งฮุ่ง (Mercrous chloride, HgCI) จำนวนเล็กน้อยบดผสมให้เข้ากันดี ใช้สำลีหรือผ้าเช็ดถูกลากให้สะอาดแล้วโรยยาปิดไว้

8.แก้ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัด ใช้ใบหรือทั้งต้น แห้ง 15-30 กรัม (สดเพิ่ม 1 เท่าตัว) ผสมชะเอมต้มน้ำกิน

 

ตำรับยาสัตว์
1. สัตว์เลี้ยงท้องผูก ใช้เมล็ดแห้ง 180 กรัมบดเป็นผงผสมน้ำ สัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด สัตว์เล็กให้กินลดลงไปตามส่วน

2.สัตว์เลี้ยงเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง ใช้เมล็ดแห้งร่วมกับดอกเบญจมาศสวน (Chrysanthemum indicum L.) แห้งอย่างละ 90 กรัม สัตว์ใหญ่ให้กินครั้งเดียวหมด

 

⇔ รายงานทางคลินิกของจีน
ใช้ลดความดันเลือดและระดับคลอเรสเตอรอลในเลือด จากคนไข้ 100 คนก่อนการรักษามีระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 482-210 มก.% (เฉลี่ย 246.91 มก.%)หลังการรักษาระดับ sterol ในซีรั่มอยู่ระหว่าง 110-208 มก.% ( โดยเฉลี่ยระดับ sterol ลดลง 87.9 มก.%) คนไข้ส่วนใหญ่หลังจากใช้ยานี้แล้ว 2 อาทิตย์ จำนวน 85 % ของคนไข้มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติ และหลังจากใช้ยานี้ต่อไปอีก 2 อาทิตย์จำนวนคนไข้ที่มีความดันเลือดลดลงเป็นปกติเพิ่มขึ้น รวมทั้งหมดเป็น 96 % ของจำนวนคนไข้ หากใช้ยานี้เป็นประจำ สามารถลดความดันเลือดของคนไข้ลงสู่ระดับปกติได้ผลถึง 98% ของจำนวนคนไข้ จากการติดตามผลของคนไข้ที่ใช้ยานี้เป็นประจำ 5 ราย แต่มีเหตุต้องหยุดยา ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีค่อยๆ เพิ่มขึ้น เมื่อให้กินยานี้ต่อไป ระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีจะลดลง แสดงว่ายานี้สามารถลดระดับ sterol ในซีรั่มของถุงน้ำดีเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ถ้าจะให้สรุปผลของยานี้ให้แน่นอน ควรรักษาติดต่อไปนานกว่านี้ และคนไข้ควรมีจำนวนมากกว่านี้ด้วย อาการข้างเคียงที่ปรากฏคือ จำนวน 85 % ของคนไข้ หลังจากการกินยานี้แล้ว มีอาการวิงเวียน ปวดหัว และอ่อนเพลีย จำนวน 9 % ของคนไข้มีอาการท้องอืดแน่น ท้องเสีย และใจคอไม่สบาย แต่เมื่อใช้ต่อไปอาการต่างๆก็จะหายไปเอง

 

⇔ ตำรับยาและวิธีใช้
1.ยาต้ม ใช้เมล็ดแห้ง 30 กรัม ต้มน้ำแบ่งกินเป็น 2 ครั้งต่อวัน

2.ยาน้ำเชื่อม ใช้เมล็ดแห้งบดเป็นผงหนัก 45 กรัม ผสมน้ำเชื่อมให้ได้ปริมาณครบ 100 มล.กินครั้งละ 20 มล.วันละ 3 ครั้ง

3. ยาเม็ด แต่ละเม็ดมีเมล็ดแห้งบดเป็นผงหนัก 2 กรัม กินครั้งละ 5 เม็ด วันละ 3 ครั้ง

ยาทั้ง 3 รูปแบบนี้ ให้การรักษาไม่แตกต่างกันมากนัก ปริมาณของเมล็ดที่ใช้ต่างหาก ที่มีผลต่อการรักษามาก ถ้าใช้เมล็ดปริมาณน้อยเช่น กินยาต้มที่ใช้เมล็ดแห้งวันละ 15 กรัมทุกวันจะไม่มีผลในการรักษา

 

⇔ผลทางเภสัชวิทยา
1.ฤทธิ์ลดความดันเลือด เมล็ดสกัดด้วยน้ำหรือแอลกอฮอล์ สารที่สกัดด้วยแอลกอฮอล์ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดสุนัข แมว และกระต่ายที่ทำให้สลบสารสกัดด้วยน้ำ มีฤทธิ์ลดความดันเลือดกระต่ายทดลองที่ทำให้สลบไม่เด่นชัดนัก ถ้าใช้ทิงเจอร์จากเมล็ดนี้ 5 มล.จะเห็นผลเด่นชัด และออกฤทธิ์ได้นานกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้สารสกัดด้วยแอลกกอฮอล์ 5 มล.ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ความดันเลือดจะลดลงเร็วกว่า แต่มีฤทธิ์สั้น ในเวลาไม่นานนักความดันเลือดก็จะกลับคืนสู่ระดับเดิม นอกจากนี้ยังทำให้หลอดเลือดของสัตว์ทดลองหดตัวและกดหัวใจคางคกที่แยกออกจากตัว ถ้าใช้เมล็ดจำนวนน้อย( 2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก.)ต้มน้ำให้กินทุกวัน จะไม่มีผลลดความดันเลือด

2. ฤทธิ์ฆ่าเชื้อ สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อพวก Staphylococcus ,Bacillus, Diphteria,
Escherichia coli, เชื้อทัยฟอยด์และพาราทัยฟอยด์

สารสกัดด้วยแอลกอฮอล์จากทั้งต้น มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อไวรัส Ranikhet disease virus และ Vaccinia virus ในเมล็ดมีกรดครัยโซเฟนิค ( chrysophanic acid 9 inthrone) มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อราที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังโดยทดลองกับเชื้อรา Trichophyton rubrum,T.mentagrophytes, Microsporum canis, M.gypsum, Geotrichum candidum.

 

⇔หมายเหตุ
ใบ ใช้แก้ไขมาลาเรีย เป็นยาระบาย ขับน้ำเหลืองเสีย และขับพยาธิ ใช้ในเด็กที่มีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ เด็กเป็นไข้ในระยะที่ฟันเริ่มขึ้นโรคผิวหนังเน่าเปื่อยเรื้อรัง ยาต้มจากใบขนาด 60 กรัมใช้เป็นยาระบาย ใบสดใช้พอกเพื่อเร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น พอกโรคแก้เก๊าท์ (Gout) ปวดสะโพก ปวดขา ปวดข้อ แก้โรคกลาก หิด ผื่นคันต่างๆ นอกจากนี้ใบเคี่ยวน้ำมันละหุ่ง ทาแก้แผลเรื้อรัง

ราก ตำให้ละเอียดผสมน้ำปูนใส พอกแก้กลาก

เมล็ด เป็นยาบำรุงธาตุ ใช้ภายนอกแก้โรคผิวหนัง เช่น กลากและผื่นคัน ใช้เมล็ดตำร่วมกับนมเปรี้ยว ส่วนที่แข็งตัวให้ละเอียด พอกบริเวณที่เป็น เมล็ดคั่วให้เกรียมมีกลิ่นหอม บดเป็นผง ชงน้ำร้อนกินแทนน้ำชา ทำให้นอนหลับสบาย และยังช่วยขับปัสสาวะอีกด้วย
ทั้งต้น ผสมปรุงเป็นยาแก้ไข้ ขับพยาธิไส้เดือนเป็นยาระบายและแก้ไอ

 

 

                                 

 

ชุมเห็ดเทศ 

⇒ ชื่ออื่น
ขี้คาก, ลับมืนหลวง, หมากกะลิงเทศ (ภาคเหนือ); ชุมเห็ดใหญ่ (ภาคกลาง); ตะสีพอ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน); ตุ๊ยเฮียะเต่า,ฮุยจิวบักทง (จีน); Ringworn Bush, Candelabra Bush, Seven Golden Candle-stick.

 

⇒ ชื่อวิทยาศาสตร์
Cassia alata L. วงศ์ Caesalpiniaceae

 

⇒ ลักษณะ
เป็นพุ่มไม้ขนาดกลาง สูง 1.5-3 เมตร ลำต้นแข็งมีเนื้อไม้ ใบเป็นใบประกอบยาว 30-60 ซม. มีใบย่อย 5-12 คู่ ใบย่อย ลักษณะรูปไข่ปลายมน ยาว 5-15 ซม. กว้าง 5-7 ซม. ฐานใบมนไม่เท่ากันทั้ง 2 ข้าง ก้านใบย่อยสั้นมาก ดอกออก เป็นช่อจากปลายกิ่ง ยาว 15-30 ซม. ดอกย่อยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 4 ซม. ก้านดอกย่อยสั้นมาก ใบประดับเป็นแผ่นบางๆ กลีบเลี้ยงสีเขียวปลายแหลมมี 5 กลีบ กลีบดอกสีเหลืองปลายมนมี 5 กลีบ ลายเส้นที่กลีบดอกเห็นได้ชัด เกสรตัวผู้ยาว ไม่เท่ากัน เกสรตัวเมียมี 1 อัน ผลเป็นฝัก ไม่มีขน กว้าง 1.2 ถึง 1.5 ซม. ยาว 10-20 ซม. มีปีก 4 ปีกตามความยาวของฝัก ฝักแก่สีดำ แตกตามยาวตามแนวปีกอันหนึ่ง ฝักหนึ่งมีเมล็ด 50-60 เม็ด เมล็ดแบนรูปสามเหลี่ยม ผิวนอกขรุขระสีดำ ชุมเห็ดเทศชอบขึ้นเองตามที่ชุ่มชื้น ที่รกร้าง นอกจากนั้น พบปลูกเอาไว้ทำยาโดยปลูกเป็นรั้ว ดอกออกเป็นช่อใหญ่สีเหลืองสดเป็นแนวสวยงาม

 

⇒ ส่วนที่ใช้
ใบ ดอก เปลือก และเนื้อไม้ใช้เป็นยา ใช้สดหรือตากแห้งเก็บไว้ใช้

 

⇒ สรรพคุณ
ใบ รสฉุน สุขุม ใช้ภายนอกฆ่าพยาธิ แก้กลาก ผิวหนังอักเสบเป็นผื่นคัน เส้นประสาทอักเสบ เป็นเริมหรือผื่นคันหรือน้ำเหลือง แผลบวม ฝีมีหนอง ต้มน้ำกินเป็นยาระบาย อมบ้วนปาก แก้กระเพาะอาหารอักเสบ

ดอก ใช้เป็นยาระบาย

เปลือกและเนื้อไม้ ใช้ขับน้ำเหลืองเสีย

 

⇒ วิธีและปริมาณที่ใช้
ใบสด
ใช้ภายนอก คั้นเอาน้ำทา ตำพอกหรือต้มเอาน้ำชะล้าง

ดอกสด 1 ช่อ ต้มน้ำกิน

 

ข้อห้ามใช้
สตรีมีครรภ์ห้ามกิน

 

⇒ ตำรับยา
1.แก้กลาก โรคผิวหนัง แมลงสัตย์กัดต่อย ใช้ใบตำพอก หรือคั้นเอาน้ำผสมปูนใสทา หรือผสมวาสลีน ทำเป็นยาขี้ผึ้งทา หรือใช้ใบผสมน้ำปูนใสหรือเกลือหรือน้ำมันตำพอก

2.เร่งให้หัวฝีออกเร็วขึ้น ใช้ใบตำพอก

 

⇒ ผลทางเภสัชวิทยา
1.สารสกัดจากใบ มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเนื้องอก (Sarcome) ในหนูเล็กโดยฉีดเข้าที่ขาจะมีอาการระคายเคืองบริเวณที่ฉีด

2.ใบและฝักมี anthraquinone glycosides ทำให้ถ่ายและมีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค

 

⇒ หมายเหตุ
ใบ ใช้เป็นยาบำรุง ยาถ่าย ยาระบาย ขับเสมหะ และขับพยาธิ ยาต้มจากใบ จิบกินวันละหลายๆ ครั้งแก้หลอดลมอักเสบ หืด และเป็นยาอมบ้วนปาก

ยาต้มหรือยาชงจากใบ ใช้เป็นยาถ่าย ยาต้มเข้มข้นใช้ช่วยเร่งคลอด หรือทำให้แท้ง ใช้ภายนอกชะล้างผิวหนังอักเสบเป็น ผื่นคัน

น้ำคั้นจากใบ ผสมน้ำปูนใสใช้ขับพยาธิ เด็กชาวแอฟริกาผิวหนังเป็นแผลใช้ใบตำผสมน้ำอาบและบางครั้งใช้อาบเด็กแรก เกิด นอกจากนี้ชาวแอฟริกาปลูกต้นนี้รอบๆ บ้านเพื่อใช้ไล่มด

เมล็ด ใช้เป็นยาขับพยาธิ

เนื้อไม้และเปลือก ใช้เป็นยาขับน้ำเหลืองเสีย

ทั้งต้น (ต้นอ่อน) ต้มกินเป็นยาขับพยาธิไส้เดือน หรือใช้น้ำคั้นจากทั้งต้นผสมกรดมะนาว(citric acid) กินขับพยาธิไส้เดือน ในศรีลังกาและอินเดีย ใช้เป็นยาแก้งูกัด และเบื่อปลา

ต้น ราก และใบ ต้มน้ำกินแทนน้ำชา แก้ท้องผูกและขับปัสสาวะ

 

 

ข้อมูลสื่อ

26-011
นิตยสารหมอชาวบ้าน 26
กรกฎาคม 2524
ภก.ชัยโย ชัยชาญทิพยุทธ